ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

บิ่ญถ่วน

binh thuan

บิ่ญถ่วน

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • อุตสาหกรรมหลักของจังหวัด ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร พลังงานสะอาด และ การท่องเที่ยว
  • บิ่ญถ่วนเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสันดอนเนินทรายสีขาวและสีแดง โดยมีเส้นทางการท่องเที่ยว ได้แก่ นครโฮจิมินห์ - ดาลัท จังหวัดเลิมด่ง – มุยเน่ จังหวัดบิ่ญถ่วน
  • สินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียง ได้แก่ แก้วมังกร Binh Thuan และน้ำปลา Phan Thiet โดยเป็นจังหวัดที่ปลูกแก้วมังกรได้มากที่สุดในประเทศ

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดบิ่ญถ่วน

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดบิ่ญถ่วนเป็น 1 ใน 8 จังหวัดและนคร บริเวณชายฝั่งภาคกลางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ประมาณ 200 กิโลเมตร ห่างจากเมืองญาจาง จังหวัดคั้ญ ฮว่า (Nha Trang City, Khanh Hoa Province) 250 กิโลเมตร มีอาณาเขตของจังหวัดบิ่ญถ่วนทางด้านทิศเหนือติดกับจังหวัดเลิมด่ง (Lam Dong Province) และจังหวัดนิญถ่วน (Ninh Thuan Province) ทางด้านทิศตะวันออกติดทะเลจีนใต้ ทิศใต้ติดกับจังหวัดบะเสี่ยะ – หวุงเต่า (Ba Ria – Vung Rau Province) และด้านทิศตะวันตกติดกับจังหวัดด่งนาย (Dong Nai Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดบิ่ญถ่วน

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดแบ่งออกได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ ภูเขาเตี้ย ที่ราบสลับภูเขาเตี้ย ภูเขาทราย และที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดมีพื้นที่ติดทะเลยาวกว่า 192 กิโลเมตร อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของจังหวัดอยู่ที่ 27 – 32 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 800 – 1,150มิลลิเมตร ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม

จังหวัดบิ่ญถ่วนมีพื้นที่ทั้งหมด 7,943 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 10 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองที่สำคัญ คือ เมืองฟานเที้ยต (Phan Thiet City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่น และอีก 9 อำเภอ ทั้งนี้จังหวัดบิ่ญถ่วนมี 1 อำเภอเป็นพื้นที่เกาะ ได้แก่ อำเภอเกาะฟู้กวี๊ (Phu Quy Islands) ซึ่งชาวต่างชาติต้องขอวีซ่าก่อนเข้าสู่พื้นที่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ทางการทหาร

ปี 2564 จังหวัดบิ่ญถ่วนได้รับการจัดอันดับ 21 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพดีมากของประเทศเวียดนาม

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดบิ่ญถ่วนมีที่ดินทั้งหมด 794,300 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 45 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 43  พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 8 พื้นที่จังหวัดมีแม่น้ำ 4 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำ Luy,  Long Song, Cai และแม่น้ำ Ca Ty ทำให้จังหวัดสามารถสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้หลายแห่ง มีกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 800 MW

จังหวัดบิ่ญถ่วนมีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น แต่เป็นป่าไม้ที่เกิดจากการปลูกเพื่อการแปรรูปไม้อุตสาหกรรม และมีทรัพยากรแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ แร่ทอง วุลแฟรม ดีบุก สังกะสี เป็นต้น จังหวัดมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ค่อนข้างใหญ่ ได้แก่ หินก่อสร้าง แร่อิลเมไนต์ (Ilmenite) ดินเหนียว ทรายแก้ว น้ำมันดิบ และน้ำแร่ไบคาร์บอเนต

น้ำแร่ของจังหวัดบิ่ญถ่วน ถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 โดยชาวจามปาซึ่งนำมาใช้ในการรักษาโรคและทำความสะอาดรูปเคารพ และต่อมาชาวฝรั่งเศสได้ขยายจนกลายเป็นอุตสาหกรรมผลิตน้ำแร่ ในนาม Vinh Hao ในปี 2463 และได้พัฒนาต่อมาในปัจจุบัน

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดบิ่ญถ่วนมีประชากรทั้งหมด 1.25 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.69 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะอีก 3 แห่ง ฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 4.16 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 178ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นอยู่กับพื้นที่จ้างแรงงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP)

บิ่ญถ่วนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายของประชากร โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์จามปามากถึง 47,000 คน เนื่องจากเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรจามปา และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอีกกว่า 30 กลุ่มด้วย

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

จังหวัดบิ่ญถ่วนกำลังก่อสร้างสนามบินฟานเที๊ยต (Phan Thiet Airport:PHH) เป็นสนามบินภายในเพื่อการคมนาคมขนส่งและการทหาร คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2565

