ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

กว๋างหงาย

quang ngai

กว๋างหงาย

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดกว๋างหงายมีเขตเศรษฐกิจซุงเกวิ๊ต (Dung Quat Economic Zone) เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักและท่าเรือขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับนครดานัง และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) หรือเส้นทาง R2 (เส้นทาง R9)
  • จังหวัดกว๋างหงายมีอุตสาหกรรมการแปรรูปไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รวมถึงมีโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ของบริษัท Hoa Phat ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
  • จังหวัดมีสินค้าที่รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2 รายการ ได้แก่ กระเทียม Ly Son และอบเชย Tra Bong

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดกว๋างหงาย

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดกว๋างหงายเป็น 1 ใน 8 จังหวัดและนครบริเวณชายฝั่งภาคกลางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม อยู่ห่างจากนครดานังซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของภาคกลางประมาณ 160 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ 883 และ 840 กิโลเมตรตามลำดับ  จังหวัดกว๋างหงายมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือของจังหวัดกว๋างหงายติดจังหวัดกว๋างนาม (Quang Nam Province) ทิศตะวันออกติดทะเลจีนใต้ ทิศใต้ติดกับจังหวัดบิ่ญดิ่ญ และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดซาลาย (Gia Lai Province) และจังหวัดกอนตูม (Kon Tum Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดกว๋างหงาย

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดกว๋างหงายเป็นภูเขาสูงทางด้านตะวันตก และค่อย ๆ ลดระดับจนเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออก มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 27 – 30 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี

จังหวัดกว๋างหงายมีพื้นที่ทั้งหมด 5,156 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 13 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองกว๋างหงาย (Quang Ngai City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่น และอีก 12 อำเภอ โดยมีอำเภอ Ly Son เป็นเกาะนอกชายฝั่งของจังหวัดกว๋างหงาย

ในปี 2564 จังหวัดกว๋างหงายได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 45 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดกว๋างหงายมีที่ดินทั้งหมด 515,600 เฮกตาร์ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 29 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 58 และพื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ ร้อยละ 7 โดยมีแม่น้ำ 4 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำ Tra Bong, Tra Khuc, Ve และ Tra Cau  ในด้านทรัพยากร พบว่ามีแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ เหล็ก บอกไซต์ ทองแดง อาร์เซน วุลเฟรม โมลิบดีนัม ทอง อัญมณี ดินขาว ถ่านหิน กราไฟท์ เฟลด์สปาร์ หินปูนปะการัง หินและทรายก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำร้อนธรรมชาติ 7 แห่ง และมีแหล่งน้ำมันดิบนอกชายฝั่งด้วย

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดกว๋างหงายมีประชากรทั้งหมด 1.24 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 0.67 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะ 6 แห่ง ฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ขึ้นอยู่กับพื้นที่ (Decree No.38/2022/NĐ-CP)

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดกว๋างหงายไม่มีสนามบิน แต่สามารถเดินทางผ่านสนามบินจูลาย (Chu Lai Airport:CVL) จังหวัดกว๋างนาม ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 35 กิโลเมตร

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดกว๋างหงายมีท่าเรือน้ำลึกซุงเกวิ๊ตที่สามารถรองรับเรือขนาดสูงสุด 30,000 ตัน และตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจซุงเกวิ๊ต (Dung Quat Economic Zone)

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดกว๋างหงาย

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค มีถนนทางหลวง ได้แก่ QL1A, QL24 และ QL24B รวมถึงระบบการขนส่งทางรถไฟเชื่อมโยงการเดินทางภายในและระหว่างจังหวัด ทั้งนี้ สามารถเดินทางเข้าสู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) หรือเส้นทาง R2 (เส้นทาง R9) ระยะทาง 240 กิโลเมตร ผ่านเมืองเปลกู จังหวัดซาลาย

ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดกว๋างหงายมีเขตเศรษฐกิจซุงเกวิ๊ต บนพื้นที่กว่า 45,332 เฮกตาร์ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป และการประกอบรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ จังหวัดกว๋างหงายยังมีนิคมอุตสาหกรรมอีก 4 แห่ง ได้แก่

