ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

กว๋างนิญ

quang ninh

กว๋างนิญ

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดกว๋างนิญมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเวินโด่น (Van Don Special Economic Zone) โดยจากแผนพัฒนา จะเป็นพื้นที่ที่มีกลไกนโยบายพิเศษเพื่อการลงทุนและประกอบธุรกิจ
  • อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดกว๋างนิญ ได้แก่ เหมืองถ่านหิน และการท่องเที่ยว
  • จังหวัดกว๋างนิญ ได้รับการขนานนามว่า “เวียดนามย่อส่วน” เนื่องจากรวมลักษณะพิเศษของภูมิประเทศของทั้งเวียดนามไว้ด้วยกัน โดยมีทั้งทะเล เกาะ ที่ราบลุ่มชายฝั่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบสูง ภูเขา และพื้นที่ชายแดน
  • จังหวัดกว๋างนิญมีความสำคัญทั้งในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และด้านความมั่นคงของประเทศเวียดนาม โดยสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทาง R5 นครไฮฟอง - นครคุนหมิงและเส้นทาง R12 นครพนม - กรุงฮานอย - นครหนานหนิง ได้โดยสะดวก
  • จังหวัดกว๋างนิญมีสินค้าเกษตรและแปรรูปที่ได้รับความคุ้มครองทางภูมิศาสตร์ 4 รายการ ได้แก่ ทอดมันปลาหมึก Ha Long, ดอกตาลเหลือง Yen Tu, หอย Quang Ninh, และหนอนถั่ว Van Dong

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดกว๋างนิญ 

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดกว๋างนิญ เป็น 1 ใน 9 จังหวัดบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม อยู่ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 150 กิโลเมตร  จังหวัดกว๋างนิญมีอาณาเขตด้านทิศเหนือติดประเทศจีน โดยมีด่านชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ ด่านชายแดนนานาชาติม้องก๊าย (Mong Cai International border gate) ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ประเทศจีน ด้านทิศตะวันออกติดกับทะเลจีนใต้ ซึ่งมีหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 2,000 แห่ง ทิศใต้ติดกับนครไฮฟอง และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดหายเซือง (Hai Duong Province) และจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดกว๋างนิญ 

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

จังหวัดกว๋างนิญมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 21 – 23 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,000 – 2,200 มิลลิเมตร  ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดกว๋างนิญได้รับการขนานนามว่าเป็น “เวียดนามย่อส่วน” เนื่องจากมีลักษณะพิเศษของเวียดนามอย่างครบถ้วน ได้แก่ พื้นที่ภูเขาสูง ที่ราบสูงปานกลาง ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล เกาะ และเขตชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

จังหวัดกว๋างนิญมีพื้นที่ทั้งหมด 6,208 ตารางกิโลเมตรแบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 13 พื้นที่ประกอบไปด้วยเมืองฮาล็อง (Ha Long City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่น, เมืองกั๋มฝา (Cam Pha City), เมืองม๊องก๊าย (Mong Cai City) เมืองอวงบี๊ (Uong Bi City)และอีก 9 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดกว๋างนิญ ได้รับการจัดอันดับ 1 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพดีของประเทศเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดกว๋างนิญ มีที่ดินทั้งหมด 620,800 เฮกตาร์เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 10 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 64 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 10 พื้นที่ของจังหวัดมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำ Thai Binh, แม่น้ำ Ka Long, แม่น้ำ Tien Yen และแม่น้ำ Ba Che

จังหวัดกว๋างนิญมีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยพื้นที่อ่าวฮาล็อง (Ha Long Bay) ได้การรับรองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก้ถึง 2 ครั้งเมื่อปี 2537 และปี 2543 นอกจากนี้ยังได้รับรองว่าเป็นหนึ่งในอ่าวที่สวยที่สุดของโลกเมื่อปี 2557 ร่วมกับอ่าวลังโก (Lang Co Bay, Hue Province) และอ่าวญาจาง (Nha Trang Bay, Khanh Hoa Province) ซึ่งจัดโดยสมาคม World Bays ปัจจุบันอ่าวฮาล็องร่วมกับเกาะก๊าตบ่า (Cat Ba Islands) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับชาติของเวียดนาม

จังหวัดกว๋างนิญมีปริมาณถ่านหินมากถึง 3,600 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของทั้งประเทศ ทำให้มีอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีหินปูน หินกระเบื้อง ดินขาว และมีน้ำแร่ธรรมชาติในปริมาณมากอีกด้วย

