ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

เหิ่วซาง

hau giang

เหิ่วซาง

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดเหิ่วซางเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ใจกลางที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงของเวียดนาม เป็นแหล่งเกษตรกรรมเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีผลผลิตข้าวปีละประมาณ 1 – 1.2 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีชื่อเสียงในการปลูกสัปปะรด Cau Duc
  • มีตลาดน้ำหงาไบ๋ (Nga Bay Float Market) เป็น 1 ใน 4 ตลาดน้ำที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดเหิ่วซาง

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดเหิ่วซางเป็น 1 ใน 13 จังหวัดบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง หรือภาคตะวันตกของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 240 กิโลเมตร และห่างจากนครเกิ่นเทอ 41 กิโลเมตร อาณาเขตด้านทิศเหนือของจังหวัดมีอาณาเขตติดกับนครเกิ่นเทอ และจังหวัดหวิญล็อง (Vinh Long Province) ทิศตะวันตกติดจังหวัดซ็อกจัง (Soc Trang Province) ทิศใต้ติดจังหวัดบากเลียว (Bac Lieu Province) และทิศตะวันตกติดจังหวัดเกียนซาง (Kien Giang Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดเหิ่วซาง

ที่มา: Google Map (2565)

จังหวัดเหิ่วซางเป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำเหิ่ว (Hau River) ที่แยกมาจากแม่น้ำโขงพาดผ่านเป็นแหล่งน้ำจืด อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของจังหวัดอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส โดยฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,600 มิลลิเมตร

จังหวัดเหิ่วซางมีพื้นที่ทั้งหมด 1,680 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 8 พื้นที่ ประกอบด้วยเมืองหวิทัน (Vi Thanh City) ซึ่งเป็นศูนย์กลางราชการส่วนท้องถิ่น  เมืองหงาไบ๋ (Nga Bay City) และอีก 6 อำเภอ

ปี 2564 เหิ่วซางได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 38 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดเหิ่วซางมีทรัพยากรดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ดินทั้งหมด 162,170 เฮกตาร์ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 84 พื้นที่ป่าร้อยละ 26 พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้อยละ 1 และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่น ๆ ร้อยละ 13

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์

ปี 2564 จังหวัดเหิ่วซางมีประชากรทั้งหมด 0.72 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 0.4 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย Vo Truong Toan และวิทยาลัยอาชีวะอีก 2 แห่งฝึกอบรมแรงงานในจังหวัด และมีค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/ND-CP)

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดเหิ่วซางไม่มีสนามบินประจำจังหวัด แต่ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติเกิ่นเทอ (Can Tho International Airport:VCA) เพียง 50 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งสนามบินเกิ่นเทอมีเที่ยวบินจากนครและจังหวัดต่าง ๆ ของเวียดนาม รวมถึงมีเที่ยวบินนานาชาติจากไทย กัมพูชา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ จึงทำให้การเดินทางค่อนข้างสะดวก

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดเหิ่วซางมีตลาดน้ำหงาไบ๋ที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงด้านการค้าผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ มีท่าเรือแม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือ Vinaline Hau Giang สามารถรองรับเรือขนาดบรรทุก 20,000 ตัน เพื่อขนส่งวัตถุดิบเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมซองเหิ่ว (Song Hau Industrial Zone) นอกจากนี้ ยังสามารถขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำเหิ่วและคลองขุด Xang Xa No ไปสู่ท่าเรือนานาชาติก๊ายกุ๋ย (Cai Cui Internation Port) ที่นครเกิ่นเทอได้อีกด้วย

ด้านการคมนาคมทางบก สามารถเดินทางไปยังกัมพูชาผ่านด่านชายแดนนานาชาติที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ ด่าน Tinh Bien จังหวัดอานซาง (An Giang Province) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร  มีถนนทางหลวง ได้แก่ QL1A, QL61, QL61B และ QL61C ตัดผ่านภายในและระหว่างจังหวัด อย่างไรก็ดี จังหวัดเหิ่วซางไม่ได้ตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ แต่สามารถเดินทางผ่านจังหวัดอานซาง หรือจังหวัดเกียนซางเพื่อไปประเทศกัมพูชาได้

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดเหิ่วซาง

 

ที่มา: Google Map (2565)

ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดเหิ่วซางมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง และเขตอุตสาหกรรมย่อย 5 แห่ง โดยนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่

