ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

POST ON 5 พฤษภาคม 2021

ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

หอการค้าและอุตสาหกรรมสาขานครเกิ่นเทอเผยว่า จังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของการค้าในท้องถิ่น อาทิ การสร้างทางด่วนเส้นทาง Trung Luong-My Thuan และแผนการสร้างทางด่วนอีกหนึ่งสายเพื่อเชื่อมระหว่างนครเกิ่นเทอกับ
จังหวัดก่าเมา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปีนี้เพื่อจะสามารถขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการยกระดับทางหลวง สะพาน ช่องทางเดินเรือในแม่น้ำ Hau และขุดลอกคลอง Cho Gao ในจังหวัดเตี่ยนซางด้วย

นาย Nguyen Phuong Lam ผู้อำนวยการหอการค้าและอุตสาหกรรมสาขานครเกิ่นเทอให้ข้อมูลว่า อุปสรรคสำคัญของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคือโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดี อีกทั้งการดำเนินโครงการสำคัญของภาครัฐหลายโครงการยังมีความล่าช้าอยู่

ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีปริมาณการส่งออกสินค้าประมาณ 17-18 ล้านตันต่อปี แต่ร้อยละ 70 จำเป็นต้องส่งจากท่าเรือหลักในนครโฮจิมินห์และจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-40 โดยนาย Tran Van Quang ประธานบริษัท Southern Fishery Industries ให้ข้อมูลว่า ในการขนส่งปลาดุก 10 ตัน จากนครเกิ่นเทอไปยังนครโฮจิมินห์ โดยปกติแล้วจะมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านด่ง (216.6 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ถ้าหากสามารถใช้ท่าเรือ Cai Cui ที่นครเกิ่นเทอได้ ค่าใช้จ่ายจะลดเหลือ 1.5 ล้านด่ง (65 ดอลลาร์สหรัฐ)  ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ ทั้งนี้ แม้ว่าท่าเรือ Cai Cui จะสามารถรองรับเรือขนาด 20,000 ตันได้ แต่ขณะนี้มีเพียงเรือขนาดไม่เกิน 7,000 ตันเท่านั้นที่สามารถเข้าออกท่าเรือเนื่องจากลำคลองมีขนาดเล็ก

เจ้าหน้าที่กรมคมนาคมจังหวัดก่าเมาให้ความเห็นว่า ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำกับทางบกเพื่อพัฒนาการขนส่งทั่วทั้งภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างนครโฮจิมินห์กับจังหวัดและเมืองอื่น ๆ โดยในเดือนพฤษภาคม กระทรวงคมนาคมจะขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก Tran De จังหวัดซ็อกจาง ซึ่งจะสามารถรองรับเรือขนาด 100,000 ตัน และสินค้า 50-55 ล้านตัน ได้ ภายในปี 2573 ทั้งนี้ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐ

นอกจากนี้ จากการร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามกับ Fulbright School of Public Policy and Management พบข้อมูลว่า การดำเนินการด้านโลจิสติกส์ในบริเวณภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังคงไม่มีการวางแผน โดยท่าเรือกว่าร้อยละ 85 ตั้งอยู่กระจัดกระจายและแต่ละท่าเรือก็มีขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าน้อยกว่า 10,000 ตันต่อปี อีกทั้งภูมิภาคยังขาดความสอดประสานระหว่างระบบการขนส่งศูนย์โลจิสติกส์ คลังสินค้า และลานวางตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงการที่บริษัทต่าง ๆ ต้องส่งสินค้าไปยังนครโฮจิมินห์เพื่อฆ่าเชื้อและอาบรังสี ทำให้มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น

นาย Le Duy Hiep ประธานสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนามกล่าวว่า ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ แต่มีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ร้อยละ 20-25 ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้น  นอกจากนี้ ที่ผ่านมาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมุ่งให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่และการตั้งโรงงาน โดยไม่ได้ให้ความสนใจมากนักในประเด็นการส่งสินค้าไปยังท่าเรือ การขนส่งพัสดุบรรจุภัณฑ์ และการตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันของสินค้าเกษตร จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์การเกษตรได้ตลอดกระบวนการ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอและขั้นตอนที่ยุ่งยากต่าง ๆ ได้

นาง Ho Thi Thu Hoa หัวหน้าสถาบันการวิจัยและพัฒนาโลจิสติกส์เวียดนามให้ข้อมูลว่า แผนพัฒนาประเทศด้านโลจิสติกส์ภายในปี 2558 ได้มีการระบุถึงศูนย์โลจิสติกส์ระดับทุติยภูมิ 2 แห่งในภูมิภาค แต่สุดท้ายแล้วยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

อนึ่ง ศูนย์โลจิสติกส์ Hanh Nguyen ระยะที่ 1 ของจังหวัดเหิ่วซางได้เริ่มเปิดดำเนินงานไม่นานมานี้โดยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรและจังหวัดได้ตั้งเป้าหมายในการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ 5 แห่งภายในปี 2568 เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการเกษตรในทุกขั้นตอน

ที่มา: VietNamNet วันที่ 30 มีนาคม 2564

https://vietnamnet.vn/en/business/mekong-delta-continues-to-develop-transport-infrastructure-723402.html

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูข่าวทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

195885

เข้าชมทั้งหมด