ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

ก่าเมา

cau mau

ก่าเมา

ข้อมูลจังหวัดก่าเมาโดยสังเขป

  • รัฐบาลตั้งเป้าให้จังหวัดก่าเมาเป็นศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศ โดยการเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อยเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศเวียดนาม แต่ละปีมีผลผลิตกุ้งประมาณ 259,000 ตัน และเกือบทั้งหมดแปรรูปเป็นกุ้งแช่แข็งส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ จังหวัดยังมีอุตสาหกรรมประมง ขุดเจาะน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และการทำปุ๋ยเคมีอีกด้วย
  • อำเภอนัมกัน จังหวัดก่าเมา เป็นจุดปลายสุดของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายย่อยเรียบชายฝั่งตอนใต้ของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Southern Coastal Sub-Corridor) หรือเส้นทาง R10 เชื่อมโยงพื้นที่ EEC ของไทยกับชายฝั่งกัมพูชาและเวียดนาม
  • จังหวัดมีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามบริเวณเกาะ Hon Khoai อยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจนัมกัน ซึ่งสามารถรองรับเรือขนาดสูงสุดถึง 250,000 ตัน รวมถึงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้
  • จังหวัดก่าเมาเป็นผู้ส่งออกปูและอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่าประมาณ 1.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของเวียดนามในปี 2564
  • สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ กุ้งกุ้งกุลาดำ และปูทะเลก่าเมา
  • จังหวัดก่าเมาได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่มิตรกับจังหวัดตราดตั้งแต่ปี 2560

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดก่าเมา 

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดก่าเมา เป็น 1 ใน 13 จังหวัดบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและเป็นจังหวัดที่อยู่ปลายสุดของคาบสมุทรก่าเมา โดยจังหวัดตราดและจังหวัดก่าเมาได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องตั้งแต่ปี 2560

จังหวัดก่าเมาตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ประมาณ 300 กิโลเมตร ห่างจากนครเกิ่นเทอ 180 กิโลเมตร อาณาเขตด้านทิศเหนือของจังหวัดก่าเมาติดกับจังหวัดเกียนซาง (Kien Giang Province) และจังหวัดบากเลียว (Bac Lieu Province)  ทางด้านตะวันออกติดทะเลจีนใต้ และทิศตะวันตกติดทะเลอ่าวไทย บริเวณคาบสมุทรก่าเมา (Ca Mau Peninsula) ซึ่งเป็นอาณาเขตที่ติดกับทะเลมีระยะทางกว่า 254 กิโลเมตร

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดก่าเมา

ที่มา: Google Map (2565)

จังหวัดก่าเมามีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่บริเวณปลายคาบสมุทรก่าเมาเป็นพื้นอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก้เป็นเขตชีวมณฑลของโลก (biosphere reserve) เมื่อปี 2552 และเป็นหนึ่งในเขตอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์เมื่อปี 2556

อุณภูมิโดยเฉลี่ยของจังหวัดก่าเมาอยู่ที่ 25 – 27 องศาเซลเซียส โดยฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง พฤศจิกายนของทุกปี แต่ละปีมีวันที่ฝนตก 165 วัน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,360 มิลลิเมตร

จังหวัดก่าเมามีพื้นที่ทั้งหมด 5,294.87 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 9 พื้นที่ โดยมีเมืองก่าเมา เป็นศูนย์กลางราชการส่วนท้องถิ่น และอีก 8 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดก่าเมาได้รับการจัดอันดับ 32 จาก 63 จังหวัดในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นของเวียดนาม

 

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดก่าเมามีที่ดินทั้งหมด 529,487 เฮกตาร์ โดยพื้นที่ดินกว่าร้อยละ 27 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่สำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร้อยละ 43 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 18  และที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ประกอบธุรกิจและวัตถุประสงค์อื่นๆ ร้อยละ 11 ที่ดินส่วนใหญ่ของก่าเมาเป็นที่ดินเกิดใหม่จากการทับถมของตะกอนที่มาจากแม่น้ำโขง ซึ่งมีการทับถมเพิ่มและถูกเซาะกร่อนตลอดเวลา บางส่วนถูกน้ำทะเลท่วมและน้ำเค็มแทรกซึมทำให้ดินมีความเค็ม และบางส่วนมีสารส้มเจือปนจึงไม่เหมาะแก่การปลูกข้าว แต่ยังสามารถปลูกพืชจำพวกสัปปะรด อ้อย หรือกล้วยได้

ทรัพยากรน้ำจืดมีเฉพาะพื้นที่ป่าเสม็ด U Minh เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ยังใช้น้ำฝน หรือน้ำบาดาลเป็นหลัก อย่างไรก็ตามพื้นที่หลักเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็ม เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ทะเล

ทรัพยากรป่าไม้ของก่าเมาคิดเป็นร้อยละ 77 ของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง หรือ 103,723 เฮกตาร์ โดยเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากป่าอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้เท่านั้น

