ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม

POST ON 30 กันยายน 2020

ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม

ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม

อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามตามนิยามในกฎหมาย (Decree No.52/2013/ND-CP) หมายถึง กิจกรรมที่บางส่วนหรือทั้งหมดของกิจกรรมนั้นที่เกิดขึ้นบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เครือข่ายสื่อสาร หรือเครือข่ายแบบเปิดประเภทอื่น ดังนั้น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงมีความหมายอย่างกว้าง คือ การดำเนินธุรกรรมและบริการต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น การค้าขายสินค้า การศึกษา ให้คำปรึกษา ให้ความบันเทิง ติดต่อสื่อสาร ขนส่ง สั่งอาหาร การเงิน นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตามสัดส่วนของมูลค่าที่มากที่สุดยังคงมาจากการค้าขายสินค้าออนไลน์เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ดังนั้นบทความวิเคราะห์นี้จึงมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ในประเทศเวียดนามเป็นสำคัญ

จากรายงานดิจิตัลของ We Are Social ปี 2563 ของเวียดนามมีประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตเติบโตเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ปัจจุบันมีประชากรกว่า 68.17 ล้านคนใช้อินเตอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด และกว่าร้อยละ 67 ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์  ชาวเวียดนามใช้อินเตอร์เน็ตมากถึงวันละ 6 ชั่วโมง 30 นาที โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ 2 ชั่วโมง 22 นาที ดูวีดีโอ 2 ชั่วโมง 9 นาที นอกนั้นเป็นการฟังเพลงและเล่นเกม ทั้งนี้ประชากรชาวเวียดนามอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานมากถึงร้อยละ 68 ทำให้เปิดรับเทคโนโลยีใหม่อย่างรวด กอปรกับการที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

1. กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

            กฎหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามได้เริ่มมีการบังคับใช้ครั้งแรกในช่วงปี 2556 และถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน โดยช่วงปี 2559 – 2563 นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้มีคำสั่งหมายเลข 1563/QD-TTg เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่

  1. พัฒนาข้อกำหนดกฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กฎหมายบริหารภาษี ปี 2019 (พ.ศ. 2562), ข้อกำหนดเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการต่างชาติ หรือที่มีทุนจากต่างชาติ (Decree No. 09/2018/ND-CP) และข้อกำหนดเกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้านการเงิน (Decree No. 165/2018/ND-CP) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านการชำระเงิน และโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  2. พัฒนาตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  3. สร้างความสามารถในการบริหารจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดทำระบบกลางในการบริหารจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแต่ละจังหวัด/นครจัดทำแผนเฉพาะในการดำเนินนโยบายส่วนท้องถิ่น
  4. สนับสนุนการใช้บริการรัฐผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (E-Government)

ปัจจุบัน รัฐบาลเวียดนามได้มีลงมติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2564 – 2568 (คำสั่งนายกรัฐมนตรีหมายเลข 645/2020/QD-TTg) ซึ่งจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและนโยบายในอนาคตอันใกล้ โดยมุ่งเป้าหมายปี 2568 มีผู้ใช้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยว่าร้อยละ 55 ของประชากรทั้งหมด และมีมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของมูลค่าค้าปลีกและบริการของทั้งประเทศ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 25 ต่อปี โดยรัฐบาลเวียดนามมีแผนยุทธศาสตร์ 5 ประการ ได้แก่

  1. สนับสนุนให้มีการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง
  2. ลดช่องว่างการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างนครใหญ่และจังหวัดต่าง ๆ
  3. พัฒนาตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
  4. ขยายโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเวียดนามทั้งในและต่างประเทศผ่านธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพัฒนาธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ
  5. ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้ามากที่สุด 3 อันดับแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้         

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น

  • Decision No.431/2020/Qd-TTg เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้านำเข้าส่งออก
    • Decree No.45/2020/ND-CP เกี่ยวกับธุรกิจและเงื่อนไขทำธุรกิจขนส่งด้วยรถยนต์ (สำหรับแอปพลิเคชัน เช่น Grab, Be, Gojek โดยเฉพาะ)
    • Decree No.165/2018/ND-CP ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในกิจกรรมด้านการเงิน
    • Decree No.150/2018/ND-CP แก้ไขข้อกำหนดที่เกี่ยวกับเงื่อนไขลงทุนธุรกิจและขั้นตอนการดำเนินงานในอุตสาหกรรมข้อมูลและการสื่อสาร
    • Decree No.80/2016/ND-CP แก้ไข เพิ่มเติมข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด

2. ภาพรวมอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม

จากข้อมูลสถิติของ We Are Social ปี 2563 พบว่าเว็บไซต์ที่ชาวเวียดนามนิยมเข้าชมมากที่สุด แบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ เว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (Google) เว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ (Facebook.com, Youtube.com, Zalo.me) เว็บไซต์ข่าวสาร (Vnexpress.net, Zing.vn, 24h.com.vn, vtv.vn, Dantri.com.vn) และเว็บไซต์แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ (Shopee.vn, Tiki.vn, Lazada.vn) นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2563 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 64

