เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นาย Dao Minh Tu รองผู้ว่าการธนาคารเวียดนามชี้แจงในการประชุมกับผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ว่า ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเป็นไปได้ (feasible project) จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากภาคธนาคารได้เป็นปกติ และโครงการพัฒนาฯ ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด โดยในปี 2565 ภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ถึงร้อยละ 21.2 ของสินเชื่อสะสมทั้งหมด ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี (ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อสำหรับที่อยู่อาศัยร้อยละ 69 และสินเชื่อสำหรับโครงการพัฒนาอสังหาฯ โครงการใหม่ร้อยละ 31)
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ธนาคารได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทอสังหาริมทรัพย์มากสุดในรอบ 10 ปี โดยเป็นจำนวนสินเชื่อที่ถึงเป้าหมายของธนาคารที่สามารถให้ได้ ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ภาคอสังหาฯ ได้อีก ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต่างมองหาช่องทางในการหาสินเชื่ออื่น ๆ ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารกลางแห่งชาติเวียดนาม พบว่า สิ้นปี 2565 สินเชื่อคงค้างในภาคอสังหาฯ อยู่ที่ 2,580 ล้านล้านด่ง (1.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการก่อสร้าง สมาคม Ho Chi Minh City Real Estate Association และธนาคารต่าง ๆ มองว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อจำกัดด้านกฏหมาย ซึ่งบริษัทนักพัฒนาอสังหาฯ เสนอว่าควรมีมาตรการการชำระหนี้เพื่อกู้ยืมต่อ (Rollover) ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาฯ ไม่ล้มละลายและสามารถจัดหาสินเชื่อเพื่อสานต่อโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังคงยืนยันที่จะดำเนินการนโยบายการเงินที่ส่งเสริมความปลอดภัยของระบบธนาคารควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การให้สินเชื่อสำหรับโครงการอสังหาฯ ธนาคารจะพิจารณาจากโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว และมีผู้เข้าอยู่อาศัยทันที
ที่มา: VnExpress วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566