จังหวัดก่าเมามีปริมาณน้ำมันดิบสำรองค่อนข้างมาก จากการคาดการณ์อยู่ที่ 172,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถขุดเจาะน้ำมันดิบได้ปีละ 8,250 ล้านลูกบาศก์เมตร ทรัพยากรแร่ธาตุอื่น ๆ ได้แก่ ถ่านหิน 75 ล้านตัน หินอัคนี ดินเหนียว และดินกระเบื้อง

จังหวัดก่าเมามีพื้นที่ติดทะเลคิดเป็น 1 ใน 3 ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จึงสามารถทำการประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ถึง 71,000 เฮกตาร์ ซึ่งจากการสำรวจมีสัตว์ทะเลหลากหลายและปริมาณมากอีกด้วย

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดก่าเมา มีประชากรทั้งหมด 1.19 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.7 ล้านคน มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย Ton Duc Thang และ Binh Duong เป็นต้น และวิทยาลัยอาชีวะอีก 3 แห่งฝึกอบรมแรงงานในจังหวัด ค่าแรงขั้นต่ำ 3.25 – 4.16 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 178 ดอลลาร์สหรัฐ) ตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ (Decree No.38/2022/NĐ-CP)

 

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านการคมนาคมทางอากาศ จังหวัดก่าเมามีสนามบิน 2 แห่ง คือสนามบินก่าเมา (Ca Mau Airport:CAH) มีเที่ยวบินจากนครโฮจิมินห์ถึงก่าเมา (SGN – CAH) วันละ 1 เที่ยวบินโดยสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ ส่วนสนามบินนัมกัน (Nam Can Airport) ใช้เพื่อขุดเจาะน้ำมันและการทหารเท่านั้น

ด้านการคมนาคมทางน้ำ จังหวัดก่าเมามีท่าเรือ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือก่าเมา และกำลังก่อสร้างท่าเรือนัมกันซึ่งสามารถรองรับเรือขนาด 5,000 ตันได้ นอกจากนี้จังหวัดมีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก Hon Khoai ซึ่งอยู่ติดกับเขตเศรษฐกิจนัมกัน (Nam Can Economic Zone) ซึ่งจะเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่มากถึง 250,000 ตัน รวมถึงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ และจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านการคมนาคมทางบกและการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค จังหวัดก่าเมาตั้งอยู่ห่างจากนครพนมเปญ 165 กิโลเมตร ห่างจากด่านชายแดนนานาชาติห่าเตียน จังหวัดเกียนซาง 225 กิโลเมตร ทั้งนี้อำเภอนัมกัน (Nam Can District) เป็นจุดหมายปลายทางของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายย่อยเรียบชายฝั่งตอนใต้ของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Southern Coastal Sub-Corridor) หรือเส้นทาง R10 เชื่อมโยงไทย กัมพูชา และเวียดนาม

พื้นที่จังหวัดก่าเมา มีถนนทางหลวง 2 เส้นหลัก คือ QL1A เชื่อมจังหวัดก่าเมากับจังหวัดบากเลียว และ QL63 ที่เชื่อมโยงจังหวัดก่าเมากับจังหวัดเกียนยาง และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายย่อยเรียบชายฝั่งตอนใต้ของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาก่อสร้างทางด่วนเชื่อมโยงนครเกิ่นเทอมายังจังหวัดก่าเมาซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565

ด้านเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดก่าเมามีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 2 แห่ง และพื้นที่การค้าชายแดนอีก 1 แห่ง ได้แก่

  1. นิคมอุตสาหกรรม Khanh An พื้นที่ 235.86 เฮกตาร์
  2. นิคมอุตสาหกรรม Hoa Tung พื้นที่ 326 เฮกตาร์
  3. เขตเศรษฐกิจนัมกัน พื้นที่ 10,801 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทางธุรกิจ

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GDP) คิดเป็นมูลค่า 57,345 พันล้านด่ง (2.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 0.92 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 34 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 29 ภาคบริการร้อยละ 33 (ภาษีร้อยละ 4)

ด้านการเกษตร ประมง และป่าไม้ ปี 2564 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า มีการประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีความสำคัญที่สุดของจังหวัด โดยปี 2564 ผลผลิตจากการประมงเลี้ยงสัตว์น้ำคิดเป็น 609,230 ตัน เพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.2

การปลูกข้าว มีพื้นที่ 100,089 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 459,015 ตัน นอกจากนี้จังหวัดยังมีสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงอีกหลายรายการ เช่น กุ้งแห้ง Rach Goc, น้ำผึ้งป่า U Minh Ha, ปลาแดดเดียว U Minh, ปู Nam Can, ปลาร้าปลาช่อน Thoi Binh, กล้วยตาก Tran Hoi, ข้าวเกรียบกุ้ง Mui Ca Mau เป็นต้น

อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของจังหวัดก่าเมาใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศเวียดนาม ส่งออกกุ้งเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของเวียดนาม ปี 2564 มีมูลค่ากุ้งส่งออกเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเลี้ยงกุ้งของจังหวัดส่วนมากเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ พื้นที่เลี้ยงกุ้งของจังหวัดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 และ40 ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและของประเทศเวียดนามตามลำดับ

