เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เวียดนามได้ลงนามในโครงการ Asia Zero Emission Community (AZEC) ที่เริ่มโดยญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านกระบวนการการบูรณาการ เช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของไฮโดรเจน และการกำหนดมาตรฐานการลดคาร์บอน ในขณะที่รับประกันความมั่นคงด้านพลังงาน
ประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วม AZEC ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนโดยไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน
นาย Yasutoshi Nishimura รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวว่า ภายใต้โครงการ AZEC ทุกประเทศข้างต้นตั้งใจที่จะร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานผ่านการประสานงานด้านนโยบาย และสนับสนุนการพัฒนาและทดลองเทคโนโลยีการลดคาร์บอน เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่และลดต้นทุน โดย AZEC จะพิจารณาการจัดทำแผนแม่บทสำหรับไฮโดรเจน (hydrogen) และแอมโมเนีย (ammonia) ในภูมิภาคเอเชีย และกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีสำหรับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน พร้อมกับให้ความสำคัญต่อก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลวในฐานะพลังงานเปลี่ยนผ่าน
นาย Tran Hong Ha รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้แทนของเวียดนามในการอนุมัติโครงการดังกล่าวในการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ได้เรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนเวียดนามมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 โดยตั้งแต่มีการประกาศเป้าหมาย Net Zero ในพฤศจิกายน 2564 เวียดนามได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติมากมาย เช่น (1) ความตกลง Just Energy Transition Partnership (JETP) โดยจะมีการระดมเงินทุนจำนวนอย่างน้อย 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้สนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของเวียดนามในอีก 3-5 ปีข้างหน้า (2) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พร้อมที่จะสนับสนุนเวียดนามในการกำหนดรายละเอียดและการดำเนินการตามแผนระดมทรัพยากร รวมถึงบริการความช่วยเหลือทางเทคนิคที่สามารถช่วยเวียดนามในการระบุเครื่องมือสาธารณะที่ลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยขณะนี้ UNDP กำลังเริ่มการประเมินผลกระทบของการเลิกใช้ถ่านหินและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในเวียดนาม
ทั้งนี้ ข้อมูลในยุทธศาสตร์หุ้นส่วนสำหรับประเทศเวียดนามในช่วงปี 2566-2569 ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายในการตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จะต้องดำเนินการลดคาร์บอน ซึ่งในความเป็นจริง ข้อมูลของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ระบุว่า ความต้องการพลังงานของเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 10.3-11.3 ต่อปีในช่วงปี 2559-2563 และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 8-8.5 ต่อปีในช่วงปี 2564-2573 โดยมีการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นด้วยในอัตราร้อยละ 7.9 ต่อปี เนื่องจากพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
อนึ่ง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยของเวียดนาม GDP สูงกว่าของประเทศอื่นในอาเซียน และสูงที่สุดในปี 2562 ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องมีการออกแบบกลยุทธ์ใหม่สำหรับการพัฒนาภาคพลังงาน รวมถึงการเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไปสู่แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อความมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ต่อไป
ที่มา: VIR วันที่ 9 มีนาคม 2566
https://vir.com.vn/deals-to-push-forward-carbon-commitments-100423.html