ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป
- จังหวัดดั๊กนงตั้งอยู่บนที่ราบสูงตะวันตก ซึ่งมีทรัพยากรป่าไม้ และแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ มีอุทยานธรณี Ta Dung ที่เพิ่งได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกจากองค์การยูเนสโก้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นอุทยานธรณีโลกของเวียดนามแหล่งที่ 3 ที่ได้รับรอง
- เศรษฐกิจของจังหวัดพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก เช่น การทำเหมืองแร่ การปลูกกาแฟ พริกไทย และยางพารา โดยพริกไทยดั๊กนงเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองด้านภูมิศาสตร์
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด
1.1 ข้อมูลที่ตั้งและเขตการปกครอง
จังหวัดดั๊กนง เป็น 1 ใน 5 จังหวัดบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันตกของเวียดนาม แยกออกมาจากจังหวัดดั๊กลั๊ก (Dak Lak Province) เมื่อปี 2546 โดยอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ 215 กิโลเมตร และห่างจากเมืองบวนมาถ่วด จังหวัดดั๊กลั๊ก (Buon Ma Thuot City, Dak Lak Province) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของภูมิภาค 130 กิโลเมตร
จังหวัดดั๊กนงมีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจังหวัดดั๊กลั๊ก ทิศตะออกเฉียงใต้และทิศใต้ติดกับจังหวัดเลิมด่ง (Lam Dong Province) และจังหวัดบิ่ญเฟื้อก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกติดกับประเทศกัมพูชาเป็นระยะทาง 130 กิโลเมตร มีด่านชายแดนระดับชาติ 2 แห่ง ได้แก่ ด่านชายแดน Bu Prang และด่านชายแดน Dak Peur ซึ่งติดกับจังหวัดมณฑลคีรีของกัมพูชา (Mondulkiri Province)
รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดดั๊กนง
ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)
ภูมิประเทศจังหวัดดั๊กนงมีพื้นที่เป็นที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเล 600 – 700 เมตร โดยบริเวณอำเภอ Ta Dung สูงที่สุดของจังหวัดมีระดับความสูงที่ 1,982 เมตร มีแม่น้ำ Serepok และแม่น้ำ Krong No ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำด่งนายอีกด้วย
จังหวัดดั๊กนงมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 23 – 30 องศา ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,500 มิลลิเมตรต่อปี มีปริมาณแสงอาทิตย์ 2,000 – 2,300 ชั่วโมงต่อปี
จังหวัดดั๊กนงมีพื้นที่ทั้งหมด 6,509 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 8 พื้นที่ ประกอบไปด้วยอำเภอยาเหงี๋ย (Gia Nghia District) เป็นศูนย์กลางราชการส่วนท้องถิ่น และอีก 7 อำเภอ
ปี 2564 จังหวัดดั๊กนงได้รับการจัดอันดับ 52 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม
1.2 ทรัพยากร
1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดดั๊กนงมีที่ดินทั้งหมด 650,900 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรร้อยละ 56 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 35 และพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อประกอบธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 5
จังหวัดดั๊กนงมีทรัพยากรป่าไม้และน้ำจืดค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยมีเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ Nam Nung และมีอุทยานธรณี Ta Dung (Unesco Global Geopark) ได้รับรองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นอุทยานธรณีแห่งที่ 3 ของเวียดนาม ทั้งนี้อุทยานธรณี Ta Dung มีพื้นที่ 4,760 ตารางกิโลเมตร หรือเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด จากการสำรวจพบร่องรอยการอยู่อาศัยถาวรของมนุษย์มากว่า 6,000 – 7,000 ปีภายในถ้ำภูเขาไฟ เหมาะแก่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีน้ำตกขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง ที่ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก Dray Nur – Dray Sap, Lien Nung, Nam Tang เป็นต้น
นอกจากนี้จังหวัดดั๊กนงมีแร่ธาตุ 16 ชนิด เช่น บอกไซต์ วุลแฟรม แอนดิโมอัล บะซอลต์ ทรายก่อสร้าง หินแกรนิต ดินกระเบื้อง ถ่านหิน ดินขาว ไพลิน โอปอล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพบน้ำแร่ธรรมชาติปริมาณมากด้วย