ด้านการปศุสัตว์ จังหวัดก่าเมามีการเพาะเลี้ยงสัตว์จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น โดยมีโคและกระบือรวมกัน 590 ตัว หมู 79,472 ล้านตัว และสัตว์ปีกประมาณ 3.3 ล้านตัว

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ในปี 2564 มีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7 มูลค่าหลักมาจากกุ้งแช่แข็ง น้ำมันดิบ ปุ๋ยเคมี แก๊สสำเร็จรูป และแก๊สเหลว นอกจากนี้ก่าเมายังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนโครงการพลังงานลมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนามตามยุทธศาสตร์ของประเทศเวียดนามปี 2563 – 2568 โดยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้ากว่า 6,500 MW ปัจจุบันมีโครงการพลังงานลมที่กำลังดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 12 โครงการ มีกำลังผลิตรวมกว่า 700 MW

ด้านบริการและการค้าเป็นส่วนที่มีมูลค่าสูงที่สุด โดยมาจากการค้าปลีกเป็นหลัก ในปี 2564 ลดลงร้อยละ 2.9 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดหยุดชะงักเกือบตลอดทั้งปี 2564 จากข้อมูลสถิติการท่องเที่ยวจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในจังหวัดกว่า 0.8 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าตลอดปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยว 1.2 ล้านคน นำรายได้เข้าจังหวัดกว่า 1,500 พันล้านด่ง (64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

2.2 การค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดก่าเมามีมูลค่านำเข้าสินค้า และมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 125 และ 1,115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 11 โครงการ คิดเป็น 158.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มีโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 1 โครงการเป็นมูลค่า 35.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธุรกิจไทยมีการลงทุนในจังหวัดก่าเมา 2 โครงการ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ของบริษัท ซี.พี. เวียดนาม (มูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และบริษัทพลังงาน Super Wind Energy Cong Ly ตั้งอยู่บริเวณเขตท่องเที่ยว Khai Long มีกำลังการผลิต 100 MW (มูลค่าโครงการ 238.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมการเกษตรและประมงออร์แกนิค หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
  • อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ไม้แปรรูป โรงงานซ่อมเรือประมง
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ
  • โครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือเกาะ Hon Khoai ถนนและสะพาน ท่ารถ ที่อยู่อาศัย ตลาดและศูนย์การค้า เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ

1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดก่าเมา http://camau.gov.vn/

2. รายชื่อโครงการลงทุน: https://ipec.com.vn/en/camau-invest/

3. เว็บไซต์ศูนย์ส่งเสริมการลงทุน การค้าและการท่องเที่ยวจังหวัดก่าเมา: https://ipec.com.vn/en/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดก่าเมา), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-nam/thong-tin-dia-phuong

สภาประชาชนจังหวัดก่าเมา (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดก่าเมา ประจำปี 2564

กรมศุลกากรเวียดนาม (2565), รายงานการนำเข้าส่งออกจำแนกตามจังหวัด ปี 2021

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Chương trình Hỗ trợ Năng lượng Bộ CT/GIZ (2563), Khởi công dự án Nhà máy điện gió khu du lịch Khai Long, retrieved from http://gizenergy.org.vn/vn/article/khoi-cong-du-an-nha-may-dien-gio-khu-du-lich-khai-long

Báo ảnh Dân tộc và Miền núi- TTXVN (2562), Cà Mau phát triển thương hiệu các sản phẩm chủ lực, retrieved from https://dantocmiennui.vn/ca-mau-phat-trien-thuong-hieu-cac-san-pham-chu-luc/237496.htm

Báo điện tử Chính phủ (2562), Thủ tướng tin Cảng Hòn Khoai sẽ là điểm nhấn để Cà Mau cất cánh, retrieved from http://baochinhphu.vn/Tin-noi-bat/Thu-tuong-tin-Cang-Hon-Khoai-se-la-diem-nhan-de-Ca-Mau-cat-canh/382272.vgp

Nông nghiệp Việt Nam (2565), Xuất khẩu tôm Cà Mau chiếm 30% kim ngạch cả nước, Retrievef from https://nongnghiep.vn/xuat-khau-tom-ca-mau-chiem-30-kim-ngach-ca-nuoc-d313145.html

Cà Mau Online (2564), Năm 2021: Cà Mau tăng trưởng 0,92%, Retrieved from https://www.baocamau.com.vn/chinh-tri-xa-hoi/nam-2021-ca-mau-tang-truong-0-92-71046.html

B News (2565), Cà Mau đặt mục tiêu đóng góp trên 6.500MW điện gió vào hệ thống điện quốc gia, Retrieved from https://bnews.vn/ca-mau-dat-muc-tieu-dong-gop-tren-6-500mw-dien-gio-vao-he-thong-dien-quoc-gia/244910.html

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

302

กำลังเข้าชมขณะนี้

317102

เข้าชมทั้งหมด