อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม ปี 2566

POST ON 16 ตุลาคม 2023

อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม ปี 2566

สาระสำคัญโดยสังเขป

  • อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเวียดนามในฐานะที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
  • จากการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์เวียดนาม ปี 2566 อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะมีมูลค่า 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้า
  • ประเทศเวียดนามจะมีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซียในปี 2568 ตามการคาดการณ์ของ Google, Temasek และ Bain & Company (2023)
  • ผู้บริโภคชาวเวียดนามนิยมซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ เช่น Shopee, Tiktok Shop และ Lazada จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของธุรกิจต่าง ๆ และเป็นช่องทางที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวเวียดนามได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่งของเวียดนามที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากการส่งเสริมด้านนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล กอปรกับความพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และการที่ผู้บริโภคเปิดรับการทำธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์เวียดนาม ปี 2565 มูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเท่ากับ 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด โดยมีชาวเวียดนามซื้อสินค้าออนไลน์กว่า 60 ล้านคน แต่ละคนมีมูลค่าซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 288 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และในปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามจะมีมูลค่า 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้า มีมูลค่าซื้อขายต่อคน 300 – 320 ดอลลาร์สหรัฐ และมีผู้เข้าร่วมซื้อสินค้าออนไลน์อาจจะมากถึง 62 ล้านคนตามตารางที่ 1 และรูปที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงการประมาณการมูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์เวียดนาม (2566)

รูปที่ 1 แสดงมูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเวียดนามระหว่างปี 2561 ถึง 2566

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์เวียดนาม (2566)

          จากรายงาน E-Conomy SEA 2022 ของ Google, Temasek และ Bain & Company (2023) อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2565 – 2568 สูงถึงร้อยละ 37% ต่อปี ซึ่งจะทำให้มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศไทย และแม้ว่าหลังจากปี 2568 อัตราการเติบโตอาจจะไม่เร็วเท่าช่วงก่อนหน้า แต่ประเทศเวียดนามมีโอกาสอย่างสูงที่จะขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นรองเพียงแค่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามดัชนีการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายจังหวัด/นครประจำปี 2565 (VECOM, 2566) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมพาณิชอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศเวียดนาม (Vietnam E-commerce Association: VECOM) จากการคำนวณด้วยดัชนีชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ, ด้านการทำธุรกรรมระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค (Business to Consumer: B2C) และด้านการทำธุรกรรมระหว่างธุรกิจและธุรกิจ (Business to Business: B2B) จะพบว่าแต่ละจังหวัด/นครมีระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่แตกต่างเป็นอย่างมาก ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 แสดงค่าดัชนีการพัฒนาด้านพาณิชอิเล็กทรอนิกส์รายจังหวัด/นคร ปี 2565 (15 อันดับแรก)

ที่มา: VECOM (2566)

          จากรายงานข้างต้นโดย VECOM (2566) แสดงให้เห็นว่านครโฮจิมินห์ได้รับประเมินค่าดัชนีชี้วัดสูงที่สุด (89.2 คะแนน) รองลงมา ได้แก่ กรุงฮานอย (85.7 คะแนน) และนครดานัง (39.5 คะแนน) อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยดัชนีชี้วัดการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายจังหวัด/นครเท่ากับ 19.24 คะแนนเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างผู้นำสองอันดับแรกและจังหวัด/นครอื่น ๆ โดยระดับการพัฒนาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยทั่วไป จังหวัด/นครที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมระดับสูงจะมีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาด้านการพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ และบริการอื่น ๆ ในระดับสูงตามไปด้วย

นโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเวียดนาม

          การพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับการสนับสนุนอย่างมาจากรัฐบาลเวียดนาม เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของนโนบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลระดับชาติ (National Digital Transformation) โดยมีการประกาศคำสั่ง 645/QD-TTg ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อนุมัติแผนการพัฒนาการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับชาติระหว่างปี 2564 – 2068 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจและชุมชนอย่างกว้างขวาง มุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศเวียดนามจะส่งเสริมให้ประชาชนและธุรกิจเข้าร่วมอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ชำระและรับเงินค่าสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และส่งเสริมการธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลจะพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษามีหลักสูตรอบรมด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวาง

          รัฐบาลเวียดนามยังเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าปลีกโดยรวมของประเทศเวียดนามระหว่างปี 2564 ถึง 2573 จาก Decision 1163/QD-TTg ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยตั้งเป้าหมายผ่านหรือปรับปรุงร่างกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ และสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสะดวกแก่ธุรกิจและผู้บริโภค ทั้งนี้อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10.5 – 11 ของรายได้จากการค้าปลีกสินค้าและบริการ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 – 21 ต่อปี ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างน้อยร้อยละ 40 – 45 เข้าร่วมจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อยร้อยละ 55 ของประชากรทั้งหมด โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568

