ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

เตี่ยนซาง

tien giang

เตี่ยนซาง

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดเตี่ยนซางมีชื่อเสียงในด้านการเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อน การทำปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร โดยมีสินค้าที่ได้รับการยอมรับและจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2 รายการ ได้แก่ มะม่วงฮว่าลอก (Hoa Loc Mango) ลักษณะคล้ายมะม่วงอกร่อง และลูกน้ำนมของวิ๋นห์กิม (Vinh Kim Star Apple)
  • มีศักยภาพในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและเป็นตลาดสำหรับเทคโนโลยีการเกษตร
  • เมืองหมีทอ (My Tho City) มีการท่องเที่ยวทางน้ำและลำคลองที่มีชื่อเสียงลักษณะคล้ายตลาดน้ำของประเทศไทย

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด

1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง

จังหวัดเตี่ยนซาง เป็น 1 ใน 13 จังหวัดบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง หรือภาคตะวันตกของประเทศเวียดนามตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 70 กิโลเมตร และห่างจากนครเกิ่นเทอ 100 กิโลเมตร

อาณาเขตทางด้านทิศเหนือเกือบทั้งหมดติดกับจังหวัดล็องอาน (Long An Province) และอำเภอเกิ่นเหย่อ นครโฮจิมินห์ (Can Gio, Ho Chi Minh City)  ทิศตะวันออก ติดทะเลจีนใต้  ทิศใต้ ติดจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre Province) และจังหวัดหวิญล็อง (Vinh Long Province) ส่วนทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดด่งท้าบ (Dong Thap Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดเตี่ยนซาง

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ภูมิประเทศจังหวัดเตี่ยนซางเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำเตี่ยนซึ่งแยกออกมาจากแม่น้ำโขงไหลผ่าน ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำเหมาะแก่การเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ติดทะเลยาว 32 กิโลเมตร เหมาะแก่การประมงเพาะเลี้ยงสัตว์-น้ำ

จังหวัดเตี่ยนซางมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 26 – 27 องศา ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,200 – 1,400 มิลลิเมตรต่อปี

จังหวัดเตี่ยนซางมีพื้นที่ทั้งหมด 2,510.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 11 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองหมีทอ (My Tho City) เป็นศูนย์กลางราชการส่วนท้องถิ่น และอีก 10 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดเตี่ยนซางได้รับการจัดอันดับที่ 33 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดเตี่ยนซางเป็นที่ราบลุ่มมีทรัพยากรดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ดินทั้งหมด 251,061 เฮกตาร์ พื้นที่เพื่อการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 71 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 1 พื้นที่เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้อยละ 4 และที่ดินเพื่ออาศัย ประกอบธุรกิจและวัตถุประสงค์อื่น ๆ ร้อยละ 21

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์

ปี 2564 จังหวัดเตี่ยนซางมีประชากรทั้งหมด 1.77 ล้านคน เป็นจังหวัดที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 1.11 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเตี่ยนซาง (Tien Giang University) และยังมีวิทยาลัยอาชีวะอีก 4 แห่งฝึกอบรมแรงงานในจังหวัด ค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 4.16 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 178 ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/ND-CP)

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดเตี่ยนซางยังไม่มีสนามบินแต่อยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ ซึ่งมีสนามบินนานาชาติเติน เซิน เญิ๊ต (Tan Son Nhat International Airport:SGN) ที่เป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินตลอดทั้งวันทั้งจากในและต่างประเทศด้วยระยะทาง 70 กิโลเมตร

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดเตี่ยนซางมีท่าเรือหมีทอ (My Tho River Port) ที่สามารถรองรับเรือขนาด 3,000 ตัน

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดเตี่ยนซาง

 

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านการคมนาคมทางบก มีถนนทางหลวง ได้แก่ QL1, QL50 และทางด่วน CT ทำให้การเดินทางจากนครโฮจิมินห์ถึงเตี่ยนซางใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น ซึ่งทำให้การคมนาคมขนส่งสินค้าทางบกค่อนข้างสะดวก

ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดเตี่ยนซางมีนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมย่อยอีก 27 แห่ง โดยนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่