1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์
ปี 2564 จังหวัดดั๊กนง มีประชากรทั้งหมด 0.66 ล้านคน โดยแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.39 ล้านคน เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง โดยประชากรร้อยละ 35 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างกันถึง 40 กลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ M’Nong มีจำนวนมากที่สุด
แม้ว่าจังหวัดดั๊กนงไม่มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวะ มีเพียงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น เนื่องจากมีประชากรน้อย และพึ่งพาระบบการศึกษาของจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก ค่าแรงพื้นฐานอยู่ที่ 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ (Decree No.38/2022/NĐ-CP)
1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง
ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จากจังหวัดดั๊กนงสามารถเดินทางเข้าสู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายใต้ส่วนกลาง (Central Subcorridor) หรือเส้นทาง R1 ผ่านจังหวัดเต็ยนิญ โดยมีระยะห่างจากด่านชายแดนนานาชาติ Moc Bai ประมาณ 232 กิโลเมตร
จังหวัดดั๊กนงไม่มีสนามบินและไม่มีท่าเรือ จึงพึ่งพาการคมนาคมขนส่งทางบกเป็นหลัก มีถนนทางหลวง ได้แก่ QL14, QL 28 และทางหลวงสายเอเชีย AH17 เชื่อมไปยังจังหวัดอื่นและประเทศเพื่อนบ้าน
รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดดั๊กนง
ที่มา: Google Map (2565)
ด้านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดดั๊กนงมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง และเขตอุตสาหกรรมย่อยอีก 5 แห่ง โดยนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่
- 1. นิคมอุตสาหกรรม Tam Thang พื้นที่ 181 เฮกตาร์ (อัตราการเช่าร้อยละ 77)
- 2. นิคมอุตสาหกรรม Nhan Co พื้นที่ 95 เฮกตาร์ โดยมีอุตสาหกรรมแปรรูปแร่ธาตุ ได้แก่ บอกไซต์ และอลูมิเนียม
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดดั๊กนง (GDP) คิดเป็นมูลค่า 20,700 พันล้านด่ง (0.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.6 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 38 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 19 และภาคบริการร้อยละ 39 (ภาษีสินค้าร้อยละ 4)
ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5 จังหวัดดั๊กนงมีการปลูกไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ โดยปลูกกาแฟ 131,000 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 306,700 ตันมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศเวียดนาม ปลูกพริกไทย 33,000 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 60,000 ตัน จังหวัดมีการปลูกไม้ยืนต้นและผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้แก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยางพารา โกโก้ เสาวรส ทุเรียน (22,000 ตันต่อปี) และอโวคาโด (18,900 ตันต่อปี) รวม 16,000 เฮกตาร์
จังหวัดดั๊กนงมีผลผลิตจากข้าวและพืชไร่ ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น โดยส่วนใหญ่ปลูกข้าว ข้าวโพด มันเทศญี่ปุ่น โดยคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกรวม 60,000 เฮกตาร์
ส่วนการปลูกข้าวและพืชไร่ มีพื้นที่ 110,400 เฮกตาร์ได้ผลผลิตข้าว 78,840 ตันและข้าวโพด 365,000 ตัน ส่วนการป่าไม้ ปี 2564 มีการแปรรูปไม้ประมาณ 8,400 ลูกบาศก์เมตร
เนื่องจากอยู่บนที่ราบสูงไม่เหมาะแก่การประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีผลผลิตจากการประมงและเพาะเลี้ยงเพียง 7,600 ตัน ส่วนด้านการปศุสัตว์มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยมีการเลี้ยงสุกร 0.23 ล้านตัว, โคกระบือ 30,650 ตัว และสัตว์ปีก 2.4 ล้านตัว และมีการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งควบคู่ไปกับการเพาะปลูกกาแฟ
ด้านอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 26 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เหมืองแร่ และสินค้าจากเหมืองแร่ อิฐก่อสร้าง อลูมิเนียม ทรายก่อสร้าง ไม้แปรรูป ไม้อัด แป้งมัน กาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูป ถั่วลิสงอบแห้ง เป็นต้น
