ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

กว๋างนาม

quang nam

กว๋างนาม

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดกว๋างนามเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 6 ของเวียดนาม โดยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เพียบพร้อมทั้งสนามบินในประเทศ ท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจเปิดจูลาย (Chu Lai Open Economic Zone) มีอาณาเขตติดกับนครดานัง ศูนย์กลางของภาคกลางเวียดนาม และมีประตูชายแดนระหว่างเวียดนามและประเทศลาว
  • มีอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นที่สุดของจังหวัดกว๋างนาม โดยมีเครือบริษัท Truong Hai (THACO) ที่ผลิตรถบรรทุก รถบัส รวมถึงประกอบรถยนต์ให้กับบริษัท KIA (เกาหลี), Mazda, Mitsubishi Fuso (ญี่ปุ่น), Peugeot (ฝรั่งเศส) และ BMW/MINI (เยอรมัน)
  • มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีมรดกโลกที่ได้รับการรับรองจาก UNESCO 2 แห่งที่สำคัญ คือ เมืองฮอยอัน (Hoi An City) และโบราณสถาน My Son ซึ่งเป็นศาสนสถานของชาวจามปาที่มีอายุกว่า 900 ปี นอกจากนี้ ยังมีเกาะจาม (Cu Lao Cham) ที่ได้รับเป็นเขตสงวนชีวมณฑลเนื่องจากมีทรัพยากรทางธรรมชาติหลากหลาย
  • มีสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตัวชี้วัดทางภูมิศาสตร์ 2 รายการ ได้แก่ อบเชย Tra My และรังนก Cu Lao Cham
  • จังหวัดกว๋างนามได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่มิตร (Sister City) กับจังหวัดอุบลราชธานีของประเทศไทยเมื่อปี 2557 จัดเป็นเมืองคู่มิตรคู่ที่ 65

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

กว๋างนาม เป็น 1 ใน 7 จังหวัดและนคร บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของประเทศเวียดนาม หรือภาคตะวันตกของประเทเวียดนามอยู่ห่างจากนครดานัง 60 กิโลเมตร ทางทิศเหนือติดกับจังหวัดเถื่อเทียน-เว้ (Thua Thien – Hue Province) และนครดานัง ทิศตะวันออกเป็นติดทะเลจีนใต้ ทิศใต้ติดกับจังหวัดกว๋างหงาย (Quang Ngai Province) และกอนตูม (Kom Tum Province) ทางด้านทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเซกอง ประเทศลาว

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ที่ค่อยๆ ลดระดับจากทางด้านตะวันตกไปทางตะวันออก โดยมีที่ราบสูงในส่วนกลาง และที่ราบตามชายฝั่งทะเล จังหวัดกว๋างนามมีพื้นที่ติดทะเลยาวถึง 125 กิโลเมตร มีชายหาดสวยงามหลายแห่ง และมีเกาะจาม (Cu Lao Cham) ที่ได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นเขตสงวนชีวมณฑล

อุณภูมิโดยเฉลี่ยของจังหวัดที่ 25 – 27 องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากอิทธิพลจากกระแสลมตามฤดูกาล ในช่วงหน้าร้อนอาจจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,830 มิลลิเมตร กว่าร้อยละ 70 ฝนจะตกมากช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม

จังหวัดกว๋างนามมีพื้นที่ทั้งหมด 10,438 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 18 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองที่สำคัญ คือ เมืองตามกี่ (Tam Ky) , เมืองฮอยอัน (Hoi An) และอีก 16 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดกว๋างนามได้รับการจัดอันดับ 19 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดกว๋างนามมีที่ดินทั้งหมด 1,043,800 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่ป่าไม้กว่าร้อยละ 63 ปลูกไม้ยืนต้นและพืชหมุนเวียน คิดเป็นร้อยละ 21 นอกจากนั้นเป็นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่นๆ

จังหวัดเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรไม้สะสมประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีการพบโสมเวียดนาม (Ngoc Linh) บนพื้นที่เขาสูงที่ติดกับจังหวัดกอนตูม โดยจัดเป็นโสมลำดับที่ 20 โลกอีกด้วย