          ในช่วงปี 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 รัฐบาลเวียดนามยังมีการแก้ไขกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว และผ่านร่างกฎหมายและข้อกำหนดใหม่ที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยตรง ดังนี้

  • แก้ไขปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 โดยเพิ่มเติมประเภทและความรับผิดชอบขององค์กร ผู้ประกอบธุรกิจ ต่อผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
  • แก้ไขปรับปรุงกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 โดยมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเภท เงื่อนไขการทำธุรกิจ ความรับผิดชอบของบริการรับรองความน่าเชื่อถืออิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มเติมข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
  • ผ่านร่างกฤษฎีกาที่ 91/2022/ND-CP วันที่ 30 ตุลาคม 2565 โดยรัฐบาลเวียดนาม เพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารภาษีของกฤษฎีกาที่ 126/2020/ND-CP โดยเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของแพลตฟอร์มธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการให้ข้อมูลหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษี
  • ผ่านร่างกฤษฎีกาที่ 13/2023/ND-CP วันที่ 17 เมษายน 2566 โดยรัฐบาลเวียดนาม เกี่ยวกับ กำหนดหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อการคุ้มครองข้อมูลของส่วนบุคคล
  • ผ่านร่างคำสั่งหมายเลข 18/CT-TTg วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 โดยนายกรัฐมนตรีของประเทศเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลเพื่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี และคุ้มครองความมั่นคงด้านการเงิน

พฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามในด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          จากการสำรวจของ Data Reportal (2566) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2566 ประเทศเวียดนามมีผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์กว่าร้อยละ 79 และร้อยละ 71 ของประชากรทั้งหมด (97 ล้านคน) ทั้งนี้ประชากรในวัยทำงานที่มีอายุ 16 ถึง 64 ปี มีอัตราการใช้โทรศัพท์อัจฉริยะสูงถึงร้อยละ 98.1 หรือเกือบทั้งหมดของประชากรในช่วงวัยดังกล่าว จากการสำรวจพบว่าชาวเวียดนามใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 23 นาที และใช้สื่อสังคมออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ วันละ 2 ชั่วโมง 32 นาที ทั้งนี้ผู้ใช้งานชาวเวียดนามใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน (ร้อยละ 54.7), อ่านข่าว (ร้อยละ 49.2),  ติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยม (ร้อยละ 34.7), ค้นหาและซื้อสินค้า (ร้อยละ 32.9) และดูไลฟ์สตรีม (ร้อยละ 32.9) และสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Facebook (ร้อยละ 91.6), Zalo (ร้อยละ 90.1), Tiktok (ร้อยละ 77.5), Facebook Messenger (ร้อยละ 77), และ Instagram (ร้อยละ 55.4) ทั้งนี้ Zalo เป็นแอพพลิเคชั่นแชตที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีของประเทศเวียดนาม ซึ่งได้รับความนิยมมากทั้งในด้านการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงใช้เพื่อการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่โฆษณาสินค้า  แนะนำสินค้า ดูแลลูกค้าก่อนและหลังการขาย จนถึงการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ

          จากรายงานสำรวจผู้บริโภคชาวเวียดนามเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์เวียดนาม (2566) ยังพบกว่าชาวเวียดนามร้อยละ 78 เคยซื้อสินค้าออนไลน์ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคมักทำเมื่อมีการซื้อสินค้าออนไลน์ ได้แก่ การเปรียบเทียบราคาระหว่างร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ (ร้อยละ 83), มองว่าการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อความบันเทิงผ่านการ Livestream หรือเข้าร่วมกิจกรรม/เล่นเกม (ร้อยละ 77), ซื้อสินค้าออนไลน์เมื่อมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่น่าสนใจ (ร้อยละ 76) และให้ความสำคัญกับสินค้าได้รับการแนะนำจากผู้มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ (KOLs) (ร้อยละ 70)

          ในด้านการค้นหาข้อมูล ผู้บริโภคชาวเวียดนามศึกษาข้อมูลสินค้าและบริการผ่านความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตจากทั้งสื่อสังคมออนไลน์และบนแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ (ร้อยละ 67), ข้อมูลจากโฆษณาออนไลน์ (ร้อยละ 65) และการแนะนำของเพื่อนหรือคนรู้จัก (ร้อยละ 62) ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ซื้อเป็นประจำ 5 กลุ่มแรก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องสำอางค์, เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, หนังสือ เครื่องเขียน และของขวัญ, และภาพยนตร์ ทั้งนี้นอกจากแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์แล้ว สื่อสังคมออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นอื่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ก็ถือเป็นช่องทางยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคชาวเวียดนามเพื่อซื้อสินค้าและบริการอีกด้วย