ด้านบริการและการค้า ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีผู้เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดดั๊กนงประมาณ 0.13 ล้านคน โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเป็นการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ และผจญภัย ได้แก่ การท่องเที่ยวอุทยานธรณี Ta Dung, ชมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์, เขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ Nam Nung, น้ำตก Dray Sap – Dray Nur เป็นต้น
2.2 การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดดั๊กนง มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 225 และ 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 รวมทั้งหมด 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 311.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่ 1 โครงการ มูลค่า 7.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัดดั๊กนง 1 โครงการ มูลค่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โครงการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์สุกร และสุกรเนื้อของบริษัท Arrow Genetics (Vietnam) จำกัด
2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน
- โครงสร้างพื้นฐาน
- อุตสาหกรรมการเกษตร
- อุตสาหกรรมเหมืองแร่ แปรรูปแร่ธาตุ และวัสดุก่อสร้าง
- อุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
แหล่งข้อมูลอื่นที่ควรทราบ
1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดดั๊กนง: https://daknong.gov.vn/
2. รายชื่อโครงการรอการลงทุน http://www.daknongdpi.gov.vn/UploadFiles/20201217_031159PM_1731qdubnd_keu_goi_dau_tu.pdf
3. เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมการลงทุน การค้า และท่องเที่ยวจังหวัดดั๊กนง: http://ipcdaknong.com.vn/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สภาประชาชนจังหวัดดั๊กนง (2564), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดดั๊กนง ประจำปี 2564
สภาประชาชนจังหวัดดั๊กนง (2564), ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดดั๊กนง, สืบค้นจาก https://daknong.gov.vn/
กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021
Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly
Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.
Báo Công thương (2562), Tây Ninh: “Đánh thức” tiềm năng năng lượng tái tạo, retrieved from https://congthuong.vn/tay-ninh-danh-thuc-tiem-nang-nang-luong-tai-tao-
VN Express (2563), One more geopark in Vietnam gets UNESCO recognition, retrieved from https://e.vnexpress.net/news/travel/places/one-more-geopark-in-vietnam-gets-unesco-recognition-4127226.html
Báo Tuổi trẻ (2563), Đắk Nông thêm cơ hội từ công viên địa chất toàn cầu, retrieved from https://tuoitre.vn/dak-nong-them-co-hoi-tu-cong-vien-dia-chat-toan-cau-20200714103655723.htm
Lao Động (2564), Tốc độ tăng trưởng của Đắk Nông đứng thứ 7 cả nước, retrieved from https://laodong.vn/kinh-te/toc-do-tang-truong-cua-dak-nong-dung-thu-7-ca-nuoc-989666.ldo
Lao Động (2564), Cà phê Đắk Nông trúng mùa, được giá, retrieved from https://laodong.vn/kinh-doanh/ca-phe-dak-nong-trung-mua-duoc-gia-970552.ldo
Lao Động (2564), Hồ tiêu – cây trồng đầu tiên được công bố chỉ dẫn địa lý ở Đắk Nông, retrieved from https://laodong.vn/kinh-doanh/ho-tieu-cay-trong-dau-tien-duoc-cong-bo-chi-dan-dia-ly-o-dak-nong-979270.ldo
Cổng thông tin điện tử Bộ Văn hóa, Thể thao và Du lịch (2565), Đắk Nông: Bức tranh du lịch khởi sắc, Retrieved from https://bvhttdl.gov.vn/dak-nong-buc-tranh-du-lich-khoi-sac-20220722150215673.htm
Cổng thông tin Nông thôn mới tỉnh Đắk Nông (2564), Những lợi thế nông nghiệp Đắk Nông, Retrieved from http://nongthonmoi.daknong.gov.vn/news/kinh-te-to-chuc-san-xuat/nhung-loi-the-nong-nghiep-dak-nong/
Cổng thông tin Nông thôn mới tỉnh Đắk Nông (2564), Đắk Nông rộng đường với lúa đặc sản, Retrieved from http://nongthonmoi.daknong.gov.vn/news/kinh-te-to-chuc-san-xuat/dak-nong-rong-duong-voi-lua-dac-san/