ตามข้อมูลการสำรวจ จังหวัดกว๋างนามมีแร่ธาตุต่างๆ กว่า 45 ชนิด แร่ธาตุที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ถ่านหิน ทอง ยูเรเนียม เฟลด์สปาร์ ดินขาว (Kaolin) ทรายแก้ว ไทเทเนียม แร่ธาตุสำหรับทำวัสดุก่อสร้าง และแหล่งน้ำแร่และน้ำร้อนธรรมชาติ

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดกว๋างนาม มีประชากรทั้งหมด 1.5 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.91 ล้านคน กว๋างนามมีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะอีก 7 แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 4.16 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 178 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามกฎหมายว่าด้วยค่าแรงพื้นฐานปี 2565 (Decree No.38/2022/NĐ-CP)

จังหวัดกว๋างนามเป็นสถานที่ ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานอย่างน้อย 2,500 ปี โดยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรซาหวิ่น และต่อมา คือ อาณาจักรจามปา ซึ่งมีโบราณสถาน มรดกโลก My Son (My Son Sanctuary) ที่ได้รับรองจากองค์กรยูเนสโก้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และยังมีเมืองท่าฮอยอัน (Hoi An City) ที่เคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าที่มีความรุ่งเรืองมากในช่วงศตวรรษที่ 16 – 17 มีชาวจีน ชาวญี่ปุ่น รวมถึงชาวยุโรปเข้ามาทำการค้าและอยู่อาศัยมาก ทำให้เมืองฮอยอัน มีสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน และได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก้เมื่อปี พ.ศ. 2542  ทำให้กว๋างนามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดกว๋างนามอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติดานัง ซึ่งมีเที่ยวบินจากประเทศเกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในตัวจังหวัดยังมีสนามบินภายในประเทศจูลาย ที่มีเที่ยวบินตรงจากฮานอยและโฮจิมินห์ทุกวัน จากแผนยุทธศาสตร์พัฒนาท่าอากาศยาน สนามบินจูลายเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมีพื้นที่โดยรวม 2,006 เฮกตาร์ โดยมีแผนพัฒนาให้เป็นสนามบินเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและผู้โดยสารที่อยู่ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดมีท่าเรือน้ำลึกนานาชาติและศูนย์จัดการโลจิสติกส์ Chu Lai – Ky Ha สามารถรองรับเรือที่มีน้ำหนัก 20,000 ตัน และ เชื่อมเขตอุตสาหกรรมเปิดจูลาย นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับท่าเรือนานาชาติ Dung Quat ในจังหวัดกว๋างหงายอีกด้วย

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดกว๋างนาม

ที่มา: Google Map (2563)

ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดกว๋างนามมีระบบมีถนนทางหลวง ได้แก่ QL1A, QL14B, QL14D, QL14E, QL14G และทางหลวงสายเอเชีย AH17 เชื่อมไปยังจังหวัดอื่นและประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านชายแดนนานาชาตินามซาง (Nam Giang Border Gate) โดยฝั่งลาวคือด่านดากตาอ๋อก แขวงเซกอง ซึ่งเวียดนามเรียกว่าเป็นเส้นทาง EWEC2 อย่างไรก็ตาม เส้นทาง EWEC2 โดยด่านนามซางได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างเวียดนาม ลาว และไทย นอกจากนี้การคมนาคมขนส่งยังสามารถผ่านด่านชายแดนนานาชาติลาวบ๋าว (Lao Bao International Border gate) หรือด่านนานาชาติเลเล็ย (La Lay International Border gate) จังหวัดกว๋างจิ และแม้ว่ากว๋างนามไม่ได้อยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) หรือเส้นทาง R9 แต่สามารถเชื่อมโยงการค้าผ่านนครดานัง หรือจังหวัดกว๋างจิได้โดยสะดวก

ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม ตามข้อมูลจากกรมส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) จังหวัดกว๋างนามมีเขตอุตสาหกรรมหลายแห่ง และหลายรูปแบบ ได้แก่

