ธนาคารโลก (World Bank) เริ่มสนับสนุนเงินกู้จำนวน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเวียดนามดำเนินโครงการพัฒนาข้าวคุณภาพสูงและปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน (Vietnam’s low-carbon rice cultivation project) บนพื้นที่กว่า 1 ล้านเฮกตาร์ (หรือประมาณ 6,250,000 ไร่) เพื่อสร้างการเติบโตสีเขียวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta Region) และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจัดระบบการผลิตใหม่ การสร้างห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการผลิตอย่างยั่งยืน โดยโครงการจะสิ้นสุดในปี 2573 นอกจากนี้ ธนาคารโลกจะสนับสนุนเงินกู้เพิ่มเติมในรูปแบบคาร์บอนเครดิตจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามได้สรุปผลการดำเนินโครงการนำร่องเพาะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำที่มีคุณภาพสูงในฟื้นที่นครเกิ่นเทอ โดยปรากฏว่า โครงการนำร่องดังกล่าวสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวในประเทศได้อย่างมาก โดยเฉพาะการลดการใช้เมล็ดพันธุ์ลงร้อยละ 50 ลดการใช้ปุ๋ยลงร้อยละ 20 ลดการใช้ยาฆ่าแมลง อันนำมาซึ่งผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 7 และสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 – 6.2 ล้านดอง/เฮกตาร์ (50– 280 ดอลลาร์สหรัฐ/เฮกตาร์) รวมถึงสามารถลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 2 –6 ตัน/เฮกตาร์
โครงการซึ่งธนาคารโลกสนับสนุนในครั้งนี้จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (ตั้งแต่ปี 2567-2568) จะดำเนินการบนพื้นที่ 180,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,125,000 ไร่) และระยะที่ 2 (ตั้งแต่ปี 2569-2573) จะขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก 820,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 5,125,000 ไร่)
(ประมวลข้อมูลโดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย)
ที่มา: สำนักข่าวท้องถิ่น วันที่ 31 กรกฎาคม 2567