ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

ซาลาย

gia lai

ซาลาย

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดซาลาย เป็นจังหวัดเดียวบนที่ราบสูงตะวันตกที่อยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายย่อยตอนเหนือของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Northern Sub-Corridor) ซึ่งเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านด่านปอยเปต ผ่านจังหวัดเสียมเรียบ เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนานาชาติ Le Thanh เข้าสู่เมืองเปลกู จังหวัดซาลาย (Pleiku City, Gia Lai Province) และสิ้นสุดเส้นทางที่เมืองกวีเญิน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ (Quy Nhon City, Binh Dinh Province)
  • เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ลำดับ 2 ของประเทศเวียดนาม อุตสาหกรรมหลักได้แก่ การแปรรูปไม้ เหมืองทอง เหมืองอัญมณี และเหมืองบอกไซต์
  • สินค้าเกษตรที่ได้รับการคุ้มครองด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดได้แก่ ข้าว Ba Cham Mang Yang และพริกไทย Chu Se
  • ปี 2564 ที่ราบสูง Kon Ha Nung ได้รับการรับรองพื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลกจากยูเนสโก โดยเขตดังกล่าวมีพื้นที่กว้างถึง 413,512 เฮกตาร์

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด

1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง

จังหวัดซาลาย เป็น 1 ใน 5 จังหวัดบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันตกของเวียดนาม โดยอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 540 กิโลเมตร ห่างจากนครดานังประมาณ 330 กิโลเมตร ห่างจากเมืองกวีเญิน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ (Quy Nhon City, Binh Dinh Province) 170 กิโลเมตร และห่างจากเมืองบวนมาถ่วด จังหวัดดั๊กลั๊ก (Buon Ma Thuot City, Dak Lak Province) 160 กิโลเมตร

จังหวัดซาลายมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดจังหวัดกอนตูม (Kon Tum Province) ทิศตะวันออกติดจังหวัดกว๋างหงาย (Quang Ngai Province) บิ่ญดิ่ญ (Binh Dinh Province) และจังหวัดฟู้เอียน (Phu Yen Province)  ด้านทิศใต้ติดจังหวัดดั๊กลั๊ก (Dak Lak Province) และด้านทิศตะวันตกติดกับประเทศกัมพูชาเป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร โดยมีด่านชายแดนนานาชาติที่สำคัญ ได้แก่ ด่านชายแดนนานาชาติเหละทัน (Le Thanh International Border Gate) ซึ่งเชื่อมกับด่านชายแดน Oyadav จังหวัดรัตนคีรีของประเทศกัมพูชา

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดซาลาย

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ภูมิประเทศจังหวัดซาลายมีพื้นที่เป็นที่ราบสูง สูงจากระดับน้ำทะเล 700 – 800 เมตรซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ที่ราบสูง และที่ราบระหว่างหุบเขา โดยที่ราบสูงที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบสูงกอนห่า (Kon Ha Highland) และที่ราบสูงเปลกู (Pleiku Highland) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัด

จังหวัดซาลายมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 23 – 25 องศา ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,750 – 2,500 มิลลิเมตรต่อปี

จังหวัดซาลายมีพื้นที่ทั้งหมด 15,510.8 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 17 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองเปลกู (Pleiku City) เป็นศูนย์กลางราชการส่วนท้องถิ่น และอีก 16 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดซาลายได้รับการจัดอันดับ 26 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดซาลาย มีที่ดินทั้งหมด 1,551,100 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรร้อยละ 36 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 47 และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 5 ที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินภูเขาไฟที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกกาแฟ ชา ทุเรียน โกโก้ ยางพารา และอโวคาโด

ซาลายมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ปี 2564 ที่ราบสูง Kon Ha Nung ได้รับการรับรองพื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลกจากยูเนสโก โดยเขตดังกล่าวมีพื้นที่กว้างถึง 413,512 เฮกตาร์ นอกจากนี้จังหวัดยังมีทรัพยากรน้ำจืดค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยมีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำ Serepok และแม่น้ำ Se San ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เช่น ทอง อัญมณี บอกไซต์ หินปูน หินบะซอลต์ หินแกรนิต เป็นต้น

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์

ปี 2564 จังหวัดซาลายมีประชากรทั้งหมด 1.56 ล้านคน โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.93 ล้านคน จังหวัดซาลายมีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย 2 แห่งและวิทยาลัยอาชีวะอีก 3 แห่ง มีค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (138 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ (Decree No.38/2022/NĐ-CP) จังหวัดซาลายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง โดยประชากรร้อยละ 45 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เหลือเป็นชาวเวียดนาม