  1. เขตอุตสาหกรรมเปิดจูลาย (Chu Lai Open Economic Zone) รวมเขตอุตสาหกรรมย่อย 5 แห่ง บนพื้นที่กว่า 42,000 เฮกตาร์ พัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ เทคโนโลยีการสื่อสาร ผลิตวัสดุก่อสร้าง แก้ว สินค้าจากทรายซิลิคอน แปรรูปไม้และเฟอร์นิเจอร์
  2. เขตเศรษฐกิจชายแดนเวียดนาม – ลาว Nam Giang ซึ่งเป็นทั้งด่านชายแดน ศูนย์การค้า และเขตปลอดภาษี
  3. นิคมอุตสาหกรรม Dien Nam – Dien Ngoc (357.08 เฮกตาร์)
  4. นิคมอุตสาหกรรม Tam Thang (800 เฮกตาร์)
  5. นิคมอุตสาหกรรม Nui Thanh (436 เฮกตาร์)
  6. นิคมอุตสาหกรรม Nam Thang Binh (655 เฮกตาร์) และนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง Thang Binh (310 เฮกตาร์)
  7. นิคมอุตสาหกรรมก๊าซ – พลังงานและสินค้าจากก๊าซธรรมชาติ (410 เฮกตาร์)
  8. นิคมอุตสาหกรรม Tam Hiep (530 เฮกตาร์)

2. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดกว๋างนาม (GDP) คิดเป็นมูลค่า 102,000 พันล้านด่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 14 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 35 ภาคบริการร้อยละ 33 ภาษีจากสินค้าร้อยละ 18
ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดกว๋างนาม ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากปีก่อนหน้า ในด้านการเพาะปลูก จังหวัดกว๋างนามผลิตข้าวได้ 462,000 ตัน ขณะเดียวกันก็มีการเพาะปลูกผัก ยางพารา ชา พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์
จังหวัดกว๋างนามแปรรูปไม้เป็นอันดับต้นๆ ของเวียดนาม ปี 2564 ทั้งหมด 1,526,000 ลูกบาศก์เมตร โดยเป็นป่าปลูกมากถึง 20,600 เฮกตาร์ มีการพัฒนาและปลูกพืชสมุนไพร และเครื่องเทศ ได้แก่ อบเชย ปาจีเทียน (Morinda Officinalis) ตังเซียม (Codonopsis Pilosula) รวมถึงโสมเวียดนาม (โสม Ngoc Linh) ในพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดกว๋างนามมีขนาดปานกลาง ปี 2564 มีการเลี้ยงกระบือ 58,600 ตัว โค 173,200 ตัว สุกร 326,800 ตัว และสัตว์ปีก 8.3 ล้านตัว ส่วนด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมด 127,000 ตัน มาจากการประมงชายฝั่ง 98,000 ตัน และเพาะเลี้ยง 29,210 ตัน โดยผลผลิตส่วนใหญ่ คือ ปลาทะเล ปลาน้ำกร่อย ปลาน้ำจืด และกุ้งน้ำกร่อย
ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากปี 2563 โดยสินค้าสำคัญของจังหวัด ได้แก่ รถยนต์ รถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่ หินสำหรับก่อสร้าง ทราย ธรรมชาติ ไม้ สินค้าจากยางพารา เนื้อปลาสดและแช่แข็ง เครื่องดื่ม สินค้าประเภทไม้ เสื้อผ้า เป็นต้น
อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นที่สุดของจังหวัดกว๋างนาม โดยมีเครือบริษัท Truong Hai (THACO) ที่ผลิตรถบรรทุก รถบัส รวมถึงประกอบรถยนต์ให้กับบริษัท KIA (เกาหลี), Mazda, Mitsubishi Fuso (ญี่ปุ่น), Peugeot (ฝรั่งเศส) และ BMW/MINI (เยอรมัน)
ด้านบริการและการค้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ส่วนการท่องเที่ยว จังหวัดกว๋างนามมีสถานที่ท่องเทียวที่มีชื่อเสียงมากของเวียดนามหลายแห่ง ได้แก่ เมืองมรกดโลกฮอยอัน โบราณสถานหมีเซิน และเกาะจาม เป็นต้น ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดหยุดชะงักเกือบตลอดทั้งปี 2564 โดยในปี 2564 มีนักเที่ยวทั้งหมด 0.48 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด 13,000 คน
ด้วยนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ จังหวัดกว๋างนามได้รับเลือกให้เป็นเมืองท่องเที่ยวประจำปี 2565 ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นเมืองนำร่องเพื่อการท่องเที่ยวสีเขียว สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาอย่างยั่งยืน จังหวัดกว๋างนามคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 4.2 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 1.7 ล้านคน และจะสร้างรายได้เข้าจังหวัด 14,000 พันล้านด่ง (598.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดกว๋างนาม มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 2,189 และ 1,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 คิดเป็น 6,058.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 7 โครงการเป็นมูลค่า 39.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัดกว๋างนามหลายโครงการ เช่น
ที่ ชื่อธุรกิจ ประเภทธุรกิจ
1 บริษัท Hi Tech Vietnam Apparel โรงงานผลิตเครื่องนุ่มห่มและสิ่งทอ
2 บริษัท Thai Viet Agri Group โรงงานผลิตและแปรรูปอาหารสัตว์
3 บริษัท Thai Viet Swine Line ฟาร์มเลี้ยงสุกร
4 บริษัท Shaiyo Triple A Quang Nam โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้
5 บริษัท Thai Viet Agri Group ฟาร์มเลี้ยงสุกร
โรงงานอาหารสัตว์
6 บริษัท Quoc Te Kings ร้านอาหารและบริการด้านอาหารอื่น

