ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

กรุงฮานอย

ha noi

กรุงฮานอย

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • กรุงฮานอยเป็นเมืองหลวงของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดกับ 8 จังหวัดบนที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) เป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกด้วยประชากรกว่า 8 ล้านคน และกรุงฮานอยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนร่วมกับอีก 26 เมืองของประเทศอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network : ASCN)
  • กรุงฮานอย เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ระหว่างอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศจีนถึง 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง R5, R8 และ R12

ข้อมูลพื้นฐานของกรุงฮานอย

1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง

กรุงฮานอย เป็น 1 ใน 10 จังหวัดและนครบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) โดยเป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของเวียดนามมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 1553 ในนามเมืองทันล็อง (Thanh Long) จนเมื่อปีพ.ศ. 2374 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ฮานอย” ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์มินหม่าง (Minh Mang Empiror) ซึ่งกรุงฮานอยได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นเมืองหลวงในปัจจุบัน

กรุงฮานอยมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho Province) จังหวัดหวิญฟุ้ก (Vinh Phuc Province) จังหวัดท้ายเงวียน (Thai Nguyen Province) และจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang Province) ทางด้านทิศตะวันออกติดกับจังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh Province) และจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen Province)  ทางด้านทิศใต้ติดกับจังหวัดห่านาม (Ha Nam Province) และทางด้านทิศตะวันตกติดกับจังหวัดฮว่าบิ่ญ (Hoa Binh Province) นอกจากนี้กรุงฮานอย อยู่ห่างจากนครไฮฟองเป็นระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ห่างจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษวันโด่น จังหวัดกว๋างนิญ (Van Don Special Economic Zone, Quang Ninh Province) 210 กิโลเมตร

รูปที่ 1 แผนที่กรุงฮานอย

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ภูมิประเทศกรุงฮานอยเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแดง และแม่น้ำอีกหลายสายไหลผ่าน พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 5 – 20 เมตร บางส่วนเป็นภูเขาสูงปานกลาง กรุงฮานอยมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 23 – 30 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูร้อนอาจจะมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ละปีมี 4 ฤดู ได้แก่ ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง และหนาว มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,800 – 2,000 มิลลิเมตรต่อปี

จังหวัดกรุงฮานอยมีพื้นที่ทั้งหมด 3,358 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 30 พื้นที่ ได้แก่ 12 เขตใจกลางเมือง และอีก 18 อำเภอ

ปี 2564 กรุงฮานอยได้รับการจัดอันดับ 10 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพดีมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

ตามแผนพัฒนาพื้นที่เมืองหลวงและปริมณฑลถึงปี คศ. 2030 วิสัยทัศน์ปี 2050 มุ่งเน้นให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเมืองหลวงร่วมกับจังหวัดโดยรอบ โดยเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ปัญหาจราจร ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ เช่น พระราชวังทันล็อง วิหารวรรณกรรมวันมิ้ว (Van Mieu, Temple of Literature), วัดเสาเดียว, พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ, อุทยานแห่งชาติ Ba Vi เป็นต้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา การแพทย์ เทคโนโลยี และการค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

กรุงฮานอยมีพื้นที่ทั้งหมด 335,800 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรร้อยละ 45  พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 7 และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 31 ทั้งนี้กรุงฮานอยเป็นเมืองที่มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน จึงมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา กรุงฮานอยประสบปัญหาด้านการจราจร น้ำเสีย น้ำท่วม รวมถึงมลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับเมืองอีกหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์

ปี 2564 กรุงฮานอย มีประชากรทั้งหมด 8.33 ล้านคน โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 4.17 ล้านคน กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของเวียดนามมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยของเวียดนามกว่า 70 มหาวิทยาลัย/สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ฮานอย มหาวิทยาลัยการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น และมีวิทยาลัยอาชีวะอีกกว่า 30 แห่ง ทำให้มีแรงงานมีฝีมือจำนวนมาก  โดยแรงงานมีค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.92 – 4.42 ล้านด่งต่อเดือนขึ้น (178 – 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) อยู่กับพื้นที่ตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ (Decree No.38/2022/ND-CP)