    1. นิคมอุตสาหกรรมหมีทอ (My Tho Industrial Park) พื้นที่ 79.14 เฮกตาร์
    2. นิคมอุตสาหกรรมเตินเฮือง (Tan Huong Indutrial Park) พื้นที่ 197.33 เฮกตาร์
    3. นิคมอุตสาหกรรมล็องยาง (Long Giang Industrial Park) พื้นที่ 540 เฮกตาร์
    4. นิคมอุตสาหกรรมบริการน้ำมันสว่ายหรับ (Soai Rap Shipyard Industrial Park) พื้นที่ 285 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 100,315 พันล้านด่ง (4.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 0.72 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 39 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 27 และภาคบริการร้อยละ 29

ในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.9  มีการปลูกข้าวคิดเป็นพื้นที่ 131,846 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพสูง 0.84 ล้านตัน ผักและถั่วชนิดต่างๆ มีพื้นที่ปลูก 55,225 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 1.16 ล้านตัน และไม้ยืนต้นมีพื้นที่ปลูก 103,809 เฮกตาร์ ในจำนวนดังกล่าวเป็นผลไม้เขตร้อน 81,065 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตทั้งสิ้น 1.81 ล้านตัน

การปศุสัตว์ของจังหวัดเตี่ยนซางใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยในปี 2564 มีจำนวนโคกระบือรวมกัน 122,900 ตัว สุกร 279,800 ตัว และสัตว์ปีกอีก 17.4 ล้านตัว ส่วนการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้ผลผลิตทั้งหมด 302,914 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 โดยมาจากเพาะเลี้ยง 161,231 ตัน และมาจากประมง 141,683 ตัน

ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.1 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อปลาแช่แข็ง มุ้ง (ส่งออก) อาหารสัตว์ รองเท้า เสื้อผ้า ยา เครื่องดื่ม เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.3 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดเตี่ยนซาง 0.29 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดปี โดยนำรายได้เข้าสู่จังหวัดเป็นมูลค่า 3,490 พันล้านด่ง (149 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและประวัติศาสตร์ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในจังหวัดสำคัญของเวียดนามในช่วงศตวรรษที่ 19 – 20 ได้แก่ วัด Vinh Trang, ตลาดน้ำ Cai Be, เกาะ Thoi Son, สวนงู Dong Tam สวนผลไม้และดอกไม้ต่างๆ เป็นต้น

 

2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดเตี่ยนซางมีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 1,952 และ 3,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 128 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 2 โครงการ เป็นมูลค่า 2.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธุรกิจไทยลงทุนในจังหวัดเตี่ยนซาง ได้แก่

 

 

 

ลำดับ ชื่อ ปีที่เริ่มลงทุน มูลค่าเงินลงทุน

(ดอลลาร์สหรัฐ

ประเภทธุรกิจ
1 Royal Can Industries พ.ศ. 2550 21,000,000 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
2 CPVN พ.ศ. 2543 11,450,000 อุตสาหกรรมผลิตอาหารเพื่อการปศุสัตว์
3 Royal Food Viet Nam พ.ศ. 2547 13,000,000 อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล
4 Union Viet Nam พ.ศ. 2551 6,000,000 อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเลแปรรูป
5 ซุปเปอร์มาร์เก็ต Go! My Tho พ.ศ. 2561 ธุรกิจค้าปลีก

 

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมเกษตรและการประมง เช่น ปลูกข้าวออกานิค การปศุสัตว์ ผัก
  • อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูป เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า แปรรูปข้าว แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
  • โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอสังริมทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า และตลาด รวมถึงสถานศึกษา

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดเตี่ยนซาง https://www.tiengiang.gov.vn/
  2. รายชื่อโครงการรอการลงทุน https://thuvienphapluat.vn/van-ban/Dau-tu/Quyet-dinh-1581-QD-UBND-2022-phe-duyet-du-an-moi-goi-dau-tu-Tien-Giang-518495.aspx

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดเตี่ยนซาง), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดเตี่ยนซาง (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเตี่ยนซาง ประจำปี 2564

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

222

กำลังเข้าชมขณะนี้

351046

เข้าชมทั้งหมด