ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป
- เป็นเมืองชายทะเลที่อยู่ใกล้นครโฮจิมินห์มากที่สุด ได้รับการขนาดนามว่าเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจชายทะเล โดยมีอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว
- เป็นจังหวัดที่มีน้ำมันดิบสะสมมากที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 93 หรือ 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
- มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร(GDP per capita) สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากนครโฮจิมินห์และนครฮานอย ตามลำดับ
- มี 3 สินค้าที่ได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ลำไยเนื้อทอง (Nhan xuồng cơm vàng), น้อยหน่า, เกลือ Ba Ria และพริกไทยดำหวุงเต่า
- ตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายใต้ (Southern Economic Corridor :SEC) หรือเส้นทาง R1 ซึ่งเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านนครพนมเปญ ประเทศกัมพูชา, นครโฮจิมินห์ และสิ้นสุดที่จังหวัดบ่าเสี่ยะ-หวุงเต่า
- ท่าเรือน้ำลึก Thi Vai – Cap Mep เป็นหนึ่งในท่าเรือ 23 แห่งของโลกที่สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ถึง 250.000 ตัน และเป็นจัดอยู่ในกลุ่มท่าเรือ 50 อันดับแรกของโลกที่มีตู้ขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือมากที่สุดในโลกอีกด้วย
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า
1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง
จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า เป็น 1 ใน 6 จังหวัดและนครในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตทางด้านทิศตะวันตกติดกับนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามทางใต้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดด่งนาย (Dong Nai Province) และจังหวัดบิ่ญถ่วน (Binh Thuan Province) ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นประตูสู่ทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ยังอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติล็องถั่น (Long Thanh International Airport: LON) ประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งกำลังก่อสร้างเพื่อเป็นสนามบินนานาชาติที่ใช้ควบคู่กับสนามบิน Tan Son Nhat ในอนาคตอันใกล้
รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า
ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัด สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ หมู่เกาะ พื้นที่ภูเขาสูงปานกลาง และพื้นที่หุบเขาติดชายทะเล ระดับความสูงของพื้นที่เฉลี่ย 3 – 4 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีคาบสมุทรหวุงเต่ายื่นออกไปในทะเล พื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดติดทะเลถึง 156 กิโลเมตร บางส่วนเป็นชายหาดที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยวตากอากาศ
จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่ามีอุณภูมิโดยเฉลี่ย 25 – 29 องศาเซลเซียส โดยฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคมของทุกปี ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1500 มิลลิเมตร และมีชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์ต่อปีประมาณ 2,400 ชั่วโมง
จังหวัดมีพื้นที่ทั้งหมด 1,989.46 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ไหล่ทวีปกว่า 100,000 ตารางกิโลเมตรทำให้จังหวัดมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ความมั่งคงของชาติและการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเล
จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่าแบ่งการปกครองออกเป็น 7 พื้นที่ ประกอบด้วยเมืองบ่าเสี่ยะ (Ba Ria City) เมืองหวุงเต่า (Vung Tau City) และอีก 5 อำเภอ โดยมีอำเภอเกาะโกนด๋าว (Con Dao Islands) เป็นหมู่เกาะที่อยู่ห่างจากตัวเมืองไป 180 กิโลเมตร
ปี 2562 จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่าได้รับการจัดอันดับ 4 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพสูงเป็นอันดับต้นของประเทศเวียดนาม
1.2 ทรัพยากร
1.2.1 ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดบ่าเสี่ยะ-หวุงเต่า มีที่ดินทั้งหมด 198,100 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรร้อยละ 53 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 17 และพื้นที่อยู่อาศัย ประกอบธุรกิจและวัตถุประสงค์อื่นอีกร้อยละ 20 จากการที่มีแม่น้ำ 2 สายใหญ่ไหลผ่าน และมีบ่อเก็บน้ำธรรมชาติถึง 3 แห่งทำให้จังหวัดมีน้ำจืดใช้อย่างเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมและบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี
พื้นที่ป่าในเขตจังหวัดคิดเป็น 33,794 เฮกตาร์ มีพื้นที่ป่าดงดิบ 2 แห่ง คือพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ Binh Chau – Phuoc Huu และเกาะโกนด๋าว
จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย มีน้ำมันดิบสะสมมากที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 93 หรือ 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีแก๊ซธรรมชาติ แก๊สเหลว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานของจังหวัดพัฒนา มีกำลังผลิตกว่า 4,000 MW หรือร้อยละ 15 ของทั้งประเทศ ส่วนแร่ธาตุวัสดุก่อสร้าง เช่น หินแกรนิต หินก่อสร้าง วัสดุเติมแต่งปูนซีเมนต์ ทรายแก้ว เบนโทไนท์ ดินขาว ทรายก่อสร้าง อิมเมนต์ เป็นต้น
