ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป
- จังหวัดลายเจิวมีอาณาเขตติดกับประเทศจีนยาวถึง 273 กิโลเมตร มีด่านชายแดนนานาชาติมาลู่ถ่างเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศจีน
- จังหวัดลายเจิวมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่มากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศเวียดนาม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ น้ำ ดิน และมีอากาศเย็นตลอดปี แต่ด้วยภูมิประเทศทำให้การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก จึงมีการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ และการเกษตร เป็นต้น
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดลายเจิว
1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง
จังหวัดลายเจิว เป็น 1 ใน 6 จังหวัดบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอย 450 กิโลเมตร อาณาเขตด้านทิศเหนือติดกับประเทศจีนเป็นระยะทาง 273 กิโลเมตร โดยมีด่านชายแดนนานาชาติมาลู่ถ่าง (Ma Lu Thang International border gate) ด้านทิศตะวันออกติดกับจังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai Province) ด้านทิศใต้ติดกับจังหวัดเอียนบ๊าย (Yen Bai Province) และจังหวัดเซินลา (Son La Province) และด้านทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเดี่ยนเบียน (Dien Bien Province)
รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดลายเจิว
ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดลายเจิวมีพื้นที่เป็นภูเขาสูงร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีระดับความสูงเฉลี่ย 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นที่ราบลุ่มสลับภูเขาเตี้ย จังหวัดลายเจิวมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 22 – 23 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,500 – 2,700 มิลลิเมตร
จังหวัดลายเจิวมีพื้นที่ทั้งหมด 9,069 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 8 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองลายเจิว (Lai Chau City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่นและอีก 7 อำเภอ
ปี 2564 จังหวัดลายเจิว ได้รับการจัดอันดับ 56 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม
1.2 ทรัพยากร
1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดลายเจิวมีที่ดินทั้งหมด 906,900 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 12 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 46 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 2 ทั้งนี้พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรและพื้นน้ำ โดยพื้นที่ของจังหวัดมีแม่น้ำ Da ไหลผ่านพื้นที่ นอกจากมีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างมากแล้ว จากการสำรวจพบทอง ทองแดง ดีบุก หินปูน และเหล็กในปริมาณมาก
1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม
ปี 2564 จังหวัดลายเจิว มีประชากรทั้งหมด 0.47 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.28 ล้านคน จังหวัดลายเจิวมีวิทยาลัยอาชีวะ 5 แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามพื้นที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP) จังหวัดลายเจิวเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์คิดเป็นร้อยละ 84 ของประชากรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นชาวลาว ไท ต่าย หนุ่ม เป็นต้น
1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
ด้านการขนส่งทางอากาศ จังหวัดลายเจิวไม่มีสนามบินแต่สามารถเดินทางผ่านสนามบินเดี่ยนเบียนฝู ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร หรือเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย (Noi Bai International Airport: HAN)
ด้านการขนส่งทางบก จังหวัดลายเจิวมีระบบทางหลวง ได้แก่ QL4D, QL70, QL12, QL32, QL100 และ QL279 ซึ่งครอบคลุมเพียงบางส่วนของพื้นที่เท่านั้น จากจังหวัดลายเจิวสามารถเดินผ่านไปประเทศจีนผ่านด่านชายแดนนานาชาติมาลู่ถ่าง (Ma Lu Thang International Border Gate) โดยสามารถเดินทางเข้าสู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสาย R5 ผ่านจังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai Province) อย่างไรก็ตามด้วยภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ทำให้การเดินทางขนส่งค่อนข้างยากลำบาก
รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดลายเจิว
ที่มา: Google Map (2565)
ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดลายเจิวมีเขตเศรษฐกิจชายแดน 1 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ได้แก่
- เขตเศรษฐกิจชายแดนมาลู่ถ่าง มีพื้นที่ 43 เฮกตาร์ เป็นเขตชายแดนระหว่างเวียดนามและประเทศจีน
- นิคมอุตสาหกรรม Muong So พื้นที่ 200 เฮกตาร์ ปัจจุบันมีธุรกิจผลิตอิฐก่อสร้าง หลอมโลหะ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเหมืองแร่เปิดดำเนินการ
- นิคมอุตสาหกรรม Tam Duong พื้นที่ 200 เฮกตาร์
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดลายเจิว (GDP) คิดเป็นมูลค่า 21,242 พันล้านด่ง (0.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.6 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 16 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 37 ภาคบริการร้อยละ 41 (ภาษีสินค้าร้อยละ 6)
ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดลายเจิว ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่รวม 53,100 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าว 151,900 ตัน และข้าวโพด 72,100 ตัน
จังหวัดลายเจิวมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 35,000 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตหลัก คือ ชา 44,000 ตัน ยางพารา 8,571 ตัน ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ กล้วย มะม่วง ส้ม ลำไย และลิ้นจี่ ได้ผลผลิตรวม 54,000 ตัน นอกจากนี้ มีการแปรรูปไม้ได้ผลผลิต 6,600 ลูกบาศก์เมตร
ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดลายเจิวมีขนาดค่อนข้างเล็กปี 2564 มีโคกระบือรวมกัน 115,184 ตัว สุกร 204,916 ตัว สัตว์ปีก 1.6 ล้านตัว ด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 3,300 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อนหน้า โดยมาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกือบทั้งหมดคิดเป็น 2,850 ตัน
ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.7 อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดลายเจิว คือ อุตสาหกรรมเหมืองหิน วัสดุก่อสร้าง ใบชาแห้ง เหล้าขาว เป็นต้น
ด้านบริการและการค้า มีมูลค่ามาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ส่วนด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 0.37 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 239.8 พันล้านด่ง (10.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การท่องเที่ยวของจังหวัดลายเจิวส่วนใหญ่มีการพัฒนาที่อำเภอ Tam Duong โดยเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชีวิต
2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดลายเจิวมีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 26 และ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 1 โครงการคิดเป็น 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
- อุตสาหกรรมการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีชีวิต
- อุตสาหกรรมการเกษตร
- โครงการไฟฟ้าจากเขื่อน
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ
- เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดลายเจิว: https://laichau.gov.vn/
- โครงการที่เปิดให้ลงทุน: http://laichau.gov.vn/thong-tin-tra-cuu/du-an-dau-tu
- เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลายเจิว: http://laichau.tourism.vn/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดลายเจิว), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong
สำนักงานสถิติจังหวัดลายเจิว (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดลายเจิว ประจำปี 2564
Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly
Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.
Enter News (2563), Lai Châu: Chính thức nâng cấp cặp cửa khẩu song phương lên cửa khẩu quốc tế, retrieved from https://enternews.vn/lai-chau-chinh-thuc-nang-cap-cap-cua-khau-song-phuong-len-cua-khau-quoc-te-172775.html
Vietnam Net (2565), Lai Châu triển khai các chính sách phát triển sản xuất nông nghiệp giai đoạn 2021 – 2025, Retrieved from https://vietnamnet.vn/lai-chau-trien-khai-de-an-phat-trien-san-xuat-nong-nghiep-giai-doan-2021-2025-2038165.html
Thị trường Việt Nam (2565), Lai Châu: Mở rộng diện tích trồng cây ăn quả, Retrieved from https://thitruongvietnam.vn/van-hoa–xa-hoi/lai-chau-mo-rong-dien-tich-trong-cay-an-qua-254962.html