จังหวัดบิ่ญถ่วนมีท่าเรือนานาชาติหวิญเติน (Vinh Tan International Port) สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ตั้งแต่ 3,000 – 100,000 ตัน โดยมีบริการคลังสินค้า โลจิสติกส์ และอาคารสำนักงานให้บริการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: http://vinhtanport.com

นอกจากนี้มีท่าเรือฟู้กวี๊ (Phu Quy Port) ซึ่งใช้เพื่อการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างเกาะฟู้กวี๊ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดบิ่ญถ่วน 120 กิโลเมตร ปัจจุบันใช้ในการเทียบเรือประมง เรือขนส่งสินค้า และเรือด่วนเพื่อการท่องเที่ยว

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดบิ่ญถ่วน

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดบิ่ญถ่วนสามารถเดินทางเข้าสู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงส่วนกลาง (Central Sub corridor, GMS) หรือเส้นทาง R1 ผ่านจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่าซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด ทั้งนี้มีระบบถนนทางหลวง ได้แก่ QL1A, QL28, QL55 และ QL55B ครอบคลุมทุกอำเภอ

ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดมีนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งและเขตอุตสาหกรรมย่อยอีก 35 แห่ง เช่น

1. นิคมอุตสาหกรรม Phan Thiet I & II มีพื้นที่รวมกันประมาณ 100 เฮกตาร์

2. นิคมอุตสาหกรรม Ham Kiem I & II มีพื้นที่รวมกันประมาณ 479 เฮกตาร์

3. นิคมอุตสาหกรรม Son My I & II มีพื้นที่รวมกันประมาณ 3,567 เฮกตาร์

4. นิคมอุตสาหกรรม Tan Duc พื้นที่ 800 เฮกตาร์

5. นิคมอุตสาหกรรม Tuy Phong พื้นที่ 100 เฮกตาร์

6. นิคมอุตสาหกรรม Song Binh พื้นที่ 300 เฮกตาร์

7. นิคมอุตสาหกรรม Becamex VSIP Binh Thuan พื้นที่ 4,984 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 86,723.2 พันล้านด่ง (3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.77 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 30อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 33 ภาคบริการร้อยละ 31  (ภาษีจากสินค้าร้อยละ 6)

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากปีก่อนหน้า จังหวัดบิ่ญถ่วนมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 123,563 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 739,850 ตัน ปลูกข้าวโพด 15,331 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 103,018 ตัน มันสำปะหลัง 27,989 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 0.51 ล้านตัน ปลูกผัก 19,825 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 143,486 ตัน นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชไร่อื่นๆ ได้แก่ ยาสูบ อ้อย พืชตระกูลถั่วอีกด้วย

ด้านไม้ยืนต้นมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 111,389 เฮกตาร์ โดยร้อยละ 39 ปลูกผลไม้ และที่เหลือปลูกพืชอุตสาหกรรมชนิดอื่น โดยมีผลไม้ ได้แก่ แก้วมังกร 680,900 ตัน มะม่วง 25,609 ตัน ลำไย 4,402 ตัน เงาะ 1,197 ตัน และองุ่น 386 ตัน

ด้านพืชอุตสาหกรรม มีการปลูกยางพารา และเม็ดมะม่วงหิมพานต์มากที่สุด ได้ผลผลิตยางพารา 63,913 ตัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 14,017 ตัน ปาล์มน้ำมัน 9,960 ตัน และนอกจากนี้มีการปลูกกาแฟ ชา และพริกไทยบ้างแต่ไม่มากนัก

ด้านการป่าไม้ มีการแปรรูปไม้ 319,995 ลูกบาศก์เมตร ถ่านไม้ 216,675 Ster พืชประเภทไผ่ประมาณ 6,531 ต้น ทั้งหมดเป็นการแปรรูปไม้จากป่าปลูก อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมป่าไม้มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2553

ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดบิ่ญถ่วนมีขนาดเล็ก ปี 2564 มีการเลี้ยงโคกระบือ 182,380 ตัว สุกร 0.32 ล้านตัว และสัตว์ปีก 4.6 ล้านตัว ส่วนการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมด 242,188 ตัน มาจากการประมงชายฝั่ง 229,508 ตัน และเพาะเลี้ยง 12,680 ตัน และมีการเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์กุ้งและปลาเป็นจำนวน 26 พันล้านตัว

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากปีก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน เหมืองหิน น้ำแร่ อิฐและวัสดุก่อสร้าง แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง เสื้อผ้า แปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ น้ำปลา เกลือทะเล อาหารสัตว์ เป็นต้น