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดกว๋างนิญ มีประชากรทั้งหมด 1.35 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.8 ล้านคน จังหวัดกว๋างนิญมีมหาวิทยาลัย 4 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะ 11แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 4.68 ล้านด่งต่อเดือน (139 –200 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามพื้นที่ที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP)

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการขนส่งทางอากาศ จังหวัดกว๋างนิญมีสนามบินนานาชาติวันโด่ง (Van Dong International Airport:VDO) มีเที่ยวบินตรงจากนครโฮจิมินห์ 3 เที่ยวบินต่อวัน นครดานังและกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติก๊าตบี นครไฮฟอง (Cat Bi International Airport:HPH) ซึ่งมีเที่ยวบินตรงนานาชาติและภายในประเทศ ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 90 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.5 ชั่วโมง

ด้านการขนส่งทางน้ำ จังหวัดกว๋างนิญมีท่าเรือขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือ Cai Lan (Cai Lan International Port) รองรับเรือขนาด 30,000 – 40,000 ตันและมีระบบจัดการโลจิสติกส์ครบถ้วนใช้ในการขนส่งซีเมนต์ และสินค้าเกษตรเป็นหลัก, ท่าเรือ Van Gia รองรับเรือขนาด 10,000 ตัน, ท่าเรือ Cua Ong รองรับเรือขนส่งถ่านหินขนาด 50,000 ตัน, ท่าเรือ Hon Net สำหรับเทียบท่าและต่อเรือขนาดใหญ่ และท่าเรือ Mui Chua รองรับเรือขนาด 1,000 ตัน นอกจากนี้ยังสามารถขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือนานาชาติไฮฟองอีกด้วย

ด้านการขนส่งทางบก จังหวัดกว๋างนิญสามารถเดินทางเข้าสู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสาย R5 นครไฮฟอง – นครคุนหมิง และเส้นทาง R12 นครพนม – กรุงฮานอย – นครหนานหนิงได้โดยสะดวกเนื่องจากมีระบบคมนาคมขนส่งทางบกทั้งถนนหลวง ถนนทางด่วน และรถไฟครบครัน โดยมีเส้นทางหลวง ได้แก่ QL4B, QL18 และ QL18C ทั้งนี้จังหวัดกว๋างนิญสามารถส่งสินค้าไปสู่ประเทศจีนผ่านด่านชายแดนนานาชาติม้องก๊าย (Mong Cai International border gate) เชื่อมกับด่านตงชิง ซึ่งเป็นเส้นทางมุ่งสู่นครหนานหนิงของประเทศจีนบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ R12 นอกจากนี้จังหวัดกว๋างนิญยังมีด่านชายแดนอีก 2 แห่ง ได้แก่ ด่านชายแดน Hoanh Mo และด่านชายแดน Bac Phong Sinh

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดกว๋างนิญ 

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดกว๋างนิญมีเขตเศรษฐกิจ 4 แห่งและนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ได้แก่

  1. เขตเศรษฐกิจเวินโด่น (Van Don Economic zone) มีพื้นที่ 217,133 เฮกตาร์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งจะยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีกลไกส่งเสริมการค้าและการลงทุนเฉพาะพื้นที่
  2. เขตเศรษฐกิจด่านชายแดนนานาชาติม้องก๊าย (Mong Cai border economic zone) มีพื้นที่รวมทั้งหมด 121,197 เฮกตาร์ทั้งรวมพื้นที่ทางบกและทางทะเล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในด้านความมั่นคง จึงได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองอย่างดี
  3. เขตเศรษฐกิจด่านชายแดนระดับชาติฮวันโม – ด่งวัน (Hoanh Mo – Dong Van border economic zone) มีพื้นที่ 14,236 เฮกตาร์
  4. เขตเศรษฐกิจด่านชายแดนระดับชาติบั๊กฟองซิญ – (Hoanh Mo – Dong Van border economic zone) มีพื้นที่ 9,404.79 เฮกตาร์
  5. นิคมอุตสาหกรรม Cai Lan มีพื้นที่ 245 เฮกตาร์ มีธุรกิจท่าเรือ การจัดการโลจิสติกส์ ผลิตตู้คอนเทนเนอร์ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้แปรรูป แปรรูปสินค้าเกษตร
  6. นิคมอุตสาหกรรม Viet Hung มีพื้นที่ 300.93 เฮกตาร์
  7. นิคมอุตสาหกรรม Hai Yen มีพื้นที่ 182.4 เฮกตาร์
  8. นิคมอุตสาหกรรม Dong Mai มีพื้นที่ 160 เฮกตาร์
  9. นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ Hai Ha มีพื้นที่ 4,988 เฮกตาร์
  10. นิคมอุตสาหกรรมบริการ Dam Nha Mac มีพื้นที่ 3,710 เฮกตาร์
  11. นิคมอุตสาหกรรม Song Khoai พื้นที่ 483 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดกว๋างนิญ (GDP) คิดเป็นมูลค่า 238,186 พันล้านด่ง (10.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.28 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 5 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 53 ภาคบริการร้อยละ 30 (ภาษีสินค้าร้อยละ 12)

