มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เวียดนามบังคับใช้อย่างเข้มงวดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ค้าปลีก (ต่างชาติ) โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่ต้องพึ่งพิงกำลังการผลิตจากเวียดนาม เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ในเวียดนามมีเพียง 2 ทางเลือก ได้แก่ การให้แรงงานอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำงานเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ หรือหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว และสำหรับบริษัทที่ยังคงดำเนินการก็ประสบกับภาวะการหยุดชะงักและความล่าช้าของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าและเครื่องนุ่งห่ม ส่งผลกระทบต่อหลายบริษัท อาทิ Nike ที่อาจไม่สามารถผลิตรองเท้าได้กว่า 160 ล้านคู่ ในปี 2564 นี้ จากเดิมที่ผลิตได้ 350 ล้านคู่เมื่อปี 2563 รวมทั้งหุ้นของบริษัทถูกปรับลดระดับลง
อย่างไรก็ดี ยังคงมีธุรกิจหลายแห่งที่ยังมีความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เช่น บริษัท Lululemon คาดว่าโรงงานผลิตกางเกงในเวียดนามจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 เป็นต้น ทั้งนี้ ธุรกิจจำนวนมากอยู่ระหว่างติดตามพัฒนาการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทิศทางนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของเวียดนาม ทั้งนี้ บริษัทวิจัย BTIG ประเมินว่า หลังจากเวียดนามผ่อนคลายมาตรการแล้ว โรงงานอาจต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนในการกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ โดยจะยังมีความล่าช้าในการรับวัตถุดิบและการผลิตยอดสั่งคงค้าง นอกจากนี้ ยังอาจจะมีการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากประชาชนยังไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานได้
ปัจจุบัน อุปสรรคในห่วงโซ่การผลิตที่เกิดขึ้นในเวียดนาม อาทิ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าตกค้างที่ท่าเรือ และจำนวนพนักงานขับรถบรรทุกที่มีจำกัด ทำให้ธุรกิจหลายแห่งจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจรวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นรวมถึงกลับไปยังจีนด้วย แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบการมาตรการกีดกันทางภาษีก็ตาม
ที่มา: VIETNAM INSIDER วันที่ 17 กันยายน 2564
https://vietnaminsider.vn/prolonged-covid-19-shutdowns-in-vietnam-are-becoming-a-bigger-headache-for-retailers/