อุตสาหรรมพลังงานของจังหวัดบิ่ญถ่วนเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมพลังงานจากถ่านหิน และอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่มีกำลังผลิตถึง 4,200 MW ได้แก่ โครงการ Vinh Tan 1-2-4 และโครงการ Vinh Tan ส่วนขยาย โดยรวมศูนย์พลังงาน Vinh Tan มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 6,180 MW นอกจากนี้จังหวัดมีการพัฒนาศูนย์พลังงาน Son My ซึ่งมีกำลังการผลิตอีก 4,500 MW จังหวัดบิ่ญถ่วนจึงกำลังจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางพลังงานแห่งชาติของเวียดนาม ทั้งนี้จังหวัดมีเป้าหมายพัฒนาโรงงานผลิตไฟฟ้าจากลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยจะมีกำลังการผลิตโดยรวมมากถึง 13.85 GW ในปี 2568 และ 22.6 GW ในปี 2573

ด้านบริการและการค้า ปี 2564 เป็นภาคส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุด มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.6 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ส่วนการท่องเที่ยวในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 1.77 ล้านคนคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 4,158 พันล้านด่ง

จังหวัดบิ่ญถ่วนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามและต่างประเทศ โดยเส้นทางท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ โฮจิมินห์ – ดาลัท (จังหวัดเลิมด่ง) –  ตำบลมุยเน่ (มุ๋ยแน้) เมืองฟานเที๊ยต จังหวัดบิ่ญถ่วน (Mui Ne ward, Phan Thiet City, Binh Thuan Province) ทั้งนี้จังหวัดบิ่ญถ่วนได้รับความนิยมเนื่องจากอยู่ใกล้กับนครโฮจิมินห์ มีภูมิประเทศเป็นทะเลทรายที่มีอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ และอยู่ติดทะเล นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอื่นๆ เช่น สันดอนทรายขาวเป็นเนินสูงคล้ายทะเลทราย (White Sand dunes), ธารน้ำตก (Mui Ne Fairy Stream), หมู่บ้านชาวประมง, โบราณสถานจามปา, เกาะฟู้กวี๊ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการที่พักทุกระดับ หลากหลายรูปแบบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

 

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดบิ่ญถ่วนมีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้า คิดเป็น 1,204 และ 699 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 155 โครงการคิดเป็น 3,822.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564  มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 2 โครงการเป็นมูลค่า 12.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการลงทุนจากธุรกิจไทย 2 โครงการ ได้แก่ โรงแรม Anantara Mui Ne Resort มูลค่าการลงทุน 0.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phan Lam 1 กำลังการผลิต 36.7 เมกะวัตต์ และโครงการ Binh An กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ของบริษัท ซุปเปอร์เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน)

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ได้แก่ น้ำมันพืช มะพร้าว อาหารทะเล
  • อุตสาหกรรมออกแบบและผลิตเครื่องจักรการเกษตร
  • อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดบิ่ญถ่วน: https://binhthuan.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน: http://vanban.binhthuan.gov.vn/thongtin/filedinhkem/download?maSo=9aa34736a0442d2944e8578ffa10f08e.pdf
  3. ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนและการค้าจังหวัดบิ่ญถ่วน: http://binhthuantpc.vn/trang-chu.html
  4. ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดบิ่ญถ่วน: http://www.dulichbinhthuan.com.vn/
  5. ข้อมูลท่าเรือนานาชาติหวิญเติน (Vinh Tan International Port) http://vinhtanport.com/files/VINH%20TAN%20INTERNATIONAL%20PORT.pdf

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดบิ่ญถ่วน), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong

สำนักงานสถิติบิ่ญถ่วน (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดบิ่ญถ่วน ประจำปี 2564

Tạp chí Năng lượng Việt Nam (2563), Bình Thuận sẽ là trung tâm điện gió, mặt trời lớn của cả nước, retrieved from http://nangluongvietnam.vn/news/vn/dien-hat-nhan-nang-luong-tai-tao/binh-thuan-se-la-trung-tam-dien-gio-mat-troi-lon-cua-ca-nuoc.html

Báo Tuổi Trẻ (2564), Bộ Quốc phòng: Đến năm 2022, quyết tâm hoàn thành nhiệm vụ sân bay Phan Thiết, retrieved from https://tuoitre.vn/bo-quoc-phong-den-nam-2022-quyet-tam-hoan-thanh-nhiem-vu-san-bay-phan-thiet-20210409124500838.htm

Báo Thanh Niên (2564), Triển khai khu công nghiệp lớn bậc nhất Bình Thuận tại La Gi và Hàm Tân, Retrieved from https://thanhnien.vn/trien-khai-khu-cong-nghiep-lon-bac-nhat-binh-thuan-tai-la-gi-va-ham-tan-post1400365.html

EVN (2563), Bình Thuận: Sẽ sớm trở thành Trung tâm năng lượng Quốc gia, Retrieved from https://tietkiemnangluong.evn.com.vn/d6/news/Binh-Thuan-Se-som-tro-thanh-Trung-tam-nang-luong-Quoc-gia-115-109-14063.aspx

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

201944

เข้าชมทั้งหมด