ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป
- การประมงจับปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฟู้เอียนมาอย่างยาวนาน ผลผลิตที่ได้ส่งออกให้กับประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศในกลุ่มอาเซียน
- ฟู้เอียนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวเวียดนามและชาวต่างชาติที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงามแปลกตา เช่น แท่งหิน บะซอลต์สีดำ (Đá Đĩa) และจุดตะวันออกสุดของประเทศคือแหลม Mũi Điện
- มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม
- ฟู้เอียนมีสินค้าเกษตรที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2 รายการ ได้แก่ หอยแครง O Loan และกุ้งมังกรประเหลือง Phu Yen
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดฟู้เอียน
1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง
ฟู้เอียนเป็น 1 ใน 8 จังหวัดและนครบริเวณชายฝั่งภาคกลางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม อยู่ระหว่างนครโฮจิมินห์และนครดานัง โดยมีระยะห่างจากนครโฮจิมินห์ 550 กิโลเมตร และห่างจากนครดานัง 440 กิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากเมืองญาจาง จังหวัดคั้ญฮว่า 150 กิโลเมตร เมืองกวีเญิน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ 135 กิโลเมตร จังหวัดฟู้เอียนมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือของจังหวัดฟู้เอียนติดจังหวัดบิ่ญดิ่ญ (Binh Dinh Province)ทิศตะวันออกติดทะเลจีนใต้ ทิศใต้ติดจังหวัดคั้ญฮว่า (Khanh Hoa Province) และจังหวัดดั๊กลั๊ก (Dak Lak Province) และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดซาลาย (Gia Lai Province)
รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดฟู้เอียน
ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดล้อมรอบด้วยภูเขาถึงสามด้าน มีที่ราบลุ่มขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวบริเวณเมืองตวี่ฮว่า (Tuy Hoa City) อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของจังหวัดอยู่ที่ 27 – 30 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,600 – 1,700 มิลลิเมตร ฤดูฝนค่อนข้างสั้นเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี
จังหวัดฟู้เอียนมีพื้นที่ทั้งหมด 5,026 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 9 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองที่สำคัญ คือ เมืองตวี่ฮว่า (Tuy Hoa City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่นและอีก 8 อำเภอ
ปี 2564 ฟู้เอียนได้รับการจัดอันดับ 35 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม
1.2 ทรัพยากร
1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดฟู้เอียนมีที่ดินทั้งหมด 502,600 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 33 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 52 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 8
จังหวัดฟู้เอียนมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำ Da Rang, Ban Thach และแม่น้ำ Ky Lo ทำให้จังหวัดมีน้ำจืดเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม รวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อน นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่มีแหล่งน้ำแร่ถึง 4 แห่ง ส่วนด้านทรัพยากรแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ แร่ไดอะตอมไมท์ หินแกรนิต แร่ทอง บอกไซต์ แร่เหล็ก แร่ฟลูออไรต์ ไทเทเนียม เป็นต้น
1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม
ปี 2564 จังหวัดฟู้เอียนมีประชากรทั้งหมด 0.87 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.47 ล้านคน ฟู้เอียนมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะอีก 3 แห่ง ฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.54 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ขึ้นอยู่กับพื้นที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP)
1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดฟู้เอียนมีสนามบินภายในประเทศตวี่ฮว่า (Tuy Hoa Airport:TBB) มีเที่ยวบินจากกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ทุกวัน
ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดฟู้เอียนมีท่าเรือขนสินค้าภายในประเทศ คือ ท่าเรือหวุงโร (Vung Ro Port) เป็นท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือขนาด 3,000 ตัน มีสินค้าขนส่งผ่านท่าเรือนี้ประมาณ 250,000 ตันต่อปี
รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดฟู้เอียน
ที่มา: Google Map (2565)
ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จากจังหวัดฟู้เอียนสามารถเดินทางผ่านเมืองเปลกู จังหวัดซาลาย เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายย่อยส่วนเหนือ (Northern Subcorridor, GMS) โดยมีระยะห่างประมาณ 180 กิโลเมตร ภายในจังหวัดมีถนนหลวง ได้แก่ QL1A, QL19C และ Q29
ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดฟู้เอียนมีเขตเศรษฐกิจนามฟู้เอียน (Nam Phu Yen Industrial Zone) มีพื้นที่ทั้งหมด 11,548 เฮกตาร์ตั้งอยู่ติดกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจบั๊กเวินฟอง (Bac Van Phong Economic Zone) ซึ่งมีแผนจะพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต
ภายในเขตเศรษฐกิจนามฟู้เอียนประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ Hoa Hiep 1 & 2, Hoa Tam, นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง, นิคมอุตสาหกรรมรวม และพื้นที่ท่าเรือ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม Dong Bac Song Cau 1 & 2 และนิคมอุตสาหกรรม An Phu