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ กรุงฮานอยเป็นนครที่มีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมและอุตสาหกรรมครบถ้วน มีสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย (Noi Bai International Airport :HAN) ที่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศต่าง ๆ ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก และมีเที่ยวบินตรงจากเมืองสำคัญของเวียดนามทุกจังหวัด/นคร ยกเว้นเมืองที่อยู่ในภาคเหนือ มีเที่ยวบินเฉพาะจังหวัดเดี่ยนเบียน (Dien Bien Province)

ด้านการคมนาคมทางน้ำ กรุงฮานอยไม่มีท่าเรือน้ำลึกและท่าเรือขนส่งสินค้า แต่ใช้ท่าเรือนานาชาติในนครไฮฟอง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของเวียดนามสามารถรองรับเรือได้ตั้งแต่ 10,000 – 40,000 ตัน และขนส่งผ่านถนนทางหลวง QL5 และ QL18 มาที่กรุงฮานอย ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

รูปที่ 2 ถนนหลวงในกรุงฮานอย

 

 

ที่มา: Google Map (2564)

ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค กรุงฮานอยมีระบบคมนาคมขนส่งทางบกค่อนข้างดี มีระบบขนส่งทางบกเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ถนนหลวงสาย QL1, QL3, QL21A, QL21B, QL23, QL32, ถนนทางด่วน CT1, CT5, CT7, CT8  และถนนสายเอเชีย AH 13 และ AH 14

ด้านระบบรถไฟ สามารถเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงฮานอยไปยังส่วนอื่นของเวียดนามได้ 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงฮานอย – นครไฮฟอง, กรุงฮานอย – นครหนานหนิง ประเทศจีน, กรุงฮานอย – จังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai Province) และกรุงฮานอย – นครโฮจิมินห์

รูปที่ 3 เส้นทางการเดินรถไฟของเวียดนาม

ที่มา: https://vietnamrailway.com.vn/vietnam-railway-map/ (2565)

กรุงฮานอยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ 3 เส้นทาง ได้แก่

  • เส้นทาง R12: นครพนม – กว่างซี ประเทศจีน โดยออกจากประเทศไทยที่จังหวัดนครพนม (สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3) เข้าสู่แขวงคำม่วน ประเทศลาว ผ่านด่านชายแดนนาพาวและด่านจาลอ ประเทศเวียดนาม เข้าสู่เมืองด่งเห้ย จังหวัดกว๋างบิ่ญ ผ่านเมืองวิญ จังหวัดเหงะอาน กรุงฮานอย และเข้าสู่ประเทศจีน
  • เส้นทาง R8: บึงกาฬ – กว่างซี ประเทศจีน โดยออกจากประเทศไทยที่จังหวัดบึงกาฬ (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5) เข้าสู่จังหวัดเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว ผ่านด่านชายแดนลาวน้ำพาวเข้าด่านชายแดนนานาชาติเกิ่วแจว ประเทศเวียดนาม ที่เมืองวิญ ผ่านกรุงฮานอย กรุงฮานอย และไปสิ้นสุดที่กว่างซี ประเทศจีน
  • เส้นทาง R5: เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี ประเทศจีน – กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ จากกรุงฮานอย สามารถเดินทางไปยังประเทศจีนได้ 3 เส้นทางหลัก คือ ผ่านด่านชายแดนนานาชาติม้องก๊าย จังหวัดกว๋างนิญ (Mong Cai International Border Gate, Quang Ninh Province), ด่านชายแดนนานาชาติด่งดัง (รถไฟ) หรือชายแดนนานาชาติหืวหงิ จังหวัดหล่างเซิน (Dong Dang/Huu Nghi international Border gate, Lang Son Province) และด่านชายแดนนานาชาติหล่าวกาย จังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai International border gate, Lao Cai Province)

กรุงฮานอยมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมด 8 เส้นทางครอบคลุมกรุงฮานอย ตามแผนพัฒนาการคมนาคมขนส่งกรุงฮานอยถึงปี 2573, วิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ทั้งนี้มี 2 จาก 8 เส้นทางได้เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ เส้นทางหมายเลข 2A: Cat Linh – Ha Dong, และเส้นทางหมายเลข 3: Nhon – Ga Ha Noi (เส้นทาง Van Mieu) นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างรถไฟฟ้าระบบทางเดียว (Monorail) และระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) เพื่อเชื่อมระบบการคมนาคมในกรุงฮานอยทั้งหมดอีกด้วย

รูปที่ 4 เส้นทางการเดินรถไฟฟ้าของกรุงฮานอย

 

 

ที่มา https://mrb.hanoi.gov.vn/ (2565)

ด้านนิคมอุตสาหกรรม กรุงฮานอยมีนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง 3 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมย่อยอีกหลายแห่ง เช่น

  1. 1. นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง Hoa Lac พื้นที่ 1,600 เฮกตาร์
  2. 2. นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง พื้นที่ 274 เฮกตาร์
  3. 3. นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศฮานอย พื้นที่ 38 เฮกตาร์
  4. 4. นิคมอุตสาหกรรม Thang Long พื้นที่ 30.4 เฮกตาร์
  5. 5. นิคมอุตสาหกรรม Nam Thang Long พื้นที่ 114.1 เฮกตาร์
  6. 6. นิคมอุตสาหกรรม Sai Dong B พื้นที่ 47.3 เฮกตาร์
  7. 7. นิคมอุตสาหกรรม Ha Noi – Dai Tu พื้นที่ 40 เฮกตาร์
  8. 8. นิคมอุตสาหกรรม Quang Minh พื้นที่ 407 เฮกตาร์
  9. 9. นิคมอุตสาหกรรม Noi Bai พื้นที่ 114.1 เฮกตาร์

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: http://hpa.hanoi.gov.vn/default.aspx?com=AuflaNews&page=article&aid=3626&mtid=144

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของกรุงฮานอย (GDP) คิดเป็นมูลค่า 1,067,000 พันล้านด่ง (45.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.92 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 2  อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 24 และภาคบริการร้อยละ 63 (ภาษีสินค้าร้อยละ 11)

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.46 โดยกรุงฮานอยมีพื้นที่ปลูกข้าว 162,100 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าวทั้งหมด 0.98 ล้านตัน ปลูกข้าวโพด 13,200 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 69,700 ตัน ปลูกผัก 32,700 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต  0.72 ล้านตัน นอกจากนี้มีการปลูกพืชไร่อื่น เช่น มันเทศ ได้ผลผลิต 15,300 ตัน และถั่วเหลือง 3,576 ตัน ส่วนไม้ยืนต้นมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 23,200 เฮกตาร์ ประกอบไปด้วยผลไม้ ชา สมุนไพร เครื่องเทศ และไม้ประดับ

ด้านการปศุสัตว์ของกรุงฮานอยมีขนาดใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงสุกรมากที่สุดของประเทศเวียดนาม 1.18 ล้านตัว โค 0.12 ล้านตัว กระบือ 27,500 ตัว และสัตว์ปีก 27.6 ล้านตัว นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงนกกระจอกเทศ และน้ำผึ้งเพื่อการบริโภค ส่วนการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีผลผลิต 119,400 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9

ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.85 โดยภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ของกรุงฮานอยขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ถนนวงแหวนรอบกรุงฮานอย เป็นต้น  ส่วนอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ อาหารและเครื่องดื่ม เบียร์ ยาสูบ ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค รถยนต์ เสื้อผ้า ยางพาราและพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.71 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่กรุงฮานอย 4  ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 11,280 พันล้านด่ง (0.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)  แหล่งท่องเที่ยวของกรุงฮานอยเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เช่น ถนนโบราณฮานอย หมู่บ้านโบราณ วัดเสาเดียว พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ สุสานโฮจิมินห์ โบสถ์เซนต์โจเซฟ หมู่บ้านโบราณ Duong Lam เป็นต้น กรุงฮานอยเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทย ซึ่งเส้นทางหลักในการท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงฮานอย-ซาปา และ ฮานอย – นิญบิ่ญ – อ่าวฮาลอง

