ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

เลิมด่ง

lam dong

เลิมด่ง

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • เมืองดาลัด จังหวัดเลิมด่ง (Dalat City, Lam Dong Province) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งดอกไม้” หรือ “Little Paris” มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากมีวิวทิวทัศน์สวยงามและมีอากาศเย็นสบาย ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้หลักของจังหวัด
  • จังหวัดเลิมด่งมีสินค้าที่มีเสียงหลายชนิด เช่น กาแฟอราบิก้า ชา โกโก้ ผัก ผลไม้ และดอกไม้ ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เป็นต้น   

   

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด

1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง

จังหวัดเลิมด่ง เป็น 1 ใน 5 จังหวัดบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันตกของเวียดนาม โดยอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 300 กิโลเมตร ห่างจากเมืองกามรัน จังหวัดคั้ญฮว่า (Cam Ranh City, Khanh Hoa Province) 130 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า (Baria – Vung Tau Province) 230 กิโลเมตร

จังหวัดเลิมด่งมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดจังหวัดดั๊กนง (Dak Nong Province) และดั๊กลั๊ก (Dak Lak Province) ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดคั้ญฮว่า (Khanh Hoa Province) และจังหวัดนิญถ่วน (Ninh Thuan Province) ด้านทิศใต้ติดกับจังหวัดบิ่ญถ่วน (Binh Thuan Province) และจังหวัดด่งนาย (Dong Nai Province) ส่วนทิศตะวันตกติดกับจังหวัดบิ่ญเฟื้อก (Binh Phuoc Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดเลิมด่ง

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ภูมิประเทศจังหวัดเลิมด่งมีพื้นที่เป็นที่ราบสูง สูงจากระดับน้ำทะเล 300 – 1,500 เมตรทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี โดยมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 18 – 25 องศา ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,750 – 3,150 มิลลิเมตรต่อปี

จังหวัดเลิมด่งมีพื้นที่ทั้งหมด 9,783 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 12 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองดาลัด เป็นศูนย์ราชการส่วนท้องถิ่น , เมืองบ๋าวล็อบ (Bao Loc City) และอีก 10 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดเลิมด่งได้รับการจัดอันดับ 15 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพดีเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดเลิมด่ง มีที่ดินทั้งหมด 978,300 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรร้อยละ 36 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 55 และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 3 ที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินภูเขาไฟที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกกาแฟ ชา โกโก้ ผัก ผลไม้ และดอกไม้เมืองหนาว

จังหวัดเลิมด่งมีพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ มีพันธุ์ไม้หลากหลายกว่า 400 ชนิด โดยส่วนใหญ่คือเป็นป่าสน และป่าไผ่ จังหวัดเลิมด่งมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำ Da Dang, La Nga และ Da Nhim มีปริมาณน้ำมากและไหลแรง จึงทำให้มีการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าหลายแห่ง มีกำลังการผลิตมากกว่า 1,500 MW นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำ Tuyen Lam ที่ถูกสร้างเพื่อกักเก็บน้ำมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสปกครอง

นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุ 25 ชนิด เช่น บอกไซต์ ดินเบา ดินขาว เบนโทไนต์ และถ่านหิน ทอง แซฟไฟร์ ดีบุก ดินกระเบื้อง หินแกรนิต และอื่น ๆ จึงทำให้อลูมิเนียมเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของจังหวัด

 

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์

ปี 2564 จังหวัดเลิมด่ง มีประชากรทั้งหมด 1.32 ล้านคน โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.77 ล้านคน จังหวัดเลิมด่งมีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะอีก 6 แห่ง มีค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 4.16 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 178 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน) ขึ้นอยู่กับพื้นที่ (Decree No.38/2022/NĐ-CP) จังหวัดเลิมด่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง โดยประชากรร้อยละ 20 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 40 กลุ่ม โดยมีชาว K’Ho มากที่สุด

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดเลิมด่งมีสนามบินนานาชาติเลียนเคือง (Lien Khuong International Airport: DLI) มีเที่ยวบินจากนครและจังหวัดสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ นครไฮฟอง นครดานัง นครเกิ่นเทอ เกาะฟู้ก๊วก เป็นต้น และเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ตามข้อมูปี 2562 มีผู้เดินทางผ่านสนามบินทั้งสิ้น 2.34 ล้านคน

ด้านการคมนาคมทางบก จังหวัดเลิมด่ง ไม่มีท่าเรือเนื่องจากอยู่บริเวณที่ราบสูง จึงอาศัยการคมนาคมขนส่งทางบกเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดอื่นที่มีท่าเรือ เช่น เมืองญาจาง จังหวัดคั้นฮว่า, นครโฮจิมินห์, จังหวัดบะเสี่ยะ – หวุงเต่า (Baria – Vung Tau Province) หรือจังหวัดด่งนาย ซึ่งมีถนนหลวง ได้แก่ QL20, QL27, QL28, QL28B และทางด่วน CT14 ทำให้การเดินทางภายในและระหว่างจังหวัดค่อนข้างสะดวก

