ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

ด่งท้าบ

dong thap

ด่งท้าบ

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • จังหวัดด่งท้าบเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาด้านความสามารถในการแข่งขัน และการบริหารจัดการภาครัฐอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับต้นของประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เริ่มธุรกิจซึ่งภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุน องค์ความรู้ และประชาสัมพันธ์
  • จังหวัดด่งท้าบมีชื่อเสียงในด้านการเพาะปลูกข้าว ไม้ประดับ มะม่วง ปลาสวาย เป็ด และสินค้าจากดอกบัว โดยสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ มะม่วง Cao Lanh ตั้งแต่ปี 2562
  • จังหวัดพัฒนาตราสินค้า “ดินแดนแห่งดอกบัวชมพู” นำดอกบัวมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ส่งเสริมสินค้าแปรรูปจากบัวเพื่อการส่งออก และจัดเทศกาลดอกบัวเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวทุกปี ปัจจุบันจังหวัดด่งท้าปส่งออกสินค้ากว่า 20 ชนิดจากบัว

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด

1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง

จังหวัดด่งท้าบ เป็น 1 ใน 13 จังหวัดบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง หรือภาคตะวันตกของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 140 กิโลเมตร และห่างจากนครเกิ่นเทอ 90 กิโลเมตร มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกติดจังหวัดล็องอาน (Long An Province) และจังหวัดเตี่ยนซาง (Tien Giang Province)  ด้านใต้ ติดจังหวัดหวิญล็อง (Vinh Long Province) และนครเกิ่นเทอ ส่วนทิศตะวันตกติดกับจังหวัดอานซาง (An Giang Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดด่งท้าบ

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ภูมิประเทศ จังหวัดด่งท้าบเป็นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตก ถือเป็นต้นน้ำแม่น้ำเตี่ยน ซึ่งแยกออกจากแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านเข้ามาในเวียดนาม ทำให้ที่ดินอุดมสมบูรณ์ และไม่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของน้ำเค็ม จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก

จังหวัดด่งท้าบมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 27 – 30 องศา ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,200 – 1,500 มิลลิเมตรต่อปี

จังหวัดด่งท้าบมีพื้นที่ทั้งหมด 3,383.8 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 12 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองกาวหลัน (Cao Lanh City) เป็นศูนย์กลางราชการส่วนท้องถิ่น เมืองซาแด้ก (Sa Dec City) เมืองห่อมหงึ (Hong Ngu City) และอีก 9 อำเภอ

ด่งท้าบได้รับการจัดอันดับ 3 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพดีเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดด่งท้าบเป็นที่ราบลุ่มมีทรัพยากรดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ดินทั้งหมด 338,385 เฮกตาร์ โดยพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 77 พื้นที่ป่าร้อยละ 3 พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้อยละ 2 ส่วนพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 18

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์

ปี 2564 จังหวัดด่งท้าบมีประชากรทั้งหมด 1.6 ล้านคน โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.93 ล้านคน มีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยด่งท้าบ (Dong Thap University) และยังมีวิทยาลัยอาชีวะอีก 2 แห่งฝึกอบรมแรงงานในจังหวัด ค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (138 – 156 ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP)

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดด่งท้าบยังไม่มีสนามบิน แต่สามารถเดินทางระยะทาง 90 กิโลเมตร เพื่อเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติเกิ่นเทอ (VCA) ซึ่งมีเที่ยวบินตรงจากจังหวัด/นครสำคัญของเวียดนามและจากต่างประเทศ

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดด่งท้าบมีท่าเรือด่งท้าบ (Dong Thap port) รองรับเรือขนาด 3,000 ตัน และท่าเรือซาแด้ก (Sa Dec Port) รองรับเรือบรรทุกขนาด 5,000 ตัน สามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านด่านชายแดนทางน้ำระหว่างเวียดนาม – กัมพูชาได้ที่ด่านชายแดน Vinh Xuong จังหวัดอานยาง

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดด่งท้าบ

 

ที่มา: Google Map (2563)

ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดด่งท้าบมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือระยะทางกว่า 50 กิโลเมตรติดกับจังหวัด Prey Veng ประเทศกัมพูชา โดยมีด่านชายแดนหลายแห่ง โดยเป็นด่านชายแดนนานาชาติ 2 แห่ง ได้แก่ ด่านชายแดนนานาชาติเถื่องเฟื้อก (Thuong Phuoc International Border gate) และด่านชายแดนนานาชาติยิญบ่า (Dinh Ba International Border gate) โดยทั้งสองแห่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจชายแดนขนาด 319 ตารางกิโลเมตร  จังหวัดมีถนนทางหลวง ได้แก่ QL30, QL54, QL80, N1 และ N2 ทำให้การคมนาคมขนส่งสินค้าทางบกค่อนข้างสะดวก รวมถึงสามารถเดินทางผ่านชายแดนไปที่ประเทศกัมพูชาได้ด้วย

เขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดด่งท้าบมีเขตเศรษฐกิจชายแดน 1 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งและเขตอุตสาหกรรมย่อย 15 แห่ง มุ่งเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น

  1. เขตเศรษฐกิจชายแดนด่งท้าบ (Dong Thap border gate economic zone) ซึ่งรวมประตูชายแดนนานาชาติ 2 แห่ง มีพื้นที่ทั้งหมด 319.38 ตารางกิโลเมตร
  2. นิคมอุตสาหกรรมซาแด้ก (Sa Dec Industrial Park) พื้นที่ 132 เฮกตาร์
  3. นิคมอุตสาหกรรมซองเหิ่ว I และ II (Song Industrial Park) พื้นที่ 116 เฮกตาร์
  4. นิคมอุตสาหกรรมเจิ่น ก๊วก ตว๋าน (Tran Quoc Toan Industrial Park) พื้นที่ 56.3 เฮกตาร์

นิคมอุตสาหกรรมทั้งสามแห่งดึงดูดการลงทุนทั่งในและต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้มีอัตราการเช่าพื้นที่สูงถึงร้อยละ 99.26 ปัจจุบันจังหวัดกำลังพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Tan Kieu อีก 148 เฮกตาร์ เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุน

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 87,214 พันล้านด่ง (3.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 0.76 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 36 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 20 และภาคบริการร้อยละ 38

ด้านการเกษตร ประมง และป่าไม้ ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.24 จากปีก่อนหน้า จังหวัดด่งท้าบมีนโยบายเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรโดยใช้พื้นที่และผลผลิตเท่าเดิม โดยจังหวัดมีผลผลิตการเกษตรที่มีชื่อเสียงหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวหอม Ramsar, Huong Tram, Miet Thu เป็นต้น ส่วนผลไม้ ได้แก่ สับปะรด Lai Sua, มะม่วงอกร่อง Cao Lanh, ส้มแมนดาริน Lai Vung (Quyt Hong) และลำไย Chau Thanh ปัจจุบันจังหวัดดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างการเกษตรโดยเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเน้นส่งเสริมสินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มะม่วง ไม้ประดับ ปลาวงศ์ปลาสวาย และเป็ด ทั้งนี้จังหวัดได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดตั้งแต่การให้ความรู้ ร่วมปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ ให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิคแก่เกษตรกร และยังยังมีการจัดกลุ่มเกษตรกรในระดับชุมชนที่เรียกว่า “Hoi quan Nong nhan” ที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลระหว่างนักวิชาการ รัฐบาลท้องถิ่นและเกษตรกร เพื่อช่วยให้ภาคการเกษตรปรับตัวได้เร็วตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด

แต่ละปี จังหวัดด่งท้าบมีผลผลิตข้าวประมาณ 3.3 ล้านตัน มะม่วง 90,000 ตัน ส้มแมนดาริน 30,000 ตัน ลำไย 50,000 ตัน และดอกไม้มากกว่า 3 ล้านกระถาง ซึ่งจังหวัดได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับการท่องเที่ยว โดยเมือง Sa Dec เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยววิถีเกษตรที่มีผู้มาเยี่ยมชมในแต่ละปีจำนวนมาก