1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม
ปี 2562 จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่ามีประชากรทั้งหมด 1.15 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.615 ล้านคน จังหวัดมี 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า และมหาวิทยาลัยน้ำมันปิโตรเลียม และมีวิทยาลัยอาชีวะ 4 แห่ง โดยค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน 3.43 – 4.42 ล้านด่องต่อเดือน (150 – 192 เหรียญสหรัฐฯ) แล้วแต่พื้นที่ในจังหวัด
1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมทางอากาศ จังหวัดมี 2 สนามบิน คือ สนามบินหวุงเต่า และสนามบินโกนด๋าว นามบินหวุงเต่าให้บริการเครื่องบินประเภทเฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตามเที่ยวบินพาณิชย์ภายในประเทศให้บริการเพียงสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ ในเส้นทางจากนครฮานอย – โกนด๋าว และจากนครโฮจิมินห์ – โกนด๋าวเท่านั้น
ด้านการคมนาคมทางน้ำ สามารถเดินทางจากนครโฮจิมินห์ไปที่จัดหวัดด้วยเรือเร็ว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 120 นาที นอกจากนี้จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า ยังถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระดับสากลของประเทศเวียดนาม สามารถแบ่งพื้นที่ท่าเรือออกเป็น 4 พื้นที่หลักได้แก่
พื้นที่ท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai เป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุด ขนาดใหญ่ที่สุด มีท่าเทียบเรือย่อยๆ 35 ท่าเทียบเรือ ใช้ในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าจากประเทศต่างๆ สามารถรองรับเรือที่มีความจุกว่า 100,000 ตัน หรือเรือขนคอนเทนเนอร์ที่มีความจุ 8,000 TEU หรือใหญ่กว่า มีระบบการยกของที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล
พื้นที่ท่าเรือบริเวณแม่น้ำ Dinh และอ่าว Ganh Rai ประกอบไปด้วยท่าเทียบเรือ 30 ท่าที่เชี่ยวชาญการขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริการเกี่ยวกับขุดเจาะและซ่อมแท่นขุดเจาะน้ำมัน ท่าเรือทหาร พื้นที่ซ่อมบำรุงเรือ ท่าเรือสำราญ รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ท่าเรือ Long Son ซึ่งเป็นทั้งท่าเรือและโรงกลั่นน้ำมันดิบรวมอยู่ด้วย
พื้นที่ท่าเรือเกาะโกนด๋าว เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า แก๊ซ LPG และผู้โดยสารระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ สามารถรองรับเรือขนาดความจุ 2,000 ตัน
ท่าเรือนอกชายฝั่งสำหรับขนส่งน้ำมัน รองรับเรือขนาดความจุ 110,000 – 150,000 ตัน
ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า มีระบบการคมนาคมขนส่งทางบกที่ดีโดยเป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจสายใต้ (Southern Economic Corridor :SEC) หรือเส้นทาง R1 ซึ่งเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านนครพนมเปญ ประเทศกัมพูชา, นครโฮจิมินห์ และมาสิ้นสุดที่จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่าประเทศเวียดนาม ระบบถนนเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด นครโฮจิมินห์ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงเป็นระบบทางหลวง และทางด่วน ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว โดยจากนครโฮจิมินห์เดินทางมาถึงใจกลาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 120 นาที ถนนหลวงของจังหวัด ได้แก่ QL51, QL51C, QL55 และ QL56
รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า
ที่มา: Google Map (2563
ด้านนิคมอุตสาหกรรม ตามข้อมูลปี 2563 จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่ามีเขตอุตสาหกรรมทั้งหมด 15 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 8,510 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับพื้นที่ท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai และมีการใช้งานไปแล้วประมาณร้อยละ 35 ของพื้นที่เขตอุตสหกรรมทั้งหมด ได้แก่
ลำดับ | ชื่อนิคมอุตสาหกรรม | ขนาด (เฮกตาร์) | โครงการที่สนับสนุนให้เข้ามาลงทุน |
1 | Dong Xuan Industrial Zone | 160 | อุตสาหกรรมพลังงาน การต่อเรือการประกอบรถยนต์ และอื่นๆ |
2 | Phu My I Industrial Zone | 959.38 | อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ ปุ๋ยและสารเคมี เหล็ก และการผลิตปูนซีเมนต์ |
3 | My Xuan A Industrial Zone | – | อุตสาหกรรมเบา |
4 | My Xuan A2 Industrial Zone | 422.22 | อุตสาหกรรมเบา การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักกล |
5 | Long Son – Petroleum Industrial Zone | 850 | อุตสาหกรรมปิโตรเคมี |
6 | Phu My II Industrial Zone | 1,023.6 | อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ |
7 | CaiMep Industrial Zone | 670 | อุตสาหกรรมหนักที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ การต่อเรือ/การซ่อมแซมเรือ และอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร |
8 | My Xuan B1-Conac Industrial Zone | 227.14 | อุตสาหกรรมเบา |