          ในด้านการชำระเงินค่าสินค้า แม้ว่าการชำระเงินสดเมื่อรับสินค้า (COD) จะยังเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมสูงสุด (ร้อยละ 70) ในปี 2565 แต่ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเนื่อง สวนทางกับวิธีการชำระเงินอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ได้แก่ การโอนเงินสดผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคาร (ร้อยละ 67), กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 35), การใช้บัตร ATM (ร้อยละ 26) และการใช้บัตรเครดิต/เดบิต (ร้อยละ 19)

          เมื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคชาวเวียดนาม พบว่าโปรโมชั่นลดราคาหลากหลาย มีผลมากที่สุด (ร้อยละ 69) รองลงมา คือ ราคาถูกกว่าการซื้อจากร้านค้าออนไลน์ (ร้อยละ 67), ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ (ร้อยละ 62) และได้รับสินค้ารวดเร็วหรือตามช่วงเวลาที่สะดวกของผู้บริโภค (ร้อยละ 60) อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญต่อการซื้อสินค้าออนไลน์ คือ การได้สินค้าที่มีคุณภาพสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา, ร้านค้าออนไลน์ขาดความน่าเชื่อถือ, ราคาสูงกว่าร้านค้าหรือไม่ชัดเจน, ข้อมูลส่วนบุคคลถูกเปิดเผย, ค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าสูง และซื้อจากร้านค้าสะดวกกว่า

          สำหรับการซื้อสินค้าที่ผู้ขายเป็นชาวต่างชาตินั้น ผู้บริโภคชาวเวียดนามร้อยละ 43 ตอบว่ามีการซื้อสินค้าจากผู้ขาวชาวต่างชาติบนแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่เปิดให้บริการในเวียดนาม ผู้บริโภคร้อยละ 59 ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ต่างชาติโดยตรง หรือซื้อจากพ่อค้า/แม่ค้าคนกลางบนสื่อสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 50) โดยเหตุผลหลัก ได้แก่ ราคาถูกกว่า คุณภาพดีกว่า และเป็นสินค้าที่มีขายจากผู้ขายต่างชาติเท่านั้น เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ขายที่เป็นร้านค้าต่างชาติก็มีโอกาสอย่างมากในการทำธุรกิจขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคชาวเวียดนาม

กิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของภาคธุรกิจในประเทศเวียดนาม

          จากการสำรวจธุรกิจกว่า 6,800 รายของสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศเวียดนาม ปี 2565 เกี่ยวกับการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน พบว่าธุรกิจเวียดนามร้อยละ 100 นิยมใช้แอพพลิเคชั่นแชต เช่น Zalo, Viber, Facebook Messenger, Skype เพื่อติดต่อสื่อสารในองค์กร โดยกว่าร้อยละ 60 ของธุรกิจให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในดำเนินธุรกิจ (VECOM, 2566)

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีกระทบโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจทำให้ธุรกิจเวียดนามให้ความสำคัญและพัฒนาช่องทางการดำเนินธุรกิจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเพิ่มจากร้อยละ 39 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 65 ในปี 2565 และช่องทางการค้าขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ (Marketplace platforms) โดยเพิ่มจากร้อยละ 17 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2565 (VECOM, 2566)

          ด้านการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค ผลสำรวจสรุปว่าธุรกิจเวียดนามให้ความสำคัญกับการมีเว็บไซต์ โดยกว่าร้อยละ 44 ของธุรกิจมีการพัฒนาเว็บไซต์องค์กร ซึ่งเว็บไซต์ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับเครื่องมือหรือแอพพลิเคชั่นแชตที่ช่วยให้ธุรกิจติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง แม้ว่าปฏิสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะมีพนักงานทำหน้าที่ประจำในการตอบคำถามและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า แต่ธุรกิจก็เริ่มมีการใช้ Chatbot เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ธุรกิจยังมีความเห็นว่าการมีเว็บไซต์ช่วยให้ส่งเสริมความน่าเชื่อถือ และช่วยยกระดับตราสินค้า หรือช่วยทำให้องค์กรให้เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์มากขึ้น (ร้อยละ 84), ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์และแนะนำสินค้า (ร้อยละ 79), ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (ร้อยละ 62) และยังเป็นช่องทางขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้า (ร้อยละ 51)

