นาย Paulo Medas หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นำทีม IMF เดินทางมายังประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 14-29 มิถุนายน 2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับ 2023 Article IV โดยผู้เชี่ยวชาญ IMF ระบุว่า เวียดนามจะสามารถกลับมามีอัตราการเจริญเติบโตสูงในระยะกลางได้เพราะมีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างการบริหาร
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะฟื้นตัว โดย GDP จะแตะที่ร้อยละ 4.7 ในครึ่งหลังของปี 2566 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกและนโยบายการค้าภายในที่ขยายตัว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อนั้นถูกประมาณการณ์ว่า จะคงตัวอยู่ต่ำกว่าที่เพดานที่ร้อยละ 4.5 ของธนาคารชาติแห่งเวียดนาม (SBV) ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงพบเจอกับสภาวะยากลำบากในปี 2567 และจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2568
มาตรการที่ดำเนินการโดย SBV และรัฐบาลเวียดนาม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การลดภาษี การลงทุนโดยภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวของการใช้จ่ายโดยภาครัฐ (public disbursement) ได้ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก SBV เองก็สามารถรองรับแรงกดดันทั้งทางด้านราคาและสภาพคล่องได้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย นอกจากนี้ความยืดหยุ่นของอัตราการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนากรอบนโยบายทางการเงินให้ทันสมัย ส่งผลให้เงินปันผลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญ IMF ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรน และมาตรการกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อ จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าและมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังมีแนวโน้มที่จะคงตัวอยู่ในระดับสูง กอปรกับธนาคารในประเทศเวียดนามเองก็เผชิญกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสูง ในบริบทนี้ นโยบายการคลังจึงควรจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเศรษฐกิจแก่ผู้ยากจนและกลุ่มเปราะบางมากที่สุด ดังนั้น การเพิ่มการใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าแรง การลงทุนโดยภาครัฐ รวมถึงการลดภาษีตามแผนการก็จะช่วยในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศด้วย
ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการในการพัฒนาแผนปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินและเร่งการปฏิรูปการบริหาร รวมไปถึงการเสริมความเข้มแข็งในการจัดการกับวิกฤตและปรับปรุงรูปแบบการควบคุมธนาคาร ซึ่งรัฐบาลเวียดนามควรจะใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกับสถาบันสินเชื่อ เพื่อพัฒนาการแก้ไขปัญหาธนาคารที่มีประสิทธิภาพและสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน
ทั้งนี้ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายการจัดการเศรษฐกิจมหภาคในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญ IMF ย้ำว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องตั้งมั่นในความพยายามปฏิรูปในระยะกลาง เพื่อบรรลุเป้าหมายการก้าวเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ. 2588) และการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)
ที่มา: https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-economic-growth-to-recover-in-h2-imf-expert-2161173.html