ข้อมูลจาก Statista ปี 2563 คาดการณ์ว่าธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เฉพาะส่วนซื้อขายสินค้าออนไลน์ของเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 6.02 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และมีเดียมากที่สุด รองลงมา คือ สินค้าประเภทแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าตกแต่งบ้าน อาหารและสินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างหรือของเล่น โดยจากการคาดการณ์ปี 2567 มูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะมีมูลค่าประมาณ 8,508 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2562 – 2563 ร้อยละ 36 ส่วนช่วงปี 2564 – 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (4 ปี) ร้อยละ 9

ภาพที่ 1 มูลค่าค้าขายสินค้าออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2562 – 2567

ที่มา: Statista (2563)

โดยมีผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ร้อยละ 45.6 จากประชากรทั้งหมด คิดเป็นรายจ่ายโดยเฉลี่ยต่อปี 132.05 เหรียญสหรัฐฯต่อคน

ภาพที่ 2 อัตราส่วนผู้ใช้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และรายจ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2567

ที่มา: Statista (2563)

จากรายงานการสำรวจของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเมื่อปี 2562 พบว่าชาวเวียดนามซื้อสินค้าออนไลน์จากแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า (Marketplace Website) สื่อสังคมออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นเป็นหลัก ผู้บริโภคยังใช้การชำระเงินเมื่อรับสินค้า (Cash-on-Delivery:COD) เป็นส่วนใหญ่ บางส่วนชำระเงินผ่านธนาคาร บัตรเครดิต และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และจากรายงานของ Iprice ปี 2562 พบว่าระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าของเวียดนามอยู่ที่ 5.6 วัน ถือว่าช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย (3.8 วัน) สิงคโปร์ (3.3 วัน) และไทย (2.5 วัน)

ทั้งนี้ ความสามารถในการบริหารคลังสินค้าและจัดส่งจนถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยังได้ข้อสรุปว่าผู้บริโภคเวียดนามกว่าร้อยละ 60 ไม่ซื้อสินค้าผ่านธุรกิจกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เนื่องจากซื้อที่ร้านค้าโดยตรงสะดวกกว่าเพราะได้สินค้าบริการทันทีและสามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนชำระเงิน ส่วนผู้บริโภคไม่ซื้อของออนไลน์เนื่องจาก ไม่มั่นใจคุณภาพสินค้า ไม่เชื่อถือร้านค้า ไม่เชื่อถือระบบเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ดังนั้นธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ในด้านการซื้อและขายสินค้าจึงเป็นการผ่านแพลตฟอร์ม และร้านค้าของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและมีนโยบายด้านการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชัดเจน  นอกจากนี้ ล่าสุดสภาแห่งชาติเวียดนามได้ผ่านร่างกฎหมายจัดการภาษี (กฎหมายจัดการภาษี เลขที่ 38/2019/QH14) โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีองค์กรหรือบุคคลที่มีการดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และมีรายได้ในเวียดนาม มีหน้าที่ชำระภาษีตามกฎหมาย แม้ว่าจะไม่ได้มีการตั้งสำนักงานในประเทศเวียดนามก็ตาม ทั้งนี้กระทรวงการคลังเวียดนามจะมีคำสั่งกระทรวงฯ ระบุขั้นตอนการจดทะเบียนหมายเลขภาษีและชำระภาษีในลำดับถัดไป 

จากตารางที่ 1 ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในด้านการค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ Shopee, Tiki และ Lazada เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มค้าขายสินค้าออนไลน์ที่มีการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งชาวเวียดนามนิยมซื้อขายสินค้าทั้งผ่านเว็บไซต์และผ่านแอปพลิเคชัน (Application) บนโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันยอดนิยมอื่น ยังคงมุ่งเน้นการขายสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก

ตารางที่ 1 แพลตฟอร์มและร้านค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของเวียดนาม 10 อันดับแรก (ไตรมาส 2 ปี 2563)

