ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (MPI) ระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการจดทะเบียนรวมเกือบ 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลายจังหวัดในภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับ FDI ในอันดับสูง เช่น จังหวัดบั๊กนิญ อยู่อันดับที่ 3 ด้วยมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกว่า 1.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.5 ของมูลค่าการจดทะเบียน FDI ทั้งหมดในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือของเวียดนาม เช่น จังหวัดท้ายเงวียน นครไฮฟอง กรุงฮานอย และ จังหวัดบั๊กซาง ก็ถือเป็นพื้นที่ที่สามารถดึงดูด FDI ได้อย่างมาก โดยในปี 2564 สัดส่วน FDI ของภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 48 ของ FDI ทั่วประเทศ
เหตุผลในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจังหวัดทางภาคเหนือของเวียดนาม ได้แก่
(1) ทำเลที่สะดวกสำหรับการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับภาคใต้ของจีน นครเซี่ยงไฮ้ เมืองฮ่องกง เมืองเซินเจิน และมณฑลกวางตุ้ง อีกทั้งภาคเหนือของเวียดนามยังสะดวกต่อการเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้และไต้หวันอีกด้วย
(2) โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในจังหวัดทางภาคเหนือ กล่าวคือ ปัจจุบัน มีทางด่วน 13 สายเชื่อมต่อจังหวัดภาคเหนือกับกรุงฮานอย ความยาวรวม 895.8 กม. และคาดว่าจะมีทางด่วนเพิ่มอีก 14 สาย ด้วยความยาวรวมประมาณ 2,300 กม. นอกจากนี้ ภาคเหนือมีเส้นทางรถไฟจำนวน 6 สาย ในส่วนของการขนส่งทางอากาศ ภาคเหนือของเวียดนามมีท่าอากาศยานพาณิชย์ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานโหน่ยบ่าย (Noi Bai) กรุงฮานอย ท่าอากาศยานแวนดอน (Van Don) จังหวัดกว๋างนิญ ท่าอากาศยานกั๊ตบี (Cat Bi) นครไฮฟอง ท่าอากาศยานโทซวน (Tho Xuan) จังหวัดทัญฮว้า ท่าอากาศยานหวิง (Vinh) จังหวัดเหวะอาน ท่าอากาศยานเดียนเบียน (Dien Bien) และท่าอากาศยานดงฮอย (Dong Hoi) จังหวัดกว๋างบิ่ญ โดยท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่ายเป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งสินค้าเฉพาะทางที่มีความจุสินค้าถึง 400,000 ตันต่อปี เเละ มีสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศ 66 สาย เมื่อเทียบกับ 99 สายการบินที่ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์
(3) พื้นที่ว่างสำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอีกจำนวนมาก รายงานของ Cushman & Wakefield ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 อุปทานรวมของพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคเหนืออยู่ที่ 13,600 เฮกตาร์ และอุปทานทั้งหมดของโรงงานสำเร็จรูปพร้อมเช่าอยู่ที่ 2.5 ล้านตารางเมตร
นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ปัจจุบัน ภาคเหนือของเวียดนามได้รับเงินลงทุนจากภาคเอกชนชั้นนำของโลกมากมาย เช่น Panasonic (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971), LG Display (ปี ค.ศ. 1995), Canon (ปี ค.ศ. 2001), Foxconn (ปี ค.ศ. 2007), Samsung (ปี ค.ศ. 2008), Fuji Xerox (ปี ค.ศ. 2013) และไม่นานมานี้ เช่น Pegatron, Goertek, Jinko Solar ฯลฯ