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 44,968.4 พันล้านด่ง (1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.33 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 27 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 26 ภาคบริการร้อยละ 42 (ภาษีจากสินค้าร้อยละ 5)
ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้า จังหวัดฟู้เอียนมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่รวมกัน 59,300 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตรวมทั้งหมด 410,200 ตัน ปลูกมันสำปะหลัง 29,700 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 671,200 ตัน ปลูกอ้อย 21,400 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 1.35 ล้านตัน ผักและถั่วรวม 10,800 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตรวม 112,600 ตัน
พืชยืนต้นมีพื้นที่ปลูกในปี 2564 ทั้งสิ้น 13,507 เฮกตาร์ ในจำนวนดังกล่าวปลูกผลไม้ 7,027 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่ปลูกกล้วย มะละกอ สับปะรด ส้ม ส้มโอ ฝรั่ง อโวคาโด และทุเรียน พื้นที่ส่วนที่เหลือใช้ในการปลูกยางพารา พริกไทย มะพร้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และกาแฟ แนวโน้มในการเพาะปลูกของจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยลดการปลูกข้าวในพื้นที่ ที่ขาดผลิตภาพ เปลี่ยนเป็นการปลูกไม้ยืนต้นหรือผักแทน
ด้านการป่าไม้ มีการแปรรูปไม้ 383,300 ลูกบาศก์เมตร ทั้งหมดเป็นการแปรรูปไม้จากป่าปลูกซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดฟู้เอียนมีขนาดเล็ก ปี 2564 มีการเลี้ยงโคกระบือ 173,450 ตัว สุกร 113,242 ตัว และสัตว์ปีก 4.08 ล้านตัว ส่วนการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมด 77,746 ตัน มาจากการประมงชายฝั่ง 63,641 ตัน ในจำนวนดังกล่าวมีปลาทูน่า 3,000 ตัน ฟู้เอียนเป็น 1 ใน 3 จังหวัด โดยอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบิ่ญดิ่ญ คั้ญฮว่า ที่สามารถจับปลาทูน่าเพื่อการส่งออกได้ ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงกุ้งขาว กุ้งกุลาดำ และกุ้งมังกร
ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ปี 2564 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.6 จากปีก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง วงจรไฟฟ้า ยารักษาโรค การแปรรูปอาหารทะเล ไม้แปรรูปและอุปกรณ์แต่งบ้าน ยางพารา เป็นต้น
ด้านบริการและการค้า ปี 2564 เป็นภาคส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุด มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ส่วนการท่องเที่ยวในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเพียง 0.295 ล้านคนเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดหยุดชะงักเกือบตลอดทั้งปี 2564 อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวของจังหวัดฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากมีการผ่อนคลายนโยบายป้องกันโรคระบาด ทั้งนี้ฟู้เอียนมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงาม เช่น โบสถ์ Mang Lang, โบราณสถานจามปา Thap Nhan, อ่าว Vinh Ro, Ganh Da Dia, Bai Mon – Mui Dien เป็นต้น
2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดฟู้เอียนมีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้า คิดเป็น 144 และ 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 53 โครงการคิดเป็น 2,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 1 โครงการเป็นมูลค่า 1.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัด ได้แก่
ลำดับ |
ชื่อธุรกิจ |
ประเภทโครงการ |
1 |
บริษัท C.P. Vietnam จำกัด |
โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ |
2 |
บริษัท Siam Super stream Vietnam จำกัด |
ผลิตเครื่องดื่ม |
3 |
บริษัท Thai Nakorn Pattana จำกัด |
ผลิตยาแผนปัจจุบัน |
4 |
บริษัท Foodtech จำกัด |
แปรรูปอาหารทะเล |
2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
- อุตสาหกรรมการเกษตร และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการประมง
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- โครงสร้างพื้นฐาน
แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ
- เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดฟู้เอียน: https://phuyen.gov.vn/
- โครงการที่เปิดให้ลงทุน: http://ipcphuyen.gov.vn/cabinets/news/17_2021-12-17-14-07-11_86102_PHU_LUC_danh_muc_du_an_k_211213112857.kyso.kyso.pdf
- เว็บไซต์คณะกรรมการบริหารนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดฟู้เอียน: http://bqlkkt.phuyen.gov.vn/
- ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนและการค้าจังหวัดฟู้เอียน: http://ipcphuyen.gov.vn/
- ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดฟู้เอียน: http://phuyentourism.gov.vn/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดฟู้เอียน), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-trung/thong-tin-dia-phuong
สำนักงานสถิติฟู้เอียน (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดฟู้เอียน ประจำปี 2564
Bộ Tài nguyên và Môi trường (2562), Tiềm năng tài nguyên khoáng sản tỉnh Phú Yên, retrieved from http://www.monre.gov.vn/Pages/tiem-nang-tai-nguyen-khoang-san-tinh-phu-yen.aspx
Cổng Thông tin điện tử Bộ VHTTDL (2565), Để du lịch Phú Yên trở thành ngành kinh tế mũi nhọn, retrieved from https://bvhttdl.gov.vn/de-du-lich-phu-yen-tro-thanh-nganh-kinh-te-mui-nhon-20220221081236914.htm
Thủy sản Việt Nam (2565), Phú Yên: Ngư dân trúng đậm cá ngừ đại dương, retrieved from https://thuysanvietnam.com.vn/phu-yen-ngu-dan-trung-dam-ca-ngu-dai-duong