เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.44 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเกินร้อยละ 4 ติดต่อกันถึง 2 เดือนแล้ว และนับเป็นอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 โดยมีสาเหตุมาจากต้นทุนอาหาร การศึกษา และบริการด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังไม่เกินเพดานที่สภาแห่งชาติเวียดนามตั้งไว้ที่ร้อยละ 4-4.5
ในขณะเดียวกัน เงินสกุลดองอ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สินค้าที่นำเข้ามีราคาแพงขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 มูลค่าการส่งออกยู่ที่ 32,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 33,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 ทำให้เวียดนามขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ข้างต้น ธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (SBV) ได้เพิ่มอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 4.5 เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินดอง และตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 15 ในปี 2567 ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่างๆ กำลังประสบปัญหาการให้สินเชื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน สถาบัน Oxford Economics แนะนำ SBV ให้อัตราคิดลด (discount rate) อยู่ที่ร้อยละ 3 ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2567 อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังอาจประสบความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของเงินสกุลดอง โดยปัจจุบัน เงินสกุลดองกำลังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ประมาณร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
(ประมวลข้อมูลโดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย)
ที่มา: สำนักข่าวท้องถิ่น วันที่ 30 พฤษภาคม 2567