9 | My Xuan B1- Tien Hung Industrial Zone | 200 | อุตสาหกรรมเบา |
10 | My Xuan B1- Dai Dung Industrial Zone | 145.7 | อุตสาหกรรมจักรกล อุตสาหกรรมการซ่อมแซมและประกอบ อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ |
11 | Phu My III Intensive Industrial Zone | 999 | อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมสนับสนุน และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง |
12 | Chau Duc Industrial Zone | 1,550.24 ha | อุตสาหกรรมผลิตและประกอบสินค้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ |
13 | Dat Do 1 Industrial Zone | 496.22 | อุตสาหกรรมสะอาด อุตสาหกรรมการบริการ และอื่นๆ |
14 | Long Huong Industrial Zone | 400 | อุตสาหกรรมการผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เคเบิ้ล เวชภัณฑ์ และอื่นๆ |
15 | Da Bac Industrial Zone | 300 | อุตสาหกรรมสหวิทยาการ |
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 358,937 พันล้านด่อง (15.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 1.98 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 5.5 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 75 ภาคบริการร้อยละ 14 และภาษีร้อยละ 5.6
หากไม่รวมมูลค่าเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมน้ำมัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเติบโตขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 7.65 โดยภาคการเกษตรเติบโตขึ้นร้อยละ 2.98 ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างเติบโตร้อยละ 8.89 และภาคการบริการเติบโตร้อยละ 6.41
ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2562 มีพื้นที่เพื่อการเกษตร 145,798 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งออกเป็นการปลูกข้าว 24,736 เฮกตาร์ พืชไร่ชนิดต่างๆ อีก 34,603 เฮกตาร์ ผลผลิตจากข้าวตลอดปีคิดเป็น 85,751 ตัน, มันสำปะหลัง 175,481 ตัน ผักชนิดต่างๆ 139,153 ตันและข้าวโพด 74,967 ตัน
ด้านไม้ยืนต้น จังหวัดมีการปลูกผลไม้และพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ บนพื้นที่ 59,796 เฮกตาร์ ได้แก่ กาแฟ ยางพารา พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ โกโก้ ส้ม มะม่วง ลำไย กล้วย เงาะ เป็นต้น สินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า ได้แก่ ลำไยเนื้อทอง (Nhan Xuong Com Vang) พริกไทยดำหวุงเต่า และน้อยหน่า ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ (Geographical Indications) และได้รับการปกป้องทางการค้า
ปัจจุบัน จังหวัดได้ริเริ่มโครงการพัฒนาการเกษตรใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและโครงการการเกษตรกรรมปลอดสารพิษ (Quyết định số 999/QĐ-UBND ngày 23/4/2019) ทั้งในด้านผักผลไม้และการเลี้ยงสัตว์ มีบริษัทและผู้ร่วมลงทุนทั้งหมด 52 รายบนพืนที่กว่า 2,819 เฮกตาร์ คิดป็นผลผลิตประมาณ 41,056 ตันต่อปี และจะขยายเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีพื้นที่ทั้งหมด 6,902 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ (Extensive Farming) แบ่งออกเป็นเลี้ยงกุ้ง 4,072 เฮกตาร์ เลี้ยงปลา 2,303 เฮกตาร์ และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ 527 เฮกตาร์ รวมผลผลิตปี 2562 เท่ากับ 17,380 ตัน และจากการประมงจับสัตว์น้ำ 343,127 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3.12
ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น โดยมีการเลี้ยงโคกระบือรวมกัน 49,160 ตัว สุกร 0.25 ล้านตัว สัตว์ปีก 4.9 ล้านตัว
ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง สินค้าสำคัญของจังหวัด ได้แก่ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ สินค้าปิโตรเคมี เหล็กกล้า พลาสติก อาหารและเครื่องดื่มแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง เสื้อผ้าสิ่งทอ เครื่องหนัง ยางพารา และพลังงานไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่าในปี 2562 ทั้งหมด 268,886 พันล้านด่อง จากข้อมูลปี 2562 จังหวัดมีผลผลิตน้ำมันดิบ 11,177,000 ตัน แก๊สธรรมชาติ 8,848 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำมันถั่วเหลือง 1369667 ตัน LPG 569,276 ตัน ปุ๋ยยูเรีย 742,371 ตัน ไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม 31,485 ล้าน Kwh และไฟฟ้าเพื่อการบริโภค 3,924 ล้าน Kwh
ด้านบริการและการค้า มาจากการค้าปลีกเป็นหลัก จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่าถือว่าเป็นจังหวัดที่เจริญก้าวหน้า มีระบบการค้าปลีกทันสมัย ปัจจุบันมีตลาด 77 แห่ง ห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ 3 แห่ง และซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก 7 แห่ง รวมรายได้จากการค้าปลีกสูงถึง 45,720 พันล้านด่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 14
การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัด โดยแผนส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงปี 2025 (Quyết định 2538/QĐ-UBND) มุ่งเน้นที่การท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลคุณภาพสูง การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพรักษาโรคบริเวณพื้นที่แหล่งน้ำร้อนธรรมชาติ การท่องเที่ยวร่วมกับการจัดงานนิทรรศการ (MICE) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวสันทนาการซึ่งรวมถึงบริการใช้บริการสนามกอล์ฟ คาสิโน ปีนเขา ดำน้ำและผจญภัย จากสถิติปี 2562 จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่จังหวัดประมาณ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในจำนวนดังกล่าวเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.9 ล้านคน รวมรายได้จากที่พัก บริการอาหารและบริการนำเที่ยว รวมทั้งหมด 12,938.9 พันล้านด่อง (562.52 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 โดยมีเกาะโกนด๋าว (Con Dao Islands) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อยู่ห่างจากเมืองหวุงเต่าประมาณ 185 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 – 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากนครโฮจิมินห์ถึงเกาะโกนด๋าวอีกด้วย แต่ละวันมีเที่ยวบินไป-กลับเพียงเที่ยวเดียวโดยสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์
2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2562 จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า มีมูลค่านำเข้าสินค้า และมูลค่าส่งออกสินค้า คิดเป็น 6.9 และ 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2562 คิดเป็น 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2562 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 49 โครงการเป็นมูลค่า 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
จังหวัดมีโครงการลงทุนจากนักทุนไทย 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับที่ 4 ในจังหวัด และเป็นจังหวัดที่นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนมูลค่ารวมสูงสุดในประเทศเวียดนาม ได้แก่
- Baconco Co.,Ltd. – โครงการผลิตปุ๋ย NPK มูลค่าการลงทุน 30.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Da Nang SSCORP Ltd. (Vung Tau) – โครงการแปรรูปผลผลิตการเกษตร มูลค่าการลงทุน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- C.P. Vietnam Livestock JSC (Ba Ria – Vung Tau Branch) –ประเภทฟาร์มเพาะเลี้ยงพันธุ์กุ้ง มูลค่าการลงทุน 8.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- โครงการ Long Son Petrochemicals Co.,Ltd. – เป็นการลงทุนของบริษัท SCG ร้อยละ 100 มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 3.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของเวียดนาม มีการเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร บนพื้นที่กว่า 464 เฮกตาร์
- MM Mega Market Vung Tau – มูลค่าการลงทุน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
- อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติก เมทานอล
- อุตสาหกรรมอุปกรณ์ และเครื่องจักร เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เหล็กคุณภาพสูง อุปกรณ์และอะไหล่เรือ อุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น
- อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และเขตอุตสาหกรรม
- อุตสาหกรรมกรรมการเกษตรออกานิคและการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
- อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารทะเล
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
- โครงการโครงสร้างพื้นฐานและเขตอุตสาหกรรม
แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ
- เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า: http://www.baria-vungtau.gov.vn/
- รายชื่อโครงการลงทุนจนถึงปี 2563: http://sokhdt.baria-vungtau.gov.vn/documents/10180/40739/DM%20keu%20goi%20dau%20tu%20den%202020.xls
- เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวจังหวัด: http://www.bariavungtautourism.com.vn/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า), สืบค้น จาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong
กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปี 2562, สืบค้น จาก https://dautunuocngoai.gov.vn/tinbai/6318/Tinh-hinh-thu-hut-dau-tu-nuoc-ngoai-nam-2019
กรมการท่าเรือหวุงเต่า (2561), ข้อมูลสถานการณ์ท่าเรือในพื้นที่จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า สืบค้น จาก http://cangvuhanghaivungtau.gov.vn/Uploads/3655.Q%C4%90-BGTVT%20phe%20duyet%20QHCT%20N5-%2027.12.2017.pdf
สภาประชาชนจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า (2563), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า ประจำปี 2562
สภาประชาชนจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า (2562), Decision No. 999/QĐ-UBND วันที่ 23/04/2019 เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรออกานิคจนถึงปี 2025
สภาประชาชนจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า (2562), Decision No. 1427/QĐ-UBND วันที่ 07/06/2019 เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึงปี 2025, ทิศทางการพัฒนาถึงปี 2030
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเวียดนาม (2563), ข้อมูลสินค้าที่ได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สืบค้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 จาก http://www.noip.gov.vn/chi-dan-dia-ly