- อุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของจังหวัดห่านาม ได้แก่ สิ่งทอและตัดเย็บ และอุตสาหกรรมประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า
- จังหวัดห่านามเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจสาย R8 และ R12 โดยเป็นทางผ่านเข้าสู่กรุงฮานอยซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเวียดนาม
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดห่านาม
1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง
จังหวัดห่านาม เป็น 1 ใน 10 จังหวัดและนครบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) มีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดกรุงฮานอย จังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen Province) ด้านทิศตะวันออกติดกับจังหวัดท้ายบิ่ญ (Thai Binh Province) ด้านทิศใต้ติดจังหวัดนามดิ่ญ (Nam Dinh Province) และจังหวัดนิญบิ่ญ (Ninh Binh Province) และด้านทิศตะวันตกติดกับจังหวัดฮว่าบิ่ญ (Hoa Binh Province)
รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดห่านาม
ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดห่านามเป็นที่ราบลุ่ม และมีภูเขาเตี้ยเป็นบางส่วนของพื้นที่ มีแม่น้ำ 4 สายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำแดง, แม่น้ำ Chau, แม่น้ำ Day และแม่น้ำ Nhue ไหลผ่าน มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 23 – 24 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,900 มิลลิเมตร ฝนตกมากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน
จังหวัดห่านามมีพื้นที่ทั้งหมด 862 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 6 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองฟู๋ลี้ (Phu Ly City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่น และอีก 5 อำเภอ
ปี 2564 จังหวัดห่านามได้รับการจัดอันดับ 42 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม
1.2 ทรัพยากร
1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดห่านาม มีที่ดินทั้งหมด 86,200 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 49 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 6 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 30 เนื่องจากมีพื้นที่ภูเขาจึงทำให้จังหวัดห่านามมีหินปูน และแร่ธาตุส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้างค่อนข้างมาก
1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม
ปี 2564 จังหวัดห่านาม มีประชากรทั้งหมด 0.87 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.48 ล้านคน จังหวัดห่านามมีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และมีวิทยาลัยอาชีวะอีก 4 แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามพื้นที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP)
1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
ด้านการขนส่งทางอากาศ จังหวัดห่านามไม่มีสนามบินและท่าเรือ แต่สามารถเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย (Noi Bai International Airport: HAN) ของกรุงฮานอย ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงโดยรถยนต์
ด้านการขนส่งทางน้ำ สามารถขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือนานาชาติในนครไฮฟอง ซึ่งมีระยะห่างจากจังหวัดห่านามประมาณ 120 กิโลเมตร
ด้านการขนส่งทางบก จังหวัดห่านามมีระบบถนนหลวง ได้แก่ QL1A, QL21A, QL21B, QL38, ทางด่วน CT01 และยังมีระบบการขนส่งด้วยรถไฟเหนือ – ใต้ผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดอีกด้วย ทั้งนี้จังหวัดห่านามเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสาย R8 นครพนม – บอลิคำไซ – กรุงฮานอย และเส้นทาง R12 นครพนม – คำม่วน – กรุงฮานอย – นครหนานหนิง ประเทศจีน
รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดห่านาม
ที่มา: Google Map (2565)
ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดห่านามมีนิคมอุตสาหกรรม 8 แห่ง ได้แก่
- นิคมอุตสาหกรรม Dong Van I พื้นที่ 221 เฮกตาร์
- นิคมอุตสาหกรรม Dong Van II พื้นที่ 371 เฮกตาร์
- นิคมอุตสาหกรรมสนับสนุน Dong Van III พื้นที่ 523 เฮกตาร์
- นิคมอุตสาหกรรม Dong Van IV พื้นที่ 300 เฮกตาร์
- นิคมอุตสาหกรรม Chau Son พื้นที่ 325.7 เฮกตาร์
- นิคมอุตสาหกรรม Hoa Mac พื้นที่ 131 เฮกตาร์
- นิคมอุตสาหกรรม Thai Ha พื้นที่ 300 เฮกตาร์ (รอลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน)
- นิคมอุตสาหกรรม Thanh Liem พื้นที่ 200 เฮกตาร์ (รอลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน)
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 66,866 พันล้านด่ง (2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.85 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 9 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 66 ภาคบริการร้อยละ 25
ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปีก่อนหน้า จังหวัดห่านามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่ประมาณ 59,553 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตรวมจากข้าวและพืชไร่ 401,400 ตัน เนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น จึงมีการปลูกข้าวและพืชไร่หมุนเวียน ส่วนพื้นที่ที่เหลือจัดสรรสำหรับการอุตสาหกรรม จึงมีผลผลิตจำพวกผลไม้ และไม้แปรรูปน้อยมาก
ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดห่านามมีขนาดเล็ก ปี 2564 โคกระบือรวมกัน 36,000 ตัว สุกร 370,000 ตัว และสัตว์ปีก 8.5 ล้านตัว
ด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 24,116 ตัน ลดลงร้อยละ 0.7 จากปีก่อนหน้า โดยมาจากการประมง 467 ตัน ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ผลผลิต 24,083 ตัน
ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้างเป็นส่วนที่มีมูลค่าสูงสุดของจังหวัดห่านาม ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ สิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น
ด้านบริการและการค้า ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.6 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นสำคัญ ด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 2.53 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1,614 พันล้านด่ง (68.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดห่านามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม
2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดห่านาม มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้า คิดเป็น 3,503 และ 4,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 359 โครงการคิดเป็น 4,635.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 20 โครงการเป็นมูลค่า 237.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
- อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูป มุ่งเน้นอุตสาหกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยีสารสนเทศ และแปรรูปสินค้าเกษตร
- อุตสาหกรรมการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์
แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ
- เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดห่านาม: https://hanam.gov.vn/
- โครงการที่เปิดให้ลงทุน: https://invest.hanam.gov.vn/hanam/Details/vi-VN/linh-vuc-thu-hut-dau-tu/178/1
- เว็บไซต์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนจังหวัดห่านาม: http://invest.hanam.gov.vn/
- เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดห่านาม: http://dulichhanam.vn/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดห่านาม), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong
สำนักงานสถิติจังหวัดห่านาม (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดห่านาม ประจำปี 2564
Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly
Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.
Báo điện tử Đảng Cộng sản Việt Nam (2565), Hà Nam: Phát triển du lịch bền vững trong giai đoạn mới, retrieved from https://dangcongsan.vn/kinh-te/ha-nam-phat-trien-du-lich-ben-vung-trong-giai-doan-moi-606743.html