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
● อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เครื่องจักรการเกษตร และอุปกรณ์อะไหล่เครื่องบิน
● อุตสาหกรรมการสนับสนุนและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์
● อสังหาริมทรัพย์ และโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
● การท่องเที่ยว

  1. 3. แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกว๋างนาม https://quangnam.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน (ภาษาเวียดนาม) https://soyte.quangnam.gov.vn/webcenter/portal/bqlchulai/pages_tin-tuc/chi-tiet?dDocName=PORTAL326272
  3. ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกว๋างนาม: http://quangnamtourism.com.vn/en/
  4. เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจังหวัดกว๋างนาม: http://quangnamtrade.com.vn/home/index.php

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดกว๋างนาม), สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 จาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดกว๋างนาม (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเบ๊นแจ ประจำปี 2564

สภาประชาชนจังหวัดกว๋างนาม (2562), Decision No.553/2018/QD-TTg ของนายกรัฐมนตรีเวียดนามเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดกว๋างนามถึงปี 2020, มุ่งเน้นปี 2030

Thaco Group (2565), ข้อมูลบริษัทเครือ Truong Hai จาก https://www.thacogroup.vn/gioi-thieu

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Đài phát thanh Truyền hình Quảng Nam (2565), Quảng Nam: 6 tháng đầu năm 2022 doanh thu du lịch ước đạt 1.710 tỷ đồng, Retrieved from http://qrt.vn/kinh-te-kinh-te-xa-hoi/quang-nam-6-thang-dau-nam-2022-doanh-thu-du-lich-uoc-dat-1-710-ty-dong

Quốc tế Phú Ninh (2565), Khu công nghiệp Quảng Nam, Retrieved from https://quoctephuninh.vn/khu-cong-nghiep-quang-nam/

Báo Chính phủ Việt Nam (2565), Thu hút đầu tư vào cơ khí – nền tảng của công nghiệp hiện đại, Retrieved from https://baochinhphu.vn/thu-hut-dau-tu-vao-co-khi-nen-tang-cua-cong-nghiep-hien-dai-102220327151125515.htm

Báo Chính phủ Việt Nam (2565), Quảng Nam: Nhiều tiềm lực để phát triển công nghiệp hỗ trợ, Retrieved from https://baochinhphu.vn/quang-nam-nhieu-tiem-luc-de-phat-trien-cong-nghiep-ho-tro-10222071216505129.htm

Vn Economy (2565), Lập tổ công tác nghiên cứu chuyển 2 sân bay quân sự thành sân bay lưỡng dụng, retrieved from https://vneconomy.vn/lap-to-cong-tac-nghien-cuu-chuyen-2-san-bay-quan-su-thanh-san-bay-luong-dung.htm

Tuổi trẻ (2564), Khai trương cặp cửa khẩu quốc tế Nam Giang – Đắc Tà Oọc, https://tuoitre.vn/khai-truong-cap-cua-khau-quoc-te-nam-giang-dac-ta-ooc-20210814141008657.htm

VnExpress (2565), Quảng Nam sẽ đón 4,2 triệu du khách năm 2022, Retrieved from https://vnexpress.net/quang-nam-se-don-4-2-trieu-du-khach-nam-2022-4430617.html

 

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

200510

เข้าชมทั้งหมด