เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 รัฐบาลเวียดนามได้ออกประกาศเลขที่ 465/TB-VPCP เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาให้จังหวัดบิ่ญเซืองเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมชั้นนำของเวียดนาม การเป็นเขตเมืองที่มีระดับการพัฒนาเป็นอันดับที่ 1 (grade 1 urban area) และได้รับการยกระดับเป็น “นคร” ภายในปี 2573
จังหวัดบิ่ญเซืองเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-economics) โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเขตเมืองและภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งอยู่ในภูมิภาคเศรษฐกิจสำคัญทางตอนใต้ของเวียดนาม (Southern Key Economic Region: SKER) มีพื้นที่ติดกับนครโฮจิมินห์ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 จังหวัดบิ่ญเซืองมีอัตราการเติบโต GRDP ร้อยละ 6.19 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Index of Industrial Production: IIP) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (YoY) และสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 จาก 63 จังหวัด/นครของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุน 1.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 YoY
อย่างไรก็ตาม จังหวัดฯ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น (1) เศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเติบโตในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีอัตราการเติบโต GRDP เฉลี่ยในช่วงปี 2564-2566 ร้อยละ 5.01 เท่านั้น (2) การเบิกจ่ายเงินลงทุนภาครัฐและการดำเนินโครงการที่สำคัญบางโครงการยังล่าช้า และ (3) การปฏิรูปการบริหารและการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนทางธุรกิจยังไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเต็มที่
ในช่วงต่อไป จังหวัดบิ่ญเซืองจะดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
1. เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและระบบดิจิทัลกับประเทศกัมพูชาและพื้นที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามผ่านจังหวัดบิ่ญเฟื้อก และกับพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ผ่านนครโฮจิมินห์ สนามบินนานาชาติ Long Thanh และท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai ในจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า
2. พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (Sharing Economy) และธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืน (Night Economy)
3. พัฒนาเขตอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เน้นนวัตกรรม ธุรกิจ Startup และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 สู่การเป็นเขตอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และอัจฉริยะ
4. สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมการลงทุนภาครัฐและการส่งออก รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเขตประกอบการเสรี
5. ส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจที่สำคัญ เช่น การเงิน การธนาคาร โลจิสติกส์ และการฝึกอบรมชั้นสูง ตลอดจนพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อรองรับความมั่นคงทางอาหาร รักษาเสถียรภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาเกษตรกรรมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ
6. มุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรที่ดิน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
7. ส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ประเพณีอันดีงาม โบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดบิ่ญเซือง
ที่มา: Bao Chinh Phu เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567