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดเลิมด่ง

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดเลิมด่งมีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่

  1. 1. นิคมอุตสาหกรรม Loc Son พื้นที่ 185 เฮกตาร์
  2. 2. นิคมอุตสาหกรรม Phu Hoi พื้นที่ 174 เฮกตาร์
  3. 3. นิคมอุตสาหกรรมการเกษตร Tan Phu พื้นที่ 415.49 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเลิมด่ง (GDP) คิดเป็นมูลค่า 87,158 พันล้านด่ง (3.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.59 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 41 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 20 และภาคบริการร้อยละ 39

ด้านการเกษตร ประมงและป่าไม้ ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.6  ปี 2564 จังหวัดเลิมด่งมีพื้นที่เพาะปลูก 395,531.9 เฮกตาร์ แบ่งเป็นพืชไร่ 132,732.9 เฮกตาร์ และพืชยืนต้น 262,799 เฮกตาร์ ทั้งนี้จังหวัดเลิมด่งเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และแปรรูป ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของจังหวัด และช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ด้านผลผลิตจากไม้ยืนต้น จังหวัดเลิมด่งเป็นจังหวัดเดียวในเวียดนามตอนใต้ที่สามารถปลูกกาแฟอราบิก้าได้ ปี 2564 มีพื้นที่ปลูก 175,460.7 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ได้ผลผลิต 552,267 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เช่น Bourbon, Makka, Pacamara, Typica, Catimore เป็นต้น ทั้งนี้ผลผลิตกาแฟส่วนใหญ่เป็นการปลูกตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Contract Farming) และเริ่มผลิตกาแฟเป็นกาแฟชนิดพิเศษ (Specialty Coffee) มากขึ้นซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จังหวัดเลิมด่งเป็นจังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมด้านการปลูกกาแฟพิเศษมากที่สุด โดยมีเป้าหมายมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟชนิดพิเศษ 2,900 เฮกตาร์ มีผลผลิต 1,130 ตันในปี 2568

ด้านการปลูกชา มีพื้นที่ทั้งหมด 10,614 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตชารวมทั้งหมด 130,100 ตัน นอกจากนี้ยังมีการปลูกโกโก้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย หม่อน (Mulberry) แมคาเดเมีย ทุเรียน เสาวรส ขนุน อโวคาโดด้วย

ด้านการปลูกพืชไร่ ปี 2562 มีผลผลิตข้าว 149,785 ตัน ข้าวโพด 41,835 ตัน มันเทศ 55,614 ตัน มันฝรั่ง 54,523 ตัน  ผลผลิตของจังหวัดเลิมด่งไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากจังหวัดมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากตำแหน่งที่ตั้งและภูมิอากาศ โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงกว่า ได้แก่ ผัก ไม้ยืนต้น และผลไม้ชนิดต่างๆ แทน

ด้านการปลูกผักได้ผลผลิต 2.38 ล้านตัน และปลูกดอกไม้ ได้ผลผลิต 2.9 พันล้านดอก/ช่อ โดยจะเร่งปลูกและเก็บเกี่ยวมากในช่วงก่อนเทศกาลเต๊ด และเทศกาลดอกไม้ประจำปีของเมืองดาลัด ดอกไม้ที่มีการปลูกมาก ได้แก่ กล้วยไม้ กุหลาบ ไฮเดรนเยีย ลิลลี่ คาร์เนชั่น ทิวลิป เบญจมาศ ลิเซียนเทียส เป็นต้น

ด้านการแปรรูปไม้ ได้ผลผลิต 51,802 ลูกบาศก์เมตร และถ่านไม้ 81,926 Ster มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการตัดและแปรรูปไม้ เป็นธุรกิจควบคุมที่ดำเนินการโดยรัฐจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

จังหวัดเลิมด่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงจึงมีผลผลิตจากการประมงและเพาะเลี้ยงปี 2564 เพียง8,950 ตัน ทั้งนี้เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านภูมิอากาศ ทำให้จังหวัดเลิมด่งมีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาน้ำเย็น เช่น ปลาสเตอร์เจียนโดยมีผลผลิตประมาณ 3,000 ตันต่อปี

ในด้านการปศุสัตว์ จังหวัดเลิมด่งมีชื่อเสียงในการเลี้ยงวัวนมคุณภาพสูง โดยมีการเลี้ยงโคนมจำนวน 24,475 ตัว ได้น้ำนมวัวดิบ 106,248 ตัน ส่วนโคเนื้อมีจำนวน 72,615 ตัวนอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสุกร 0.3 ล้านตัว สัตว์ปีก 6.1 ล้านตัว และมีผลผลิตจากน้ำผึ้ง 1,500 – 2,000 ตันต่อปี

ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เหมืองแร่บอกไซต์ กรวด ดินกระเบื้อง หินก่อสร้าง เครื่องดื่ม สารเคมี สารสกัดจากสมุนไพร ผลไม้แช่แข็ง ไวน์ ชา กาแฟ  ใยไหม เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.7 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดเลิมด่ง 1.78 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 11,059 พันล้านด่ง (472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)  โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเป็นการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ เที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนดอกไม้, สวนกาแฟ, น้ำตก, อุทยานแห่งชาติ B’Doup, อุทยานแห่งชาติ Cat Tien, อ่างเก็บน้ำ Tuyen Lam, พระราชวัง Bao Dai เป็นต้น เมืองดาลัด เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่พัฒนามากที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม มีโรงแรมและรีสอร์ท 4 – 5 ดาวหลายแห่ง รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ปัจจุบันเมืองดาลัดกำลังดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวสะอาดของอาเซียน และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

 

2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดเลิมด่ง มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 551 และ 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 รวมทั้งหมด 102 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 516.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโครงการลงทุนใหม่ 1 โครงการ มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลถึงปี 2564 ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัดเลิงด่ง ได้แก่

ลำดับ

ชื่อธุรกิจ ประเภทธุรกิจ

1

ศูนย์การค้า Big C ค้าปลีกและบริหารจัดการพื้นที่ศูนย์การค้า
2 บริษัท CP Vietnam

ปศุสัตว์และปลูกผักปลอดสารพิษ (Organic)

3

บริษัท Vietnam Thanh Cong จำกัด

ห้องแสดงกล้วยไม้, ดอกไม้ และผัก

4 ซูเปอร์มาร์เก็ต Go! Da Lat

ค้าปลีก

 

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • โครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่ง
  • อุตสาหกรรมการเกษตรเทคโนโลยีขั้นสูง
  • อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
  • อุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุก่อสร้าง
  • อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนจากลม
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ

1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดเลิมด่ง: https://lamdong.gov.vn/

2. รายชื่อโครงการรอการลงทุนปี 2564 – 2568 :

https://lamdong.gov.vn/sites/skhdt/cohoivatiemnang/danhmucduan/SitePages/Quyet-dinh-ve-viec-phe-duyet-danh-muc-du-an-keu-goi-dau-tu-tren-dia-ban-tinh-Lam-Dong-giai-doan-2021-2025.aspx

3. เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมการลงทุนจังหวัดเลิมด่ง: https://dalat-info.gov.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดเลิมด่ง), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-trung/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดเลิมด่ง (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเลิมด่ง ประจำปี 2564

สภาประชาชนจังหวัดเลิมด่ง (2565), ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดเลิมด่ง, สืบค้นจาก https://gialai.gov.vn/

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

VN Express (2561), Da Lat beckons: Now is best time to visit Vietnam’s ‘Little Paris’, retrieved from https://e.vnexpress.net/projects/da-lat-beckons-now-is-best-time-to-visit-vietnam-s-little-paris-3826669/index.html

Nông Thôn Việt (2561), Trên vùng cà phê Abrabica Đà Lạt, retrieved from  http://nongthonviet.com.vn/nong-san-viet/201803/tren-vung-ca-phe-abrabica-da-lat-721455/

B News (2564), Cá tầm Đà Lạt khó tiêu thụ, Retrieved from https://bnews.vn/ca-tam-da-lat-kho-tieu-thu/182998.html

Lâm Đồng Online (2564), Mật ong Lâm Đồng được ưa chuộng tại thị trường nước ngoài, Retrieved from http://baolamdong.vn/kinhte/202111/mat-ong-lam-dong-duoc-ua-chuong-tai-thi-truong-nuoc-ngoai-3088040/index.htm

Lâm Đồng Online (2565), Đà Lạt: Thích ứng an toàn để duy trì và phát triển du lịch trong điều kiện bình thường mới, Retrieved from http://baolamdong.vn/dulich/202203/da-lat-thich-ung-an-toan-de-duy-tri-va-phat-trien-du-lich-trong-dieu-kien-binh-thuong-moi-3107070/index.htm

Sở Nông Nghiệp và Phát triển nông thôn Tỉnh Lâm Đồng (2564), Lâm Đồng – Hướng đến một nền chăn nuôi tiên tiến, retrieved from http://khuyennong.lamdong.gov.vn/tin-tuc-su-kien/3064-l%C3%A2m-%C4%91%E1%BB%93ng-h%C6%B0%E1%BB%9Bng-%C4%91%E1%BA%BFn-m%E1%BB%99t-n%E1%BB%81n-ch%C4%83n-nu%C3%B4i-ti%C3%AAn-ti%E1%BA%BFn

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

184712

เข้าชมทั้งหมด