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดซาลายมีสนามบินเปลกู (Pleiku Airport: PXU) เป็นสนามบินภายในประเทศ โดยมีเที่ยวตรงจากกรุงฮานอย นครไฮฟอง และนครโฮจิมินห์ ทั้งนี้

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดไม่มีท่าเรือ แต่อยู่ใกล้กับจังหวัดที่มีท่าเรือขนาดใหญ่ถึง 3 จังหวัด คือ จังหวัดคั้นฮว่า จังหวัดบิ่ญดิ่ญ และจังหวัดกว๋างหงาย

ด้านการคมนาคมขนส่งทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดซาลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายย่อยตอนเหนือของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Northern Sub-Corridor) ซึ่งเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดสระแก้ว เข้าสู่จังหวัดปอยเปต จังหวัดเสียมเรียบ เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนานาชาติ Le Thanh เข้าสู่เมืองเปลกู จังหวัดซาลาย (Pleiku City, Gia Lai Province) และสิ้นสุดเส้นทางที่เมืองกวีเญิน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ (Quy Nhon City, Binh Dinh Province) ในพื้นที่จังหวัดมีถนนทางหลวง ได้แก่ QL14C, QL19, QL25 และทางหลวงสายเอเชีย AH17 เชื่อมไปยังจังหวัดอื่นและประเทศเพื่อนบ้าน

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดซาลาย

 

 

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดซาลายมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง และเขตเศรษฐกิจชายแดน 1 แห่ง ได้แก่

  1. นิคมอุตสาหกรรม Tay Pleiku พื้นที่ 200 เฮกตาร์
  2. นิคมอุตสาหกรรม Tra Da พื้นที่ 197.83 เฮกตาร์
  3. เขตเศรษฐกิจชายแดนบริเวณด่านชายแดนนานาชาติ Le Thanh พื้นที่ 155.12 เฮกตาร์ ซึ่งมีพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจ 110 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 88,051 พันล้านด่ง (3.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 9 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 36 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 28 และภาคบริการร้อยละ 33

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.4 จังหวัดมีสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2 รายการ ได้แก่ ข้าว Ba Cham Mang Yang และพริกไทย Chu Se โดยข้าว Ba Cham Mang Yang เป็นข้าวที่ถูกเรียกว่า “ไข่มุกสวรรค์” เนื่องจากทนสภาพอากาศที่ร้อนจัดของที่ราบสูงภาคตะวันตกได้ดี ชาว Bahnar ทำการเพาะปลูกแบบนาขั้นบันไดโดยพึ่งพาน้ำฝนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้จังหวัดยังเพิ่งได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับพริกไทย Chu Se อีกรายการ พริกไทย Chu Se มีผลิตภาพดีที่สุดในเวียดนามและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย

ในปี 2564  จังหวัดซาลายมีพื้นที่เพาะปลูก 557,685 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตจากข้าว 395,077 ตัน ข้าวโพด 186,985 ตัน มันสำปะหลัง 1.64 ล้านตัน อ้อย 2.29 ล้านตัน ผักและถั่วชนิดต่างๆ อีก 526,000 ตัน

จังหวัดซาลายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านการปลูกพืชอุตสาหกรรม โดยมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 222,780 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตกาแฟ 257,480 ตัน พริกไทย 49,470 ตัน ยางพารา 123,750 ตัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 17,105 ตัน มีการปลูกผลไม้อีก 21,375 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่ปลูกกล้วย อโวคาโด ทุเรียน และมะม่วง และนอกจากนี้จังหวัดมีแผนลงทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเป็นแหล่งเพาะปลูกสมุนไพรที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ มะแว้งต้น โสมเวียดนาม เล็บครุฑไซ่ง่อน ขมิ้น ขิง บัลลูนฟลาวเวอร์ โชวู เป็นต้น ปี 2564 มีการเพาะปลูกในพื้นที่ป่าและแปลงเกษตรแล้ว 1,958 เฮกตาร์

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้ ดังนั้นจังหวัดจึงมีการส่งเสริมให้เพาะปลูกสมุนไพรในพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ปัจจุบันมีการปลูกสมุนไพรบนพื้นที่ 1,958 เฮกตาร์ และมีการแปรรูปไม้ 153,000 ลูกบาศก์เมตร

เนื่องจากอยู่บนที่ราบสูง ไม่เหมาะแก่การประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีผลผลิตจากการประมงและเพาะเลี้ยง 7,793 ตัน จังหวัดซาลายมีการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมรวมกันมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากจังหวัดเหงะอาน (Nghe An Province) มีจำนวนทั้งสิ้น 0.43 ล้านตัว นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงกระบือ 14,411 ตัว สุกร 0.4 ล้านตัว และสัตว์ปีก 4 ล้านตัว

ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ แปรรูปกาแฟ แป้งมัน น้ำตาล แปรรูปไม้ และไฟฟ้าพลังงานทดแทน จังหวัดซาลายมีศักยภาพในการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างมาก โดยจากการสำรวจ จังหวัดสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 7,500 MW และพลังงานลมอีก 11,950 MW จากข้อมูลปี 2564 มีนักลงทุนเสนอขออนุมัติลงทุนแล้ว 176 โครงการ กำลังการผลิตรวม 24,300 MW มูลค่าการลงทุนโดยประมาณ 720,000 พันล้านด่ง (30.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดซาลาย 0.33 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 200 พันล้านด่ง (8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)  โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเป็นการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ เที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้แก่ ไร่ชา Bien Ho Che, อ่างเก็บน้ำ Bien Ho, ภูเขาไฟ Chu Dang Ya, น้ำตก Phu Cuong เป็นต้น

2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดซาลายมีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 1,053 และ 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 รวมทั้งหมด 7 โครงการคิดเป็นมูลค่า 21.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัดซาลาย ได้แก่

  • บริษัท CP Vietnam ทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก
  • บริษัท Veyu จำกัด ทำธุรกิจโรงงานผลิตแป้งมันและสินค้าอื่นจากแป้งมัน

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • โครงสร้างพื้นฐาน
  • อุตสาหกรรมการเกษตรเทคโนโลยีขั้นสูง
  • อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
  • อุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุก่อสร้าง
  • อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ

1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดซาลาย: https://gialai.gov.vn/

2. รายชื่อโครงการรอการลงทุน: https://www.gialai.gov.vn/tin-tuc/ve-viec-phe-duyet-danh-muc-du-an-keu-goi-dau-tu-cua-tinh-gia-lai-giai-doan-2021-2025-dot-1.69386.aspx

3. เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนจังหวัดซาลาย: https://tipcgialai.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดซาลาย), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-trung/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดซาลาย (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดซาลาย ประจำปี 2564

สภาประชาชนจังหวัดซาลาย (2565), ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดซาลาย, สืบค้นจาก https://gialai.gov.vn/

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Báo Ảnh Dân tộc và Miền núi (2565), Gia Lai: Khẳng định thương hiệu gạo Ba Chăm của người Bahnar, Retrieved from https://dantocmiennui.vn/gia-lai-khang-dinh-thuong-hieu-gao-ba-cham-cua-nguoi-bahnar/316849.html

Báo Đầu tư (2565), Hơn 720.000 tỷ dự kiến đầu tư vào năng lượng tái tạo tại Gia Lai, Retrieved from https://baodautu.vn/hon-720000-ty-du-kien-dau-tu-vao-nang-luong-tai-tao-tai-gia-lai-d165678.html

Cổng thông tin điện tử Tỉnh Gai Lai (2565), “thủ phủ” năng lượng tái tạo, Retrieved from https://gialai.gov.vn/tin-tuc/thu-phu-nang-luong-tai-tao.72643.aspx

Cổng thông tin điện tử Tỉnh Gai Lai (2565), Gia Lai: ngành chăn nuôi hướng tới an toàn sinh học, Retrieved from https://gialai.gov.vn/tin-tuc/gia-lai-nganh-chan-nuoi-huong-toi-an-toan-sinh-hoc.71997.aspx

Bộ Khoa học và Công nghệ Việt Nam (2565), Bảo hộ chỉ dẫn địa lý “Chư Sê” cho sản phẩm hạt tiêu, Retrieved from https://www.most.gov.vn/vn/tin-tuc/21645/bao-ho-chi-dan-dia-ly-chu-se-cho-san-pham-hat-tieu.aspx

Thông tấn xã Việt Nam (2564), Cao nguyên Kon Hà Nừng – Khu dự trữ sinh quyển quý giá của thế giới, Retrieved from https://baotintuc.vn/xa-hoi/cao-nguyen-kon-ha-nung-khu-du-tru-sinh-quyen-quy-gia-cua-the-gioi-20210916160030177.htm

Báo đầu tư (2565), Gia Lai dự kiến kêu gọi đầu tư hơn 7.272 tỷ đồng phát triển cây dược liệu, Retrieved from https://baodautu.vn/gia-lai-du-kien-keu-goi-dau-tu-hon-7272-ty-dong-phat-trien-cay-duoc-lieu-d169881.html

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

201749

เข้าชมทั้งหมด