ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป
- จังหวัดกอนตูม ได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่มิตรกับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2559
- จังหวัดกอนตูมเป็นจังหวัดเดียวในประเทศเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศลาว และกัมพูชา โดยมีสามเหลี่ยมอินโดจีนเป็นจุดเชื่อมระหว่างสามประเทศ และมีด่านชายแดนระหว่างเวียดนามและลาว คือ ด่านชายแดนนานาชาติเบ่ออี (Bo Y International border gate)
- อุตสาหกรรมหลักของจังหวัดกอนตูม ได้แก่ การทำเหมืองแร่ การปลูกอ้อย ยางพารา กาแฟ และการปลูกสมุนไพรในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ
- จังหวัดมีสินค้าเกษตร 2 รายการที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ โสม Ngoc Linh และกาแฟคั่วบด Dak Ha
- กิ่งอำเภอมังแดน (Mang Den Sub-district) มีอากาศเย็นตลอดปี เริ่มมีการทำการปลูกผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาวเหมือนเมืองดาลัด จังหวัดเลิมด่ง (Da Lat City, Lam Dong Province) จึงได้รับการขนานนามว่า “เมืองดาลัด 2”
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด
1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง
กอนตูม เป็น 1 ใน 5 จังหวัดบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันตกของเวียดนาม ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมอินโดจีน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และลาว ทั้งนี้กอนตูนได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่มิตรกับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2559
จังหวัดกอนตูมตั้งอยู่ห่างจากนครดานัง 310 กิโลเมตร ห่างจากเมืองกวีเญิน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ (Quy Nhon City, Binh Dinh Province) 220 กิโลเมตร และห่างจากนครโฮจิมินห์ 610 กิโลเมตร
จังหวัดกอนตูมมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดจังหวัดกว๋างนาม (Quang Nam Province) ทิศตะวันออกติดจังหวัดกว๋างหงาย (Quang Ngai Province) ทิศใต้ติดจังหวัดซาลาย (Gia Lai Province) ส่วนทิศตะวันตกติดประเทศกัมพูชาและประเทศลาว
รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดกอนตูม
ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)
ภูมิประเทศจังหวัดกอนตูมมีพื้นที่เป็นที่ราบสูง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,100 – 1,300 เมตรทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี โดยมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 22 – 23 องศา ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,260 มิลลิเมตรต่อปี
จังหวัดกอนตูมมีพื้นที่ทั้งหมด 9,674 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 10 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองกอนตูม เป็นศูนย์ราชการส่วนท้องถิ่น และอีก 9 อำเภอ
ปี 2564 จังหวัดกอนตูมได้รับการจัดอันดับ 61 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม
1.2 ทรัพยากร
1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดกอนตูม มีที่ดินทั้งหมด 967,400 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรร้อยละ 28 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 63 และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 4 ที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินภูเขาไฟที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกกาแฟ ชา โกโก้
จังหวัดกอนตูมมีพื้นที่ป่าไม้ดงดิบเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นที่ หรือประมาณ 621,450 เฮกตาร์ มีอุทยานแห่งชาติและมรดกอาเซียน Chu Mon Ray, บ้านชาวเขา Kon K’lor, อุทยานมรดกอาเซียน Ngoc Linh และเขตป่าพิเศษ Dak Uy จากการสำรวจคาดว่าจังหวัดกอนตูมมีปริมาณไม้สำรองทั้งหมด 54 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีต้นไผ่อีก 2 พันล้านต้น มีสมุนไพรป่า โสม และไม้หายากอีกหลายชนิด จังหวัดกอนตูมเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญหลายสายที่ไหลผ่านจังหวัดกว๋างนาม จังหวัดกว๋างหงาย และนครดานัง โดยแม่น้ำสายหลักผ่านพื้นที่จังหวัด ได้แก่ แม่น้ำ San Se
ทรัพยากรแร่ธาตุของจังหวัดกอนตูมหลากหลาย มีทั้งหมด 17 ชนิด แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ป้องกันเสียงรบกวน แร่ธาตุทนไฟ แร่โลหะ อัญมณี และถ่านหิน
