ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

เอียนบ๊าย

yen bai

เอียนบ๊าย

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดเอียนบ๊ายมีอุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ การปลูกชา เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมหลอมโลหะ
  • จังหวัดเอียนบ๊ายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสาย R5 นครไฮฟอง – กรุงฮานอย – นครคุนหมิง
  • จังหวัดเอียนบ๊ายเป็นจังหวัดที่มีสินค้าเกษตรที่ได้รับความคุ้มครองด้านภูมิศาสตร์มากถึง 8 รายการ ได้แก่ เปลือกอบเชย Van Yen, ข้าว Muong Lo, ส้มโอ Kha Linh, เนื้อตะพาบแปรรูป Van Chan, หน่อไม้ Yen Bai, ข้าวเหนียว Tu Le, น้ำผึ้ง Mu Chang Chai และชาภูเขา Phinh Ho

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดเอียนบ๊าย 

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดเอียนบ๊าย เป็น 1 ใน 6 จังหวัดบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอย 178 กิโลเมตร และห่างจากนครไฮฟอง 270 กิโลเมตร จังหวัดมีอาณาเขตด้านทิศเหนือติดกับจังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai Province) ด้านตะวันออกติดจังหวัดเตวียนกวาง (Tuyen Quang Province) และจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho Province) ด้านทิศใต้ติดจังหวัดเซินลา (Son La Province) และด้านทิศตะวันตกติดจังหวัดลายเจิว (Lai Chau Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดเอียนบ๊าย 

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเอียนบ๊ายมีพื้นที่เป็นภูเขาสูงร้อยละ 67 ของพื้นที่ โดยมีระดับความสูงเฉลี่ย 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นที่ราบลุ่มสลับภูเขาเตี้ย จังหวัดเอียนบ๊ายมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 22 – 23 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,500 – 2,200 มิลลิเมตร ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม

จังหวัดเอียนบ๊ายมีพื้นที่ทั้งหมด 6,882 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 9 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองเอียนบ๊าย (Lao Cai City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่นและอีก 8 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดเอียนบ๊ายได้รับการจัดอันดับ 40 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดเอียนบ๊ายมีที่ดินทั้งหมด 688,200 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 17 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 68 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 3 พื้นที่ของจังหวัดมีแม่น้ำแดง และแม่น้ำ Chay ไหลผ่านพื้นที่ มีอ่างเก็บน้ำจืดขนาด 20,000 เฮกตาร์ในพื้นที่ นอกจากมีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างมากแล้ว จากการสำรวจพบหินปูน เหล็ก กราไฟต์ สังกะสี ตะกั่ว หินอ่อน เฟลด์สปาร์ หินสี และอัญมณี

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดเอียนบ๊าย มีประชากรทั้งหมด 0.84 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.52 ล้านคน จังหวัดเอียนบ๊ายมีวิทยาลัยอาชีวะ 5 แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามพื้นที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP) จังหวัดเอียนบ๊ายเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์คิดเป็นร้อยละ 57 ของประชากรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง ไท ต่าย หนุ่ม เป็นต้น

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการขนส่งทางอากาศและทางน้ำ จังหวัดเอียนบ๊ายไม่มีสนามบินและไม่มีท่าเรือ แต่สามารถเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย (Noi Bai International Airport:HAN) โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมงโดยรถยนต์

ด้านการขนส่งทางบก จังหวัดเอียนบ๊ายเป็นจังหวัดบนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสาย R5 ซึ่งเริ่มต้นที่นครไฮฟองและสิ้นสุดที่นครคุนหมิง โดยใจกลางจังหวัดห่างจากด่านชายแดนนานาชาติหล่าวกายประมาณ 156 กิโลเมตร การเดินทางในจังหวัดมีระบบทางหลวงครอบคลุมตลอดพื่นที่ ได้แก่ QL32, QL32C, QL279, ทางด่วนหมายเลข 5 และถนนสายเอเชีย AH14 รวมถึงมีระบบรถไฟที่เชื่อมโยงการเดินทางภายในและระหว่างเวียดนามกับประเทศจีนผ่านพื้นที่จังหวัดด้วย

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดเอียนบ๊าย 

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดเอียนบ๊ายมีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้แก่

