ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

เซินลา

son la

เซินลา

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดเซินลาเป็นสถานที่เพาะปลูกชา กาแฟ นมวัว และผลไม้เมืองหนาวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม
  • จังหวัดเซินลามีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและประชากรสูงมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร้อยละ 82 ของประชากรทั้งหมด จึงมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชีวิต
  • จังหวัดเซินลามีสินค้าเกษตรที่ได้รับความคุ้มครองด้านภูมิศาสตร์ 3 รายการ ได้แก่ ชาภูเขาหิมะ Moc Chau, กาแฟ Son La และมะม่วงกลม Yen Chau

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดเซินลา 

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดเซินลา เป็น 1 ใน 6 จังหวัดบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอย 320 กิโลเมตร และนครไฮฟอง 405 กิโลเมตร อาณาเขตทางด้านทิศเหนือของจังหวัดมีอาณาเขตติดจังหวัดลายเจิว (Lai Chau Province) และจังหวัดเอียนบ๊าย (Yen Bai Province) ด้านทิศตะวันออกติดกับจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho Province) และจังหวัดฮว่าบิ่ญ (Hoa Binh Province) ด้านทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเดี่ยนเบียน (Dien Bien Province) และทิศใต้ติดกับจังหวัดทัญฮว้า (Thanh Hoa Province) และประเทศลาว โดยมีด่านชายแดนระหว่างประเทศเวียดนามและลาว 3 แห่ง ด่านชายแดนที่สำคัญ คือ ด่านชายแดนนานาชาติเจี่ยงเคือง (Chieng Khuong International Border Gate) ซึ่งเชื่อมกับด่าน Ban Dan ของแขวงหัวพัน

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดเซินลา 

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเซินลาเกือบครึ่งเป็นภูเขาสูงเฉลี่ย 600 – 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ราบสูง 2 แห่ง คือ ที่ราบสูงหม็อกเจิว (Moc Chau Highland) และที่ราบสูงเซินลา (Son La Highland) มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 21 – 23 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,200 – 1,600 มิลลิเมตร ฝนตกมากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน

จังหวัดเซินลามีพื้นที่ทั้งหมด 14,120 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 12 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองเซินลา (Son La City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่นและอีก 11 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดเซินลา ได้รับการจัดอันดับ 46 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดเซินลามีที่ดินทั้งหมด 1,412,000 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 29 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 46 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 4 พื้นที่ของจังหวัดเซินลามีแม่น้ำ Da และแม่น้ำ Ma ไหลผ่านพื้นที่ซึ่งระดับความแรงของน้ำสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จังหวัดเซินลามีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มีเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ 4 แห่งในพื้นที่ และจากการสำรวจพบแร่ธาตุหลากหลายชนิด เช่น นิกเกิล ทองแดง แมกนีเซียม ทอง ปรอท เหล็ก น้ำแร่ธรรมชาติ เป็นต้น

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดเซินลา มีประชากรทั้งหมด 1.28 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.77 ล้านคน จังหวัดเซินลามีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และมีวิทยาลัยอาชีวะ 4 แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามพื้นที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP) จังหวัดเซินลาเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์คิดเป็นร้อยละ 82 ของประชากรทั้งหมด โดยกว่าร้อยละครึ่งเป็นชาวไทกลุ่มต่าง ๆ

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการขนส่งทางอากาศ จังหวัดเซินลามีสนามบินหน่าสาน (Na San Airport) ซึ่งอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงและก่อสร้างใหม่ ปัจจุบันการขนส่งทางอากาศจะสามารถเดินทางผ่านสนามบินภายในประเทศเดี่ยนเบียนฝู (Dien Bien Phu Airport:DIN) จังหวัดเดี่ยนเบียน ซึ่งมีเที่ยวบินตรงของสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์จากกรุงฮานอยและนครไฮฟองเท่านั้น สนามบินดังกล่าวอยู่ห่างจากจังหวัดเซินลา 150 กิโลเมตร

ด้านการขนส่งทางน้ำ จังหวัดเซินลาไม่มีท่าเรือขนาดใหญ่ มีเพียงท่าเรือแม่น้ำที่สามารถรองรับเรือขนาดเล็กบริเวณแม่น้ำ Da ทั้งนี้จังหวัดเซินลาตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือของนครไฮฟองประมาณ 405 กิโลเมตร

ด้านการขนส่งทางบก มีถนนหลวง 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ QL4G, QL37 และมีทางหลวงสายเอเชีย AH13 เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงฮานอยและประเทศลาว แต่ด้วยภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง การเดินทางทางบกจึงค่อนข้างลำบาก และใช้เวลานาน

ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดมีนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรม Mai Son มีพื้นที่ 150 เฮกตาร์ นอกจากนี้มีเขตอุตสาหกรรมย่อยบ้าง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอหม็อกเจิว (Moc Chau District)

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดเซินลา 

ที่มา: Google Map (2565)

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเซินลา (GDP) คิดเป็นมูลค่า 58,204 พันล้านด่ง (2.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.5 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 24 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 30 ภาคบริการร้อยละ 39 (ภาษีสินค้าร้อยละ 7)