  1. นิคมอุตสาหกรรม Song Hau 1 พื้นที่ 290.79 เฮกตาร์ (อัตราการเช่าเต็มพื้นที่)
  2. นิคมอุตสาหกรรม Tan Phu Thanh 1 พื้นที่ 201 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุน 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 จังหวัดเหิ่วซางมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 39,726 พันล้านด่ง (1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 3 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 27 ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 24 และภาคบริการร้อยละ 39

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.14 จังหวัดเหิ่วซางมีข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญที่สุด ซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ตลอดปี โดยมีการปลูก 2 – 3 ฤดูกาล ในปี 2564 มีพื้นที่ปลูก 189,001 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 1.27 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีการปลูกพืชผักบนพื้นที่ 25,159 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 272,693 ตัน และปลูกอ้อย 5,041 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 0.5 ล้านตัน

จังหวัดเหิ่วซางมีการปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ ส้ม มะม่วง กล้วย สัปปะรด ขนุน มะนาว ส้มโอ มะพร้าว และลำไย โดยผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ สัปปะรด ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่รับการคุ้มครองทางด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัด ในปี 2564 จังหวัดปลูกสับปะรด 2,908 เฮกตาร์ มีผลผลิต 38,374 ตัน

ด้านการปศุสัตว์เมื่อปี 2564 ถือว่าไม่โดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น มีโคกระบือ รวมกัน 4,900 ตัว หมู  0.14 ล้านตัว และสัตว์ปีก 4.18 ล้านตัว

ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จังหวัดเหิ่วซางไม่มีพื้นที่ติดชายทะเลจึงมีผลผลิตจากการเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ โดยมีปลาสวาย (Pangasius hypophthalmus) ปลากราย ปลาหมอ และปลาไหล เป็นสินค้าสำคัญ มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 74,880 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.68 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 52) สินค้าเกษตรแปรรูปและแช่แข็ง น้ำตาล อาหารสัตว์ ตัดเย็บและสิ่งทอ ไม้แปรรูป สารเคมี พลาสติก และการแปรรูปยางพารา เป็นต้น

ด้านการบริการและการค้าเป็นภาคที่มีมูลค่ามากที่สุดมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก โดยปี 2564 มีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.84 จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ในปี 2564 จังหวัดเหิ่วซางมีนักท่องเที่ยว 0.14 ล้านคิดเป็นมูลค่า 62 พันล้านด่ง (2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ สวนผลไม้ และตลาดน้ำหงาไบ๋ เป็นต้น

2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศในปี 2564 ของจังหวัดเหิ่วซาง มีมูลค่านำเข้าสินค้า และมูลค่าส่งออกสินค้า คิดเป็น 415 และ 567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 มีทั้งหมด 29 โครงการ จำนวน 676.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ธุรกิจไทยลงทุนในพื้นที่จังหวัด 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.3 อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

    • อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร ได้แก่ สัปปะรดแปรรูป ข้าว อ้อย ผักและผลไม้
    • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
    • โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดเหิ่วซาง http://haugiang.gov.vn/

2. รายชื่อโครงการลงทุน (ภาษาเวียดนาม) https://ipcs.mpi.gov.vn/wp-content/uploads/2021/04/12.-DM-KEU-GOI-DAU-TU-Hau-Giang.pdf

3. เว็บไซต์สินค้าเกษตรของจังหวัดเหิ่วซาง: https://nongsanhaugiang.com.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดเหิ่วซาง), สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 จาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดเหิ่วซาง (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดเหิ่วซาง ประจำปี 2564

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Báo Hậu Giang (2563), Phát triển nông sản chủ lực, retrieved from http://www.baohaugiang.com.vn/nong-nghiep-nong-thon/phat-trien-nong-san-chu-luc-89335.html

Báo điện tử Đảng Cộng sản Việt Nam (2563), Hậu Giang lựa chọn sản phẩm chủ lực để phát triển, retrieved from http://dangcongsan.vn/kinh-te/hau-giang-lua-chon-san-pham-chu-luc-de-phat-trien-555339.html

Vietnamplus (2562), Đưa Hậu Giang trở thành điểm đến hấp dẫn ở Đồng bằng sông Cửu Long, retrieved from https://www.vietnamplus.vn/dua-hau-giang-tro-thanh-diem-den-hap-dan-o-dong-bang-song-cuu-long/613649.vnp

Báo Đầu tư (2564), Hậu Giang đa dạng hóa sản phẩm du lịch thu hút du khách, Retrieved from https://baodautu.vn/hau-giang-da-dang-hoa-san-pham-du-lich-thu-hut-du-khach-d155969.html

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

184703

เข้าชมทั้งหมด