ข้อมูลรายจังหวัด/นคร

กาวบั่ง

cao bang

กาวบั่ง

ข้อมูลจังหวัดโดยสังเขป

  • อุตสาหกรรมหลักของจังหวัดกาวบั่ง ได้แก่ เหมืองแร่ เขื่อนไฟฟ้า การเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวิถีชีวิต
  • จังหวัดกาวบั่งมีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างมาก มีอุทยานธรณีโลกกาวบั่ง (Cao Bang global geopark) ได้รับรองจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2561 โดยมีน้ำตกบ๋านซ็อก (Ban Gioc Waterfall) ซึ่งเป็นน้ำตกพรมแดนระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
  • จังหวัดกาวบั่งเป็นจังหวัดบนที่ราบสูงอยู่ติดกับประเทศจีน โดยมีด่านชายแดนนานาชาติต่าหลุ่งเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศเวียดนามและจีนในการขนส่งสินค้าเกษตรและสินค้าจากการแปรรูปแร่ธาตุต่าง ๆ
  • จังหวัดกาวบั่งมีสินค้าที่ได้รับความคุ้มครองด้านภูมิศาสตร์ 2 รายการ ได้แก่ ไผ่โมโซและเสื่อที่ทำจากไผ่โมโซ และเกาลัด Trung Khanh

ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดกาวบั่ง 

1.1 ข้อมูลที่ตั้ง การปกครอง

จังหวัดกาวบั่ง เป็น 1 ใน 9 จังหวัดบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม อยู่ห่างจากกรุงฮานอย 286 กิโลเมตร และห่างจากนครไฮฟอง 305 กิโลเมตร  จังหวัดกาวบั่งมีอาณาเขตด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับประเทศจีนจึงมีด่านชายแดนหลายแห่ง ทิศใต้ติดกับจังหวัดหล่างเซิน (Lang Son Province) จังหวัดบั๊กกั่น (Bac Kan Province) และจังหวัดเตวียนกวาง (Tuyen Quang Province) และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดห่าซาง (Ha Giang Province)

รูปที่ 1 แผนที่จังหวัดกาวบั่ง 

ที่มา: http://gis.chinhphu.vn/(2563)

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดกาวบั่งมีพื้นที่เป็นภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อนมีที่ราบลุ่มระหว่างภูเขา มีความสูงโดยเฉลี่ย 600 – 1,300 เมตร พื้นที่กว่าร้อยละ 90 เป็นป่าดงดิบซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย โดยทั่วไปจังหวัดกาวบั่งมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 22 – 24 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,300 – 2,400 มิลลิเมตร

จังหวัดกาวบั่งมีพื้นที่ทั้งหมด 6,700 ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น 10 พื้นที่ ประกอบไปด้วยเมืองกาวบั่ง (Cao Bang City) เป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนท้องถิ่นและอีก 9 อำเภอ

ปี 2564 จังหวัดกาวบั่ง ได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับสุดท้ายในด้านความสามารถในแข่งขันระดับประเทศ (PCI) ขณะที่การจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการภาครัฐ (PAPI) ถือว่ามีคุณภาพปานกลางของประเทศเวียดนาม

1.2 ทรัพยากร

1.2.1 ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดกาวบั่ง มีที่ดินทั้งหมด 670,000 เฮกตาร์เป็นพื้นที่การเกษตรร้อยละ 16 พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 77 พื้นที่อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกร้อยละ 3 พื้นที่ของจังหวัดมีแม่น้ำ Gam และลำธารจำนวนมากไหลผ่านพื้นที่  จังหวัดกาวบั่งมีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างมาก มีอุทยานธรณีโลกกาวบั่ง (Cao Bang global geopark) ได้รับรองจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2561 โดยมีน้ำตกบ๋านซ็อก (Ban Gioc Waterfall) ซึ่งเป็นน้ำตกพรมแดนระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด และจากการสำรวจยังพบแร่ธาตุ 22 ประเภท โดยที่มีการทำเหมืองแร่ ได้แก่ สังกะสี ตะกั่ว เหล็ก ทองแดง แมงกานีส ดินขาว นิกเกิล บอกไซต์ และแร่ประเภทวัสดุก่อสร้าง

1.2.2 ทรัพยากรมนุษย์และวัฒนธรรม

ปี 2564 จังหวัดกาวบั่ง มีประชากรทั้งหมด 0.54 ล้านคน คิดเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป 0.35 ล้านคน จังหวัดกาวบั่งมีวิทยาลัยอาชีวะ 1 แห่งฝึกอบรมแรงงานของจังหวัด โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 3.25 – 3.64 ล้านด่งต่อเดือน (139 – 156 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ตามพื้นที่จ้างงาน (Decree No.38/2022/NĐ-CP) มีประชากรชาติพันธุ์อาศัยอยู่มากกว่า 22 กลุ่ม โดยคิดเป็นร้อยละ 90 จากประชากรทั้งหมดในจังหวัดกาวบั่ง

1.3 โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

จังหวัดกาวบั่งไม่มีสนามบินและไม่มีท่าเรือขนาดใหญ่ การเดินทางสู่จังหวัดพึ่งพาการเดินทางขนส่งด้วยรถยนต์เป็นหลัก โดยมีเส้นทางหลวง ได้แก่ QL3, QL4A, QL4C และ QL34 โดยจังหวัดกาวบั่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าระหว่างเวียดนามและประเทศจีนผ่านด่านชายแดนนานาชาติต่าหลุ่ง (Ta Lung International border gate)

รูปที่ 2 ถนนหลวงในจังหวัดกาวบั่ง 

ที่มา: Google Map (2565)

จังหวัดกาวบั่งมีเขตเศรษฐกิจชายแดน 3 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง ได้แก่