  1. นิคมอุตสาหกรรม Pho Phong พื้นที่ 157 เฮกตาร์
  2. นิคมอุตสาหกรรม Quang Phu พื้นที่ 92 เฮกตาร์
  3. นิคมอุตสาหกรรม Tinh Phong พื้นที่ 70 เฮกตาร์
  4. นิคมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย VSIP พื้นที่ 1700 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 จังหวัดกว๋างหงายมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 88,124 พันล้านด่ง (3.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.5 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 20ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 36 และภาคบริการร้อยละ 28

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดกว๋างหงาย ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากปีก่อนหน้า โดยจังหวัดกว๋างหงายมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่ประมาณ 120,718 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าว 443,335 ตัน ข้าวโพด 59,322 ตัน มันสำปะหลัง 317,877 ตัน อ้อย 22,658 ตัน และผักชนิดต่าง ๆ 235,272 ตัน นอกจากนี้ มีพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นประมาณ 50,000 เฮกตาร์ โดยมีการปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ยางพารา พริกไทย กล้วย สับปะรด มะม่วง ลำไย และส้ม

ในปี 2564 จังหวัดกว๋างหงายมีการแปรรูปไม้มากที่สุดของเวียดนาม โดยทั้งหมดเป็นการแปรรูปไม้จากป่าปลูกซึ่งมีพื้นที่ 142,876 เฮกตาร์ ได้ไม้ทั้งหมด 2.06 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดกว๋างหงายมีขนาดปานกลาง ในปี 2564 มีการเลี้ยงโคกระบือประมาณ 350,520 ตัว สุกร 0.37 ล้านตัว และสัตว์ปีก 5.6 ล้านตัว  ในส่วนของการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 272,830 ตัน โดยมาจากการประมงชายฝั่ง 260,690 ตัน และจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 8,140 ตัน

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปีก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมขุดเจาะและกลั่นน้ำมัน เหล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง อาหารทะเลแปรรูป น้ำตาล เกลือทะเล อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในส่วนของการท่องเที่ยวในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 0.3 ล้านคน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 235 พันล้านด่ง (10.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเน้นการท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลและการท่องเที่ยวแบบผจญภัย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น เกาะลี้เซิน (Ly Son Islands) แนวปะการังพ้นน้ำ Ganh Yen และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Kon Chu Rang เป็นต้น

 

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดกว๋างหงายมีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้า คิดเป็น 4,273 และ 2,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 59 โครงการ คิดเป็น 2,002.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564  มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 2 โครงการเป็นมูลค่า 24.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จังหวัดกว๋างหงายมีโครงการลงทุนโดยตรงจากไทย ได้แก่

ที่

ชื่อธุรกิจ

สาขา/อุตสาหกรรม

1

บริษัท Kaefer-Quang Ngai จำกัด

บริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม

2

บริษัท Freetex Elastic Fabric Factory จำกัด (Dung Quat)

ผลิตผ้ายืดและสิ่งทอ

3.

บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิต 49 เมกกะวัตต์

4

Go! Quang Ngai

ธุรกิจค้าปลีก

2.3 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี
  • โรงงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า
  • อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง
  • โครงสร้างพื้นฐาน

แหล่งข้อมูลอื่นที่น่าสนใจ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกว๋างหงาย: https://quangngai.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน: https://skhdt.quangngai.gov.vn/web/so-ke-hoach-va-dau-tu/danh-muc-du-an-trong-diem-thu-hut-dau-tu
  3. ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนและการค้าจังหวัดกว๋างหงาย: http://ipc.quangngai.gov.vn/
  4. ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกว๋างหงาย: https://dulichquangngai.info/
  5. ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดกว๋างหงายโดยละเอียด: https://dudiachi.quangngai.gov.vn/trangchu.htm

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดกว๋างหงาย), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-trung/thong-tin-dia-phuong

สำนักงานสถิติกว๋างหงาย (2564), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดกว๋างหงาย ประจำปี 2564

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Người Lao Động (2563), Ngắm tuyệt tác san hô cực đẹp ở Gành Yến – Quảng Ngãi, retrieved from https://nld.com.vn/thoi-su/ngam-tuyet-tac-san-ho-cuc-dep-o-ganh-yen-quang-ngai-20200611114211952.htm

 

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

475

กำลังเข้าชมขณะนี้

281249

เข้าชมทั้งหมด