เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการประชาชนจังหวัดบิ่ญดิ่ญได้จัดการประชุมเพื่อประกาศแผนแม่บทการพัฒนาจังหวัดบิ่ญดิ่ญปี 2564 – 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ซึ่งได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามแล้ว[1] ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายสำคัญในช่วงปี 2564 – 2573 ดังนี้
- มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมท้องถิ่น (GRDP) เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 8.5 เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคชายฝั่งตอนกลางเหนือและชายฝั่งตอนกลางใต้และเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ การพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่ง การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
- ภาคส่วนต่าง ๆ มีสัดส่วนต่อ GRDP ดังนี้ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 41.3 – 43.3 (2) ภาคบริการ ร้อยละ 34.8 – 35.9 (3) ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ร้อยละ 16.8 – 17.5 และ (4) การจัดเก็บภาษี ร้อยละ 5.1 – 5.3
- ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 204 – 213 ล้านด่ง (7,500 – 7,900 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคนต่อปี
- อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยร้อยละ 8.3 ต่อปี
- มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2.5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 9.5 ล้านคน
- พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ของ GRDP
นอกจากนี้ จังหวัดบิ่ญดิ่ญจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาสาขาต่าง ๆ ได้แก่
- พัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปที่มีมูลค่าสูง รวมถึงมุ่งเน้นการการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก พลังงานลมนอกชายฝั่ง พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมแปรรูปเชิงลึกด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ตลอดจนการผลิตยา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- พัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดฯ ให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อสร้างแรงผลักดันในการพัฒนาอุตสาหกรรมและสาขาอื่น ๆ
- พัฒนาเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมงที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ โดยมุ่งเน้นที่คุณภาพ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเลี้ยงปศุสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและป่าไม้อย่างยั่งยืน และยกระดับห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตร
- พัฒนาบริการท่าเรือและโลจิสติกส์อย่างเข้มแข็ง โดยปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมการบริการท่าเรือ-โลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงควบคู่กับการพัฒนาการผลิตสินค้า การนำเข้า-ส่งออก และการค้าของจังหวัดฯ
- ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อ Quy Nhon – Nhon Hoi – Phu Cat การพัฒนาท่าเรือ Quy Nhon การสร้างเขตอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตและแปรรูปชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ในบริเวณใกล้เคียงกับท่าอากาศยาน Phu Cat การยกระดับท่าอากาศยาน Phu Cat ให้เป็นสนามบินนานาชาติ การพัฒนาอุตสาหกรรม เขตเมือง และโลจิสติกส์ตามเส้นทางด่วนเหนือ-ใต้ และทางด่วน Quy Nhon – Pleiku
- พัฒนาเขตเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดฯ เน้นการสร้างเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาเขตเมืองควบคู่กับการพัฒนาเมืองวิทยาศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) และมหาวิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาและขยายเมือง Quy Nhon ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีทะเลสาบ Thi Nai เป็นศูนย์กลาง พัฒนาเขตเมืองใหม่ Nhon Hoi การสร้างห่วงโซ่พื้นที่เมืองชายฝั่งทะเลตามถนนเลียบชายฝั่ง Cat Tien – De Gi – My Thanh – Lai Giang พัฒนาเขตเมืองและเขตที่อยู่อาศัยใหม่ควบคู่กับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม
ที่มา: So Ke hoach Dau tu Binh Dinh เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566
Dang Cong San เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566
https://dangcongsan.vn/kinh-te/cong-bo-quy-hoach-tinh-binh-dinh-thoi-ky-2021-2030-tam-nhin-den-nam-2050-656272.html
[1] ตามมติที่ 1619/QĐ-TTg ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2566