1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์
ปี 2564 จังหวัดกอนตูม มีประชากรทั้งหมด 0.56 ล้านคน โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.32 ล้านคน จังหวัดกอนตูมมีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย 1 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวะอีก 2 แห่ง มีค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ขึ้นอยู่กับพื้นที่ (Decree No.38/2022/ND-CP) จังหวัดกอนตูมเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง โดยประชากรร้อยละ 53 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 28 กลุ่ม โดยมีชาว Gia Lai, Ba Na, Gie – Trieng มากที่สุด
1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
ด้านการคมนาคมขนส่งทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดกอนตูมไม่มีสนามบิน และไม่มีท่าเรือ จึงพึ่งพาการคมนาคมทางบกเป็นหลัก มีถนนหลวง ได้แก่ QL14, QL24, QL40 และถนนสายเอเชีย AH 17 พาดผ่านเชื่อมการเดินทางระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ แม้ว่าจะมีชายแดนติดกับทั้งลาวและกัมพูชา แต่มีด่านนานาชาติระหว่างเวียดนามและประเทศลาวเท่านั้น ได้แก่ ด่านชายแดนนานาชาติเบ่ออี (Bo Y International Border Gate) ซึ่งเชื่อมกับด่านชายแดนพูเกือ จังหวัดอัตตะปือ (Phu Kuea Border gate, Attapue province) โดยเดินทางผ่านทางหลวง QL40 ของเวียดนาม เข้าสู่ถนนหมายเลข 11 ของประเทศลาว
รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดกอนตูม
ที่มา: Google Map (2565)
ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดกอนตูมมีนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง และเขตเศรษฐกิจชายแดน 1 แห่ง ได้แก่
- 1. นิคมอุตสาหกรรม Hoa Binh พื้นที่ 130 เฮกตาร์
- 2. เขตเศรษฐกิจชายแดน Bo Y พื้นที่ 70,438 เฮกตาร์
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 26,698 พันล้านด่ง (1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2563ร้อยละ 6.47 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 20 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 29 และภาคบริการร้อยละ 42
ด้านการเกษตร ประมงและป่าไม้ ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.75 ปี 2564 จังหวัดกอนตูมมีพื้นที่เพาะปลูก 190,232 เฮกตาร์ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ 28,938 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 55,970 ตัน มีกาแฟโรบัสต้าคั่วบดที่มีชื่อเสียง คือ กาแฟ Dak Ha ซึ่งได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ปี 2563 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 9,000 เฮกตาร์ นอกจากนี้มีการปลูกยางพารา 76,890 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 78,031 ตัน ส่วนผลไม้ของจังหวัดมีจำนวนพื้นที่ปลูกประมาณ 6,286 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่ปลูกกล้วย ส้ม อโวคาโด และทุเรียน
ด้านการปลูกพืชไร่ ปี 2564 มีการปลูกข้าว 23,341 เฮกตาร์, ปลูกข้าวโพด 5,531 เฮกตาร์, มันสำปะหลัง 38,768 เฮกตาร์ และปลูกอ้อย 944 เฮกตาร์ ผลผลิตการเกษตรโดยรวมของจังหวัดถือว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
นอกจากนี้จังหวัดยังได้มีโครงการปลูกพืชและเห็ดเพื่อทำเป็นยาสมุนไพรในพื้นที่ป่า (Decree No. 09/2018/NQ-HDND, Kon Tum) ปัจจุบันมีการสนับสนุนโครงการลงทุน 31 โครงการบนพื้นที่ 13,900 เฮกตาร์ในพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดเพื่อปลูกโสม Ngoc Linh (โสมเวียดนาม) และสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น ขมิ้น, ตังเซียม (Dang Shen), เร่วหอม (Amomum), ลูกเดือย, เล็บครุฑไซ่ง่อน, ตังกุย (Dong quai) เป็นต้น
ส่วนการปลูกผัก จังหวัดมุ่งเน้นที่การเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีบนพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ดึงดูดธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนพัฒนาเรือนกระจกปลูกผักเมืองหนาวแบบออกานิค และทำฟาร์มปศุสัตว์ที่อำเภอมังแดน (Mang Den District) ซึ่งมีภูมิอากาศเหมือนเมืองดาลัด จังหวัดเลิมด่ง คาดการณ์ว่าการปลูกผักและดอกไม้เมืองหนาวของจังหวัดจะพัฒนาอีกมากควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม
เนื่องจากอยู่บนที่ราบสูง จึงมีการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่มาก ปี 2564 ได้ผลผลิตทั้งสิ้น 6,445 ตัน ส่วนการปศุสัตว์ จังหวัดกอนตูมมีโคกระบือรวมกัน 109,150 ตัว สุกร 0.13 ล้านตัว และสัตว์ปีก 1.8 ล้านตัว
ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ หินก่อสร้าง อิฐ น้ำตาล เอทานอล กาแฟ ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น
ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.76 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดกอนตูม 0.12 ล้านคนเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดหยุดชะงักเกือบตลอดทั้งปี 2564 โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเป็นการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีชีวิต เช่น กิ่งอำเภอมังแดน (Mang Den Sub-district) ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ดาลัด 2 เพราะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี, อุทยานแห่งชาติและมรดกอาเซียน Chu Mon Ray, บ้านชาวเขา Kon K’lor, อุทยานมรดกอาเซียน Ngoc Linh เป็นต้น
2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดกอนตูม มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 80 และ 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 รวมทั้งหมด 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 246.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโครงการลงทุนใหม่ 1 โครงการ มูลค่า 152.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัด ได้แก่
- 1. บริษัท Utility Water จำกัด ธุรกิจผลิตน้ำประปา
- 2. บริษัท Tinh Bot San Kon Tum จำกัด ธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลัง
2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
- อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์จากโสม และสมุนไพร)
- อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรม
แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ
1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกอนตูม: https://kontum.gov.vn/
2. รายชื่อโครงการรอการลงทุน https://thuvienphapluat.vn/van-ban/Dau-tu/Quyet-dinh-684-QD-UBND-2021-Danh-muc-du-an-thu-hut-dau-tu-vao-tinh-Kon-Tum-485187.aspx
3. เว็บไซต์การท่องเที่ยวกอนตูม: http://kontumtourism.com.vn/
https://kontum.gov.vn/dac-san/san-pham/2/San-pham.html
- เว็บไซต์การท่องเที่ยวกอนตูม: http://kontumtourism.com.vn/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดกอนตูม), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-trung/thong-tin-dia-phuong
สภาประชาชนจังหวัดกอนตูม (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดกอนตูม ประจำปี 2564
สภาประชาชนจังหวัดกอนตูม (2565), ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดกอนตูม, สืบค้นจาก https://gialai.gov.vn/
กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021
Cổng thông tin điện tử tỉnh Kon Tum (2562), Các dân tộc tỉnh Kon Tum, retrieved from http://www.bandantoc.kontum.gov.vn/gioi-thieu/Cac-dan-toc-tinh-Kon-Tum-294
Báo Nông nghiệp Việt Nam (2561), Thêm một ‘Đà Lạt’ ở Kon Tum, retrieved from https://nongnghiep.vn/them-mot-da-lat-o-kon-tum-d225388.html
Zing News (2561), Nhà giàu đổ xô lên Măng Đen trồng rau sạch, thuốc quý, retrieved from https://zingnews.vn/nha-giau-do-xo-len-mang-den-trong-rau-sach-thuoc-quy-post833380.html
Ban Tuyên giáo Tỉnh ủy Kon Tum (2562), Phát triển nguồn dược liệu quý ở tỉnh ta, retrieved from http://www.tuyengiaokontum.org.vn/Khoa-giao/phat-trien-nguon-duoc-lieu-quy-o-tinh-ta-1862.html
HĐND tỉnh Kon Tum (2561), Decree No. 09/2018/NQ-HĐND về Đề án đầu tư, phát triển và chế biến dược liệu trên địa bàn tỉnh Kon Tum đến năm 2020, định hướng đến năm 2030
Vietnam Plus (2564), Ngành du lịch Kon Tum kỳ vọng khởi sắc sau dịch COVID-19, Retrieved from https://www.vietnamplus.vn/nganh-du-lich-kon-tum-ky-vong-khoi-sac-sau-dich-covid19/754364.vnp
Đầu tư Online (2565), Kon Tum kêu gọi đầu tư 31 dự án trồng và chế biến dược liệu, Retrieved from https://baodautu.vn/kon-tum-keu-goi-dau-tu-31-du-an-trong-va-che-bien-duoc-lieu-d159219.html