ที่ชื่อธุรกิจบริษัท/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทธุรกิจประเภทสินค้าจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละเดือน (ล้านครั้ง)สมาชิกแฟนเพจเฟซบุ๊ค (ล้านคน)
1Shopee.vnSEA Group (สิงคโปร์)แพลตฟอร์มหลากหลาย52.4917.84
2The Gioi Di DongDigiworld Plc.ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท (มีหน้าร้าน)อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์25.103.52
3Tiki.vnVNG JD.com (จีน)แพลตฟอร์มหลากหลาย21.152.93
4Lazada.vnAlibaba Group (จีน)แพลตฟอร์มหลากหลาย18.5229.88
5Dienmayxanh.vnDigiworld Plc.ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท (มีหน้าร้าน)เครื่องใช้ไฟฟ้า15.311.61
6Sendo.vnFPT Plc., SBI Group Kasikorn Bank, Softbank Venture Asia และอื่น ๆแพลตฟอร์มหลากหลาย14.552.90
7FPT ShopFPT Plc.ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท (มีหน้าร้าน)อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์7.752.49
8Dien May Cho LonCao Phong Ltd.ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท (มีหน้าร้าน)เครื่องใช้ไฟฟ้า5.690.64
9CellphoneSMinh Nguyet Commercial and Technical Services Ltd.ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท (มีหน้าร้าน)อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์4.190.64
10Hoang Ha MobileHoang Ha companiesช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท (มีหน้าร้าน)อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์3.800.63

ที่มา: Iprice.vn (2563)

3. โอกาสและอุปสรรคในการลงทุนในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

โอกาสอุปสรรค
1. ประชากรชาวเวียดนามมีประชากรกว่าร้อยละ 60 อยู่ในวัยทำงาน ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น และปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว 2. เทคโนโลยีสื่อสารและอินเตอร์เน็ตของเวียดนามพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประชาชนชาวเวียดนามมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูง ทำให้บริการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3. การเปิดเสรีการค้ากับสหภาพยุโรป (EVFTA), การตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะทำให้อุปสงค์ในด้านการค้าข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น 5. อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันยังมุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคาและความสามารถในการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสการลงทุนบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีในการจัดการคลังสินค้า การกระจายสินค้า การวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค การชำระเงินด้วนระบบออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้บริการต่าง ๆ ที่เป็นนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ในด้านภาษีและเงินทุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามได้อีกด้วย1. โครงสร้างในด้านกฎหมายที่ทับซ้อนกับกฎหมายอื่นและขาดความชัดเจนในการใช้กฎหมาย โดยกฎหมายที่สำคัญที่สุด คือ Decree No. 52/2013/ND-CP ซึ่งมีผลบังคับใช้งานเมื่อปี 2553 ซึ่งบางส่วนอยู่ในสถานะไม่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงทับซ้อนกับกฎหมายอื่น เช่น ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีความทับซ้อนเรื่องใบอนุญาตเมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดของกฎหมายโฆษณา เป็นต้น 2. ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์สูง และใช้เวลานานเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของเวียดนามยังไม่ครอบคลุมตลอดพื้นที่ 3. ขนาดของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการที่ผู้บริโภคไม่ไว้วางใจระบบจัดการข้อมูลส่วนบุคคล คุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงความปลอดภัยในการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 4. ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มใช้ในประเทศเวียดนามแล้ว ยังมีอุปสรรคด้านข้อกำหนดกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 5. ธุรกิจค้าปลีกและบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อื่น มีข้อกำหนดปลีกย่อย รวมถึงใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ทำให้การลงทุนของนักลงทุนจากต่างชาติต้องใช้เวลาและมีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูง

อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ทำให้การทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าบริการ และชำระเงินสะดวกมากขึ้น แม้ว่าจะมีอุปสรรคในด้านกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดส่งสินค้า แต่มีการเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่มีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจบริการจัดการคลังสินค้าเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้บริการ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น

อ้างอิง:

ASL Law Firm (2562), E-Commerce Platform – Road To Success In Vietnam And Cross-Border Trading, retrieved from https://aslgate.com/e-commerce-platform-road-success-vietnam-cross-border-trading/

Statista (2563), Ecommerce Vietnam 2020, retrieved from https://www.statista.com/outlook/243/127/ecommerce/vietnam

Bộ Công Thương (2563), Thương mại điện tử Việt Nam 2020

Parcel Perform & iPrice Group (2562), Consumers are still not happy with their e-commerce delivery experience, a new survey by Parcel Perform and iPrice Group reveals, retrieved from https://iprice.my/trends/insights/consumers-are-still-not-happy-with-their-e-commerce-delivery-experience-a-new-survey-by-parcel-perform-and-iprice-group-reveals/

Vietnam Insider (2563), What e-commerce marketplaces in Vietnam look like in 2020?, retrieved from https://vietnaminsider.vn/what-e-commerce-marketplaces-in-vietnam-look-like-in-2020/

We Are Social (2563), Digital 2020 : Vietnam, retrieved from https://datareportal.com/reports/digital-2020-vietnam

Iprice Vietnam (2563), Bản đồ thương mại điện tử Việt Nam, retrieved from https://iprice.vn/insights/mapofecommerce/

Báo Đấu Thầu (2563), Khai thuế, nộp thuế với thương mại điện tử như thế nào? ,retrieved from https://baodauthau.vn/khai-thue-nop-thue-voi-thuong-mai-dien-tu-nhu-the-nao-post94757.html

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

201671

เข้าชมทั้งหมด