ในด้านการปลูกข้าว จังหวัดด่งท้าบเป็นจังหวัดที่เริ่มใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกค่อนข้างเร็ว ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 504,295 เฮกตาร์ คิดเป็นมูลค่าการผลิตประมาณ 8,456 พันล้านด่ง การปลูกข้าวของจังหวัดด่งท้าบ เป็นแปลงปลูกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 100 – 1,000 เฮกตาร์ โดยมีผู้ประกอบการโรงสีข้าวจำนวน 264 ราย ในจำนวนดังกล่าวมี 26 รายเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีแบบอัตโนมัติในการผลิต  ส่วนสินค้าแปรรูปจากข้าวที่เป็นที่รู้จัก เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง วุ้นเส้น ข้าวต้ม ข้าวตัง เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นเฝอ ขนมจีนจากข้าว แป้งห่อ แป้งสารอาหาร น้ำมันรำข้าว แป้งข้าว เป็นต้น

อุตสาหกรรมการปลูกไม้ประดับของซาแด๊ก เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2410 (ประมาณ 150 ปี) เมื่อเวียดนามยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยชาวฝรั่งเศสได้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ เข้ามาปลูกในเมืองซาแด้ก ทำให้ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสวนดอกไม้ทางใต้ (Le Jardin de la Conchinchine) โดยดอกกุหลาบ Sa Dec มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและได้รับการพัฒนาให้มีสายพันธุ์กุหลาบมากถึง 200 ชนิด

ปัจจุบันเมืองซาแด๊กเป็นเมืองแห่งดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวนผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมด 2,300 ครัวเรือน บนพื้นที่กว่า 697 เฮกตาร์ ด้วยสายพันธุ์หลากหลายกว่า 2,000 ชนิด คิดเป็นมูลค่าในปี 2564 ถึง 1,300 พันล้านด่ง ซึ่งเทศกาลเต๊ดเป็นช่วงที่มียอดจำหน่ายไม้ประดับมากที่สุดของปี และนอกจากนี้เมืองซาแด๊กยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัด ทำให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ในด้านการปลูกมะม่วง มีพื้นที่ปลูกประมาณ 13,634 เฮกตาร์ เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของจังหวัดโดยปลูกมะม่วง Hoa Loc และ Cat Chu ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 134,570 ตันต่อปี

ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการปลูกบัว และสินค้าจากบัว จังหวัดด่งท้าบสร้างตราสินค้า “ดินแดนแห่งบัวชมพู” มาตั้งแต่ปี 2560 ได้รับการตอบรับที่ดีในแง่ของการพัฒนาสินค้าแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และการท่องเที่ยว โดยด่งท้าบเริ่มดำเนินนโยบายเปลี่ยนนาข้าวที่ให้ผลผลิตน้อยให้เป็นบึงบัว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปี 2565 จังหวัดมีพื้นที่เพาะปลูกบัวจำนวน 1,252 เฮกตาร์ มีสินค้าต่าง ๆ จากบัวมากถึง 220 ชนิด เช่น เม็ดบัวอบแห้ง เหล้าบัว ชาจากบัว นมจากเม็ดบัว ดอกบัว และเส้นใยจากบัว โดยตามแผนพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบจากบัวจนถึงปี 2568 จังหวัดจะขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 1,350 เฮกตาร์และจะได้ผลผลิตประมาณ 1,148 ตันต่อปี นอกจากนี้จังหวัดยังมีการจัดตั้งสมาคมสินค้าจากบัวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

การป่าไม้ ปี 2564 มีการแปรรูปไม้ประมาณ 113,950 ลูกบาศก์เมตรและถ่านไม้ 357,130 Ster นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทไม้ไผ่ และหน่อไม้ด้วย

ในด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดด่งท้าบโดดเด่นในการเพาะเลี้ยงสัตว์ปีก โดยมีการเลี้ยงเป็ดมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม มีประมาณ 3.7 ล้านตัว และไก่มี 1.8 ล้านตัว ส่วนปศุสัตว์ชนิดอื่นมีการเลี้ยงบ้าง แต่ไม่มาก เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ โดยมีจำนวนโคกระบือรวมกัน 45,443 ตัว และสุกรอีก 80,612 ตัว

การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปลาสวายเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัด โดยในปี 2564 มีการเพาะเลี้ยงบนพื้นที่ 2,192 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 0.48 ล้านตันมากเป็นอันดับต้นของเวียดนาม

ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.8 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว เนื้อปลาแช่แข็ง เสื้อผ้า เครื่องหนัง อาหารสัตว์ ยา ทรายก่อสร้าง เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 ลดลงร้อยละ 0.54 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดด่งท้าบ 0.81 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 5,617 พันล้านด่ง (240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดด่งท้าบ เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและธรรมชาติ โดยมีดอกบัวเป็นตราสัญลักษณ์สำคัญ “Dat Sen Hong” (ผืนดินดอกบัวชมพู) โดยแหล่งท่องเที่ยวที่นิยม ได้แก่ หมู่บ้านดอกไม้ Sa Dec, อุทยานแห่งชาติ Tram Chim, Xeo Quyt, เมือง Cao Lanh, บ้านโบราณ Huynh Thuy Le, บึงบัว Thap Muoi, Nam Phuong Linh Tu เป็นต้น ส่วนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้ริเริ่มและพัฒนา 4 โครงการ ได้แก่ การท่องเที่ยวหมู่บ้านดอกไม้ซาแด๊ก, สวนผัก Aquaponics ร่วมกับการเลี้ยงปลา, สวนผลไม้เทคโนโลยีขั้นสูง และสวนผักผลไม้มาตรฐาน VietGAP, Global GAP

 

2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดด่งท้าบ มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 685 และ 1,328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 22 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 232.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 4 โครงการเป็นมูลค่า 42.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมเกษตรและการประมงที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
  • อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตร
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
  • โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอสังริมทรัพย์
  • อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าการเกษตร

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดด่งท้าบ https://www.dongthap.gov.vn/

2. รายชื่อโครงการรอการลงทุน ปี 2564 – 2568 (ภาษาเวียดนาม): https://skhdt.dongthap.gov.vn/documents/291533/0/Phu+luc+1+-+725.pdf/248ee2fe-f587-8c64-1a92-ebd089b25cdf?t=1619662693147

3. เว็บไซต์ไม้ประดับของจังหวัดด่งท้าบ https://hoakiengdongthap.com/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดด่งท้าบ), สืบค้น จาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดด่งท้าบ (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดด่งท้าบ ประจำปี 2564

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

UBND Tỉnh Đồng Tháp, Decree No. 221/2018/NQ-HĐND Về việc thông qua Quy hoạch nông nghiệp, phát triển nông thôn tỉnh Đồng Tháp đến năm 2020, định hướng đến năm 2030

Cục Sở Hữu trí tuệ Việt Nam (2562), Bảo hộ Chỉ dẫn địa lý “Cao Lãnh” cho sản phẩm xoài, retrieved from http://www.noip.gov.vn/web/guest/phat-trien-chi-dan-ia-ly/-/asset_publisher/SGA9PgvmYtWI/content/bao-ho-chi-dan-ia-ly-cao-lanh-cho-san-pham-xoai

TTXVN (2561), Đồng Tháp phát triển 15 nhãn hiệu ngành hàng nông sản chủ lực, retrieved from

https://baotintuc.vn/kinh-te/dong-thap-phat-trien-15-nhan-hieu-nganh-hang-nong-san-chu-luc-20181120095530772.htm

TTXVN (2561), Quýt hồng – cây làm giàu ở Lai Vung, retrieved from

https://baotintuc.vn/tin-tuc/quyt-hong-cay-lam-giau-o-lai-vung-20140604194558977.htm

Báo Công Thương (2562), Đồng Tháp: Xây dựng ngành hàng chủ lực theo chiều sâu, nâng cao giá trị gia tăng sản phẩm nông nghiệp, retrieved from https://congthuong.vn/dong-thap-xay-dung-nganh-hang-chu-luc-theo-chieu-sau-nang-cao-gia-tri-gia-tang-san-pham-nong-nghiep-124800.html