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดกว๋างนิญ ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากปีก่อนหน้า จังหวัดกว๋างนิญมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่ประมาณ 44,100 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าว 199,800 ตัน และข้าวโพด 23,400 ตัน และผักชนิดต่าง ๆ 180,000 ตัน ปี 2564 จังหวัดกว๋างนิญมีพื้นที่เพาะปลูกไม้ยืนต้นประมาณ 7,000 เฮกตาร์ มีการปลูกชา ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ส้ม เป็นต้น  ส่วนด้านการป่าไม้ มีพื้นที่ป่าเพื่อการอุตสาหกรรม 11,700 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตไม้แปรรูปทั้งหมด 371,000 ลูกบาศก์เมตร

ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดกว๋างนิญมีขนาดเล็กปี 2564 มีโคกระบือรวมกัน 64,672 ตัว สุกร 252,730 ตัว สัตว์ปีก 4.1 ล้านตัว ส่วนด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 91,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดกว๋างนิญ ได้แก่ อุตสาหกรรมถ่านหินซึ่งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าและสิ่งทอ ซีเมนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมายังมีการลงทุนก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและโรงแรมต่างๆ จากเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Vingroup, Sungroup, FLC และ Amata ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเติบโตอย่างรวดเร็ว

ด้านบริการและการค้ามีมูลค่ามาจากการค้าปลีก บริการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ บริการอาหารและการท่องเที่ยว ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ทั้งนี้ ด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 4.38 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 7,745 พันล้านด่ง (0.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) การท่องเที่ยวของจังหวัดกว๋างนิญเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การจัดงานนิทรรศการและแสดงสินค้า (MICE) โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก เช่น อ่าวฮาล็อง (Ha Long Bay) ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดกว๋างนิญ มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 3,161 และ 3,487 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 152 โครงการคิดเป็น 7.916.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 10 โครงการ มูลค่า 1,011.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัดกว๋างนิญในด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการการท่องเที่ยว เช่น

  • พัฒนานิคมอุตสาหกรรม Song Khoai โดยเครือบริษัทอมตะ
  • โรงแรม Ha Long – Dream โดยบริษท S.K.R International จำกัด

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และโลจิสติกส์
  • อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป
  • การท่องเที่ยวและการค้า
  • การเกษตร

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกว๋างนิญ: https://quangninh.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน: https://investinquangninh.vn/danh-muc-du-an/
  3. เว็บไซต์ส่งเสริมการลงทุนและการค้าจังหวัดกว๋างนิญ: http://investinquangninh.vn/
  4. เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกว๋างนิญ: https://halongtourism.com.vn/
  5. เว็บไซต์ท่าเรือน้ำลึกก๊ายเลิน: http://cailanportinvest.com.vn/
  6. เว็บไซต์คณะกรรมการบริหารนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดกว๋างนิญ: http://qeza.gov.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดกว๋างนิญ), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong

สำนักงานสถิติจังหวัดกว๋างนิญ (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดกว๋างนิญ ประจำปี 2564

World Bays (2563), Vietnam’s Bays, retrieved from https://world-bays.com/category/bays/asia/vietnam/

UNESCO (2563), Ha Long Bay, retrieved from http://whc.unesco.org/en/list/672

Báo Quảng Ninh (2565), Tái cơ cấu các khu vực kinh tế, Retrieved from https://baoquangninh.com.vn/tai-co-cau-cac-khu-vuc-kinh-te-3165180.html

BPTV (2564), Nông nghiệp Quảng Ninh tiếp tục giữ vững đà tăng trưởng, Retrieved from

https://baobinhphuoc.com.vn/news/4/126743/nong-nghiep-quang-ninh-tiep-tuc-giu-vung-da-tang-truong

Cổng thông tin điện tử Bộ Văn hóa, Thể thao và Du lịch (2564), Du lịch Quảng Ninh phấn đấu đạt 9,5 triệu khách du lịch năm 2022, Retrieved from https://bvhttdl.gov.vn/du-lich-quang-ninh-phan-dau-dat-95-trieu-khach-du-lich-nam-2022-20211227080549031.htm

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

184917

เข้าชมทั้งหมด