  1. เขตเศรษฐกิจชายแดนนานาชาติต่าหลุ่ง (Ta Lung International border economic zone) มีพื้นที่ 336 เฮกตาร์
  2. เขตเศรษฐกิจชายแดนระดับชาติจ่าหลิญ (Tra Linh national border economic zone) มีพื้นที่ 36 เฮกตาร์
  3. เขตเศรษฐกิจชายแดนระดับชาติซ็อกซาง (Soc Giang national border economic zone) มีพื้นที่ 70 เฮกตาร์
  4. นิคมอุตสาหกรรม De Tham มีพื้นที่ 92.21 เฮกตาร์

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ 

2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ

ปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดกาวบั่ง (GDP) คิดเป็นมูลค่า 19,843 พันล้านด่ง (0.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.33 แบ่งออกเป็นภาคการเกษตรร้อยละ 23 อุตสาหกรรมและก่อสร้างร้อยละ 20 ภาคบริการร้อยละ 53

ด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงของจังหวัดกาวบั่ง ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า จังหวัดกาวบั่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวและพืชไร่รวม 94,870 เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าว 132,675 ตัน ข้าวโพด 155,763 ตัน  มันสำปะหลัง 42,823 ตัน อ้อย 171,111 ตัน และผัก 36,954 ตัน

จังหวัดกาวบั่งมีพื้นที่เพาะปลูกไม้ยืนต้นประมาณ 9,194 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่ปลูกเครื่องเทศและสมุนไพร โดยปลูกโป๊ยกั้กมากที่สุด นอกจากนี้มีการปลูกชา และผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น มะม่วง ส้ม ส้มโอ แก้วมังกร เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลผลิตของจังหวัดไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ภูเขาสูงไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ยืนต้น

พื้นที่ป่าของจังหวัดกาวบั่งเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่เพื่อความมั่นคงจึงมีพื้นที่สำหรับการแปรรูปไม้เพียงบางส่วนเท่านั้น ปี 2564 ได้ไม้ทั้งหมด 27,615 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์จากป่าอื่นๆ เช่น หวาย ไผ่ อบเชย กระวาน หน่อไม้ เห็ด และสมุนไพรด้วย

ด้านการปศุสัตว์ของจังหวัดกาวบั่งมีขนาดปานกลางปี 2564 มีโคกระบือรวมกัน 209,496 ตัว สุกร 302,285 ตัว สัตว์ปีก 2.9 ล้านตัว และมีการเลี้ยงม้า 8,453 ตัวซึ่งมากที่สุดในเวียดนาม ด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 590 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้าโดยเกือบทั้งหมดมาจากการเพาะเลี้ยง

ด้านอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดกาวบั่งส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ เขื่อนไฟฟ้า เหมืองแร่ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ด้านบริการและการค้า มีมูลค่ามาจากการค้าปลีกเป็นหลัก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ส่วนด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 0.41 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 70.42 พันล้านด่ง (3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 การท่องเที่ยวของจังหวัดกาวบั่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เกษตรกรรม และวัฒนธรรม

2.2 การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 จังหวัดกาวบั่ง มีมูลค่านำเข้าสินค้าและมูลค่าส่งออกสินค้าคิดเป็น 57 และ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

มูลค่าลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมจนถึงปี 2564 ทั้งหมด 17 โครงการคิดเป็น 36.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.3 อุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุน

  • อุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปสินค้าเกษตร
  • การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
  • เหมืองแร่และแปรรูปแร่ธาตุ

แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

  1. เว็บไซต์ของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกาวบั่ง: https://caobang.gov.vn/
  2. โครงการที่เปิดให้ลงทุน: https://caobang.gov.vn/1355/34286/85863/du-an-dau-tu
  3. เว็บไซต์ส่งเสริมการลงทุนและการค้าจังหวัดกาวบั่ง: https://sokhdt.caobang.gov.vn/
  4. เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาวบั่ง:

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมส่งเสริมการลงทุน (2563), ฐานข้อมูลการลงทุนเวียดนาม (จังหวัดกาวบั่ง), สืบค้นจาก http://ipc.mpi.gov.vn/mien-bac/thong-tin-dia-phuong

สำนักงานสถิติจังหวัดกาวบั่ง (2565), ข้อมูลสถิติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดกาวบั่ง ประจำปี 2564

Cục sở hữu trí tuệ (2565), Danh sách các chỉ đẫn địa lý đã được bảo hộ tại Việt Nam (Cập nhật đến tháng 6 năm 2022), retrieved from https://ipvietnam.gov.vn/chi-dan-dia-ly

Chính phủ Việt Nam (2565), Nghị định 38/2022/NĐ-CP về việc Quy định mức lương tối thiểu đối với người lao động làm việc theo hợp đồng lao động.

Cao Bang Tourism (2561), Non Nước Cao Bằng được UNESCO công nhận Công viên địa chất Toàn cầu, retrieved from https://caobangtourism.vn/vi/detailevents/?t=non-nuoc-cao-bang-duoc-unesco-cong-nhan-cong-vien-dia-chat-toan-cau&id=event_78

Công Thương (2562), Cao Bằng kết nối giao thông phát triển kinh tế cửa khẩu và du lịch, retrieved from https://congthuong.vn/cao-bang-ket-noi-giao-thong-phat-trien-kinh-te-cua-khau-va-du-lich-119928.html

Cổng thông tin Bộ Văn hóa, Thể thao và Du lịch (2564), Cao Bằng: Doanh thu du lịch đạt trên 70 tỷ đồng, retrieved from https://bvhttdl.gov.vn/cao-bang-doanh-thu-du-lich-dat-tren-70-ty-dong-20211228151746694.htm

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

4

กำลังเข้าชมขณะนี้

200750

เข้าชมทั้งหมด