2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดกรุงฮานอย มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 35,831 และ 15,498 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 รวมทั้งหมด 6,702 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 37,034.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 3 ของประเทศเวียดนาม) โดยมีโครงการลงทุนใหม่ 362 โครงการมูลค่า 237.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธุรกิจไทยเริ่มมีการลงทุนในกรุงฮานอยตั้งแต่ปี 2531 โดยมีการลงทุนในกรุงฮานอยในหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ผลิตและแปรรูปสินค้า การเกษตร อาหารเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการต่าง ๆ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานของบริษัทไทยชั้นนำ  เช่น บริษัท C.P. Vietnam, เครือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล, บริษัท Northbridge Communities จำกัด, บริษัท Unicharm, TOA Vietnam  จำกัด เป็นต้น

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
  • อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ และการแพทย์
  • อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์
  • อุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
  • โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง
  • โลจิสติกส์

แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ

1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกรุงฮานอย: https://hanoi.gov.vn/

2. รายชื่อโครงการรอการลงทุน http://hapi.gov.vn/vi-VN/du-an-keu-goi-dau-tu-p60-c11149t1

3. เว็บไซต์ส่งเสริมการลงทุน การค้าและการท่องเที่ยวกรุงฮานอย: http://hpa.hanoi.gov.vn/

4. เว็บไซต์กรมการท่องเที่ยวฮานอย: https://tourism.hanoi.gov.vn/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (กรุงฮานอย), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดกรุงฮานอย (2564), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกรุงฮานอย ประจำปี 2564

สภาประชาชนจังหวัดกรุงฮานอย (2564), ข้อมูลพื้นฐานของกรุงฮานอย, สืบค้นจาก https:// hanoi.gov.vn

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

ฐานเศรษฐกิจ (2559), รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1), สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/content/108820

Thủ tướng Chính Phủ Việt Nam (2016), Quyết định số 768/QĐ-TTg Về Việc phê duyệt Điều chỉnh Quy hoạch xây dựng Vùng Thủ đô Hà Nội đến năm 2030 và tầm nhìn đến năm 2050

Hà Nội Metro (2565), Quy hoạch mạng lưới Metro thành phố Hà Nội, retrieved from https://hanoimetro.net.vn/metro-network/quy-hoach-mang-luoi-metro-thanh-pho-ha-noi/

Hà Nội Metro (2565), Bản đồ các Tuyến Metro, retrieved from https://hanoimetro.net.vn/metro-network/ban-do-cac-tuyen-metro/

Việt Nam Mới (2565), Những kế hoạch phát triển giao thông, đô thị Hà Nội năm 2022, Retrieved from https://vietnammoi.vn/nhung-ke-hoach-phat-trien-giao-thong-do-thi-ha-noi-nam-2022-20220102162833402.htm

Luật Việt Nam (2565), Hà Nội: Sẽ xây dựng mô hình thành phố trực thuộc, mở thêm 1 sân bay, retrieved from https://luatvietnam.vn/tin-van-ban-moi/ha-noi-xay-dung-mo-hinh-thanh-pho-truc-thuoc-186-89531-article.html

Hà Nội Mới (2564), Năm 2021, Hà Nội ước đón 4 triệu lượt khách nội địa, retrieved from http://www.hanoimoi.com.vn/tin-tuc/Du-lich/1021361/nam-2021-ha-noi-uoc-don-4-trieu-luot-khach-noi-dia

Thời báo Tài chính Việt Nam (2565), Hà Nội: Thu nhập bình quân đầu người cao gấp 1,4 lần so với bình quân cả nước, Retrieved from https://thoibaotaichinhvietnam.vn/ha-noi-thu-nhap-binh-quan-dau-nguoi-cao-gap-14-lan-so-voi-binh-quan-ca-nuoc-109248.html

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

184951

เข้าชมทั้งหมด