
นาย Pham Minh Truyen ผู้อำนวยการกรมการเกษตรและการพัฒนาชนบทจังหวัดจ่าวิญให้ข้อมูลว่า จังหวัดจะนำเทคนิคการทำการเกษตรขั้นสูงมาใช้กับการปลูกข้าว ผัก ผลไม้ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บนพื้นที่มากกว่า 17,400 เฮกตาร์ โดยการใช้ระบบควบคุมน้ำแบบอัตโนมัติ ปุ๋ยนาโน โรงเรือนตาข่าย และวิธีการปลูกพืชผลแบบไฮโดรโปนิกส์ และการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยสำหรับการเลี้ยงกุ้งแบบเข้มข้น โดยตั้งเป้าหมายให้จังหวัดสามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรมูลค่า 30 ล้านล้านด่ง (1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือร้อยละ 21 ของเศรษฐกิจได้ภายในปี 2568 และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ถึง 100-500 ล้านด่ง (4,300-21,600 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเฮกตาร์ต่อปี
ในช่วงปี 2564-2568 จังหวัดจ่าวิญมีแผนการใช้งบประมาณ 3.68 แสนล้านด่ง (15.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเกษตรกร สหกรณ์ และกลุ่มสหกรณ์ ในการพัฒนามูลค่าของสินค้าเกษตร อาทิ การช่วยเหลือทางการเงิน การสร้างตราสินค้า และการส่งเสริมการขาย อีกทั้งมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกว่า 3.42 ล้านล้านด่ง (148.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรุกล้ำของน้ำเค็ม และการขาดแคลนน้ำด้วย
นอกจากการลงทุนโดยภาครัฐแล้ว จังหวัดจ่าวิญยังเชิญชวนให้บริษัทต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนการลงทุนในโครงการการเกษตรที่ใช้เทคนิคขั้นสูง อาทิ การเพาะพันธุ์กุ้งน้ำกร่อยและกุ้งอินทรีย์เพื่อการส่งออก การแปรรูปผลไม้ มะพร้าว และถั่วลิสง ซึ่งภาครัฐจะเสนอมาตรการจูงใจ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าตอบแทนการปรับปรุงพื้นที่ และการสนับสนุนทางการเงินในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและฝึกอบรมพนักงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมการเกษตรและการพัฒนาชนบทได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการเกษตร โดยมุ่งเน้นการลดการปลูกข้าวนาที่ 3 และสลับไปปลูกพืชชนิดอื่นบนที่นา ไร่อ้อย และพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ข้าวโพด ฟักทอง แตงโม แตงกวา และผักต่าง ๆ
แม้ว่าจังหวัดจ่าวิญจะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการปลูกอ้อยมากที่สุดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แต่เกษตรกรก็ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนาย Huynh Van Thao หัวหน้าแผนกเกษตรและการพัฒนาชนบท เขต Tra Cu ให้ข้อมูลว่า มีชาวสวนไร่อ้อยถึง 2,000 รายที่หันมาปลูกพืชชนิดอื่นบนไร่อ้อยขนาดกว่า 1,000 เฮกตาร์ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้ 50-80 ล้านด่ง (2,200-3,500 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเฮกตาร์ต่อรอบการเพาะปลูก โดยในปี 2564 จังหวัดสนับสนุนให้เกษตรกรไร่อ้อยปลูกพืชหมุนเวียน ทำการปศุสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีการสนับสนุนเงิน 6-10 ล้านด่ง (260 – 430 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเฮกตาร์สำหรับผู้ที่ปลูกผัก เห็ด ผลไม้ มะพร้าว ข้าว เลี้ยงสุกร โค แพะ เป็ด กุ้งกุลาดำและกุ้งขาว ปลาสวาย และปลาช่อน ตามมาตรฐาน GAP
ที่มา Vietnamplus วันที่ 16 พฤษภาคม 2564