Báo Đồng Tháp (2563), Xây dựng và phát triển Làng hoa gắn với phát triển du lịch trong năm 2020, retrieved from http://www.baodongthap.vn/kinh-te/xay-dung-va-phat-trien-lang-hoa-gan-voi-phat-trien-du-lich-trong-nam-2020-90911.aspx

Tong Cục Du lịch Việt Nam (2563), Đồng Tháp phát triển du lịch gắn với thương hiệu “Đất Sen hồng”, retrieved from http://www.vietnamtourism.gov.vn/index.php/items/33606

Báo ảnh Dân tộc và Miền núi- TTXVN (2561), Giải quyết đầu ra cho lúa gạo vùng Đồng Tháp Mười (Bài 1), retrieved from https://dantocmiennui.vn/giai-quyet-dau-ra-cho-lua-gao-vung-dong-thap-muoi-bai-1/228897.html

Báo ảnh Dân tộc và Miền núi- TTXVN (2561), Đồng Tháp gắn sản xuất nông nghiệp công nghệ cao với phát triển du lịch, retrieved from  https://dantocmiennui.vn/giai-quyet-dau-ra-cho-lua-gao-vung-dong-thap-muoi-bai-1/228897.html

Báo Nhân dân (2563), Viết tiếp giấc mơ trái xoài Ðồng Tháp, retrieved from https://nhandan.com.vn/phong-su-ghi-chep/viet-tiep-giac-mo-trai-xoai-ong-thap-579993/

Ban Quản lý Khu kinh tế tỉnh Đồng Tháp (2563), Thành lập Khu công nghiệp Tân Kiều tại huyện Tháp Mười, Retrieved from https://bqlkkt.dongthap.gov.vn/chi-tiet-bai-viet/-/asset_publisher/1mOzUrGkrdAE/content/id/1440984

Người Lao Động (2564), Tái cơ cấu nông nghiệp ở ĐBSCL nhìn từ Đồng Tháp, Retrieved from https://nld.com.vn/kinh-te/emgazine-tai-co-cau-nong-nghiep-o-dbscl-nhin-tu-dong-thap-diem-sang-cua-ca-nuoc-20220227185922517.htm

Tỉnh Đồng Tháp (2565), Tạo động lực mới cho thủ phủ hoa Sa Đéc tăng trưởng, Retrieved from https://dulich.dongthap.gov.vn/vi/detailnews/?t=update&id=news_351

Báo Tuổi trẻ (2564), Làng hoa Sa Đéc giảm trồng hoa, thêm sản phẩm Tết, Retrieved from https://tuoitre.vn/lang-hoa-sa-dec-giam-trong-hoa-them-san-pham-tet-20211206102938178.htm

Báo Đồng Tháp Online (2565), Thành lập Hội ngành hàng Sen Đồng Tháp, Retrieved from https://www.baodongthap.vn/kinh-te/thanh-lap-hoi-nganh-hang-sen-dong-thap-105649.aspx

Báo Đồng Tháp Online (2565), Từng bước định vị lại ngành hàng sen theo hướng phát triển bền vững, Retrieved from https://www.baodongthap.vn/kinh-te/tung-buoc-dinh-vi-lai-nganh-hang-sen-theo-huong-phat-trien-ben-vung-105651.aspx

Báo Thanh niên (2565), ‘Đất Sen hồng’ Đồng Tháp phát triển thương hiệu sen, Retrieved from https://thanhnien.vn/dat-sen-hong-dong-thap-phat-trien-thuong-hieu-sen-post1458575.html

Viện Khoa học Nông nghiệp Việt Nam (2565), Đưa ngành hàng sen lên tầm cao mới theo hướng đa giá trị, Retrieved from https://vaas.vn/vi/nong-nghiep-trong-nuoc/dua-nganh-hang-sen-len-tam-cao-moi-theo-huong-da-gia-tri

Báo Ảnh Dân tộc Miền núi (2565), Đồng Tháp: Trồng sen cho lợi nhuận trên 100 triệu đồng/ha, Retrieved from https://dantocmiennui.vn/dong-thap-trong-sen-cho-loi-nhuan-tren-100-trieu-dongha/323907.html

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

298

กำลังเข้าชมขณะนี้

317093

เข้าชมทั้งหมด