  1. นิคมอุตสาหกรรมด้านทิศใต้ของจังหวัดเอียนบ๊าย มีพื้นที่ 137.8 เฮกตาร์ เป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมระดับชาติของเวียดนาม โดยเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมหลอมโลหะ แปรรูปสินค้าแร่ธาตุ วัสดุก่อสร้าง แปรรูปไม้ และสินค้าเกษตร
  2. นิคมอุตสาหกรรม Mong Son มีพื้นที่ 806 เฮกตาร์
  3. นิคมอุตสาหกรรม Minh Quan มีพื้นที่ 112 เฮกตาร์
  4. นิคมอุตสาหกรรม Au Lau มีพื้นที่ 118 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเอียนบ๊าย (GDP) คิดเป็นมูลค่า 35,982 พันล้านด่ง (1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.1 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 23 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 31 ภาคบริการร้อยละ 41 (ภาษีสินค้าร้อยละ 5)

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปีก่อนหน้า จังหวัดเอียนบ๊ายมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่รวม 72,100 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าว 218,300 ตัน ข้าวโพด 103,900 ตัน มันสำปะหลัง 171,400 ตัน และผักต่าง ๆ ประมาณ 130,000 ตัน

จังหวัดเอียนบ๊ายมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 20,000 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตหลัก คือ ชา 65,000 ตัน ผลไม้ 65,000 ตัน ในจำนวนดังกล่าวเป็นส้มชนิดต่างๆ 5,000 ตัน และสตรอเบอร์รี่ 2,000 ตัน ส่วนด้านการป่าไม้มีผลผลิตไม้แปรรูปทั้งหมด 594,400 ลูกบาศก์เมตร

ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดเอียนบ๊ายมีขนาดปานกลางปี 2564 มีโคกระบือรวมกัน 125,790 ตัว สุกร 462,975 ตัว สัตว์ปีก 6.7 ล้านตัว ด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 12,699 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 จากปีก่อนหน้า โดยมาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกือบทั้งหมดคิดเป็น 11,725 ตัน

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดเอียนบ๊าย คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หลอมโลหะ ชิ้นส่วนโลหะ หินก่อสร้าง เสื้อผ้า เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า ปี 2564 มีมูลค่ามาจากการค้าปลีกเป็นหลัก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ส่วนด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 0.79 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 490.2 พันล้านด่ง (20.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การท่องเที่ยวของจังหวัดเอียนบ๊ายมีการพัฒนาที่อำเภอ Mu Cang Chai เป็นหลัก โดยเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชีวิต

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดเอียนบ๊าย มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 166 และ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 33 โครงการคิดเป็น 446.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 7 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 48.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ธุรกิจไทยมีการลงทุนในธุรกิจเหมืองอัญมณีของบริษัท B.H. Mining

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงอนุรักษ์
  • อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก
  • อุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น แปรรูปชา สินค้าจากไม้ สินค้าหัตถกรรม
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดเอียนบ๊าย: https://yenbai.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน: http://yenbai.gov.vn/Pages/Du-an-keu-goi-dau-tu.aspx
  3. เว็บไซต์ส่งเสริมการลงทุนและการค้าจังหวัดเอียนบ๊าย: http://www.yenbai.gov.vn/xuc-tien-dau-tu/Pages/Trang-chu.aspx
  4. เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเอียนบ๊าย: http://dulichyenbai.gov.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดเอียนบ๊าย), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong

สำนักงานสถิติจังหวัดเอียนบ๊าย (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเอียนบ๊าย ประจำปี 2564

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Cổng thông tin Tỉnh Yên Bái (2564), Định hướng phát triển du lịch Mù Cang Chải đến năm 2025, Retrieved from https://www.yenbai.gov.vn/noidung/tintuc/Pages/chi-tiet-tin-tuc.aspx?ItemID=4141&l=TinSoNganhDiaphuong&lv=11

B News (2564), Kinh tế Yên Bái tăng trưởng cao nhất vùng miền núi Trung du phía Bắc, Retrieved from https://bnews.vn/kinh-te-yen-bai-tang-truong-cao-nhat-vung-mien-nui-trung-du-phia-bac/226846.html

Báo Tin tức (2564), Yên Bái tăng giá trị sản phẩm trên cùng diện tích đất trồng trọt, Retrieved from https://baotintuc.vn/kinh-te/yen-bai-tang-gia-tri-san-pham-tren-cung-dien-tich-dat-trong-trot-20210809120819917.htm

 

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

195422

เข้าชมทั้งหมด