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปีก่อนหน้า จังหวัดเซินลาถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามโดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่ประมาณ 129,400 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตรวมจากข้าว 206,300 ตัน ข้าวโพด 339,200 ตัน มันสำปะหลัง 487,400 ตัน และผักประมาณ 140,000 ตัน

ด้านการเพาะปลูกไม้ยืนต้น จังหวัดเซินลามีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 100,000 เฮกตาร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการปลูกข้าวและพืชไร่ โดยปี 2564 ได้ผลผลิตกาแฟกว่า 30,000 ตัน ชา 50,000 ตัน และผลไม้ประเภทลำไย ลิ้นจี่ และชมพู่รวมกว่า 180,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีการปลูกกล้วย มะม่วง บ๊วย เสาวรส อโวคาโด ส้ม สาลี่ และสเตอร์เบอรี่อีกด้วย

สินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดเซินลา ได้แก่ ชาเขียว Moc Chau หรือ ชาเขียว Shan Tuyet ซึ่งเป็นผลผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและเย้า โดยเก็บจากต้นชาบนภูเขาสูงเกิน 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งบางต้นมีอายุนับร้อยปี นอกจากนี้เซินลายังมีชื่อเสียงในด้านกาแฟอราบิก้า และมะม่วงกลมอีกด้วย โดยสินค้าทั้งสามชนิดได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเวียดนาม

เนื่องจากจังหวัดเซินลามีพื้นที่ป่าไม้มาก ดังนั้นจึงมีการแปรรูปไม้ ถ่านไม้ รวมถึงงานหัตถกรรมจากไผ่และหวายด้วย โดยปี 2564 มีการแปรรูปไม้ประมาณ 36,000 ลูกบาศก์เมตร ถ่านไม้ 800,000 Ster

ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดเซินลามีขนาดใหญ่ปี 2564 มีโค 367,410 ตัว ในจำนวนดังกล่าวเป็นโคนม 29,150 ตัว โดยผลิตภัณฑ์จากโคนมของจังหวัดเซินลามีชื่อเสียงค่อนข้างมาก นอกจากนี้มีการเลี้ยงกระบือ 123,460 ตัวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศเวียดนาม มีการเลี้ยงสุกร 528,280 ตัว สัตว์ปีก 7.2 ล้านตัว ม้า 6,422 ตัว แพะ 168,675 ตัว รวมถึงมีการเลี้ยงกระต่ายและผึ้งด้วย ส่วนด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 8,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปีก่อนหน้า โดยมาจากการประมง 1,250 ตัน และจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 6,750 ตัน

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ หินก่อสร้าง แปรรูปผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาล ชาแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปมาก

ด้านบริการและการค้า มีมูลค่ามาจากการค้าปลีกเป็นหลัก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ส่วนด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 0.9 ล้านคน การท่องเที่ยวของจังหวัดเซินลาเน้นที่การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชีวิต

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดเซินลา มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 22 และ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 10 โครงการคิดเป็น 135.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมการเกษตร
  • อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและงานหัตถกรรม
  • อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และวัสดุก่อสร้าง
  • การท่องเที่ยววิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดเซินลา: https://sonla.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน:

https://timhieuvietnam.vn/danh-muc-du-an-keu-goi-dau-tu-tinh-son-la

  1. เว็บไซต์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนจังหวัดเซินลา: https://bqlkcn.sonla.gov.vn/
  2. เว็บไซต์ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจังหวัดเซินลา: http://dulich.sonla.gov.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดเซินลา), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong

สำนักงานสถิติจังหวัดเซินลา (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเซินลา ประจำปี 2564

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Cổng thông tin Bộ Nông nghiệp và Phát triển nông thôn (2565), Tỉnh Sơn La phát triển xanh, tái cơ cấu nông nghiệp, retrieved from https://www.mard.gov.vn/Pages/tinh-son-la-phat-trien-xanh-tai-co-cau-nong-nghiep.aspx

TTXVN (2564), Sơn La thích ứng an toàn, linh hoạt, kiểm soát hiệu quả dịch COVID-19, Retrieved from https://ncov.vnanet.vn/tin-tuc/son-la-thich-ung-an-toan-linh-hoat-kiem-soat-hieu-qua-dich-covid-19/b3eefb95-3d46-4078-8f6e-0207f0bdb17e

VnEconomy (2565), Đưa Sơn La trở thành “thủ phủ” trái cây, nông sản, Retrieved from https://vneconomy.vn/dua-son-la-tro-thanh-thu-phu-trai-cay-nong-san.htm

Cổng thông tin tỉnh Sơn La (2565), Đến năm 2025 tỉnh Sơn La phấn đấu phát triển ổn định diện tích cà phê toàn tỉnh 17.000 ha, Retrieved from https://sonla.gov.vn/4/469/61723/649863/tin-kinh-te/den-nam-2025-tinh-son-la-phan-dau-phat-trien-on-dinh-dien-tich-ca-phe-toan-tinh-17-000-ha

Báo Tin Tức (2565), Sơn La khôi phục, kích cầu du lịch thích ứng an toàn với dịch COVID-19, Retrieved from https://baotintuc.vn/du-lich/son-la-khoi-phuc-kich-cau-du-lich-thich-ung-an-toan-voi-dich-covid19-20220112090305574.htm

 

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

302

กำลังเข้าชมขณะนี้

317102

เข้าชมทั้งหมด