          ส่วนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ธุรกิจเวียดนามนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Zalo, Tiktok เป็นช่องทางหลัก (ร้อยละ 59) รองลงมาคือ โปรแกรมค้นหา (Search engine) เช่น Google, Bing และ Yahoo (ร้อยละ 34), อีเมล์ (ร้อยละ 19), และโฆษณาผ่านข่าวออนไลน์ (ร้อยละ 19)

แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ยอดนิยมในประเทศเวียดนาม

          จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์เวียดนาม (2566) พบว่าปี 2565 ประเทศเวียดนามมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จดทะเบียนแล้ว 45,296 เว็บไซต์ แต่ธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ยังคงผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งจากรายงานของ Metric (2566) จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า 5 แพลตฟอร์มหลักมีรายได้รวม 92,745 พันล้านด่ง (3,815 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 46 โดยมีร้านค้า 394,425 ร้านและมีสินค้าทั้งหมด 907 ล้านรายการ

           Shopee เป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของประเทศเวียดนามที่ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งของตลาดไว้ได้ และยังมีรายได้สูงกว่าแพลตฟอร์มรายอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ในปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนทางการตลาด โดย Tiktok Shop เป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงมาก และได้กลายเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 2 แซงหน้า Lazada ตามความนิยมของสื่อสังคมออนไลน์ Tiktok

ตารางที่ 2 แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของประเทศเวียดนาม

ที่มา: Metric (2566)

          จากรายงานของ Metric (2566) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จากร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มขายของออนไลน์จากกรุงฮานอยทำรายได้สูงสุดที่ 1,110.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 45 ของรายได้บนแพลตฟอร์มทั้งหมด) รองลงมา คือ ร้านค้าออนไลน์ที่ตั้งอยู่ที่นครโฮจิมินห์ซึ่งทำรายได้ 835.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 34) และอันดับ 3 ได้แก่ ร้านค้าต่างชาติ 168.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 7)

รูปที่ 3 แสดง 10 จังหวัด/นครที่มีรายได้สูงสุดบนแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ (ไตรมาส 2 ปี 2566)

ที่มา: Metric (2566)

          นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่สามารถทำรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าเสริมความงาม แฟชั่นสตรี บ้านและวิถีชีวิต เครื่องใช้ไฟฟ้า และแม่และเด็ก ซึ่ง Tiktop Shop มาแรงที่สุดในกลุ่มสินค้าเสริมความงามและแฟชั่นสตรี โดยมีรายได้สูงกว่า Lazada อย่างเห็นได้ชัดแม้จะเพิ่งเข้าสู่การแข่งขันได้ไม่นาน

          สินค้าเกษตรเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามอย่างมากมาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือและกระจายรายได้แก่เกษตรกร โดยภาครัฐได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์และสินค้าจากโครงการ OCOP (One Commune One Product) เช่น Postmart.vn (ไปรษณีย์เวียดนาม) และ Voso.vn (Viettel Post) เป็นต้น และจากการสำรวจของ VECOM (2565) พบว่า 44 จาก 63 จังหวัด/นครมีการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อแนะนำและเป็นช่องทางให้พ่อค้าคนกลางหรือผู้บริโภคติดต่อกับเกษตรกรโดยตรงอีกด้วย แม้ว่าผู้ขายสินค้าเกษตรมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งและดูแลรักษาสินค้าระหว่างการขนส่ง แต่ก็มีความสนใจจะเข้าร่วมขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในอนาคต

          จากรายงานข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าการพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอย่างจริงจัง เนื่องจากช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าที่นับวันยิ่งทวีความสำคัญจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยภาคธุรกิจของประเทศเวียดนาม และต่างชาติต่างก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวเวียดนามเพื่อแนะนำ เสนอขาย และดำเนินธุรกรรมออนไลน์อื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม กฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตามการผลักดันของรัฐบาลเวียดนาม ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ อยู่เสมอเพื่อการประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง:

กระทรวงพาณิชย์เวียดนาม (2566), Báo cáo mại điện tử Việt Nam 2023

Metric (2566), Báo cáo tổng quan thị trường thương mại điện tử Q2/2023

Google, Temasek, & Bain and Company (2565), E-Conomy SEA 2022

Data Reportal (2566), Digital 2023: Vietnam

VECOM (2566), Báo cáo Chỉ số Thương mại điện tử Việt Nam 2023

VECOM (2565), Báo cáo Chỉ số Thương mại điện tử Việt Nam 2022

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
กันยายน 2566

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

202930

เข้าชมทั้งหมด