
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 จังหวัดกว๋างจิ ร่วมกับบริษัท T&T Group และ CIENCO 4 ได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานกว๋างจิ (ขอชื่อครับ) บนพื้นที่กว่า 265 เฮกตาร์ ในอำเภอ Gio Linh โดยจะใช้เงินลงทุนกว่า 228 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) โครงการดังกล่าวได้รับสัมปทานในการดำเนินการเป็นเวลา 50 ปี โดยจะใช้เวลา 2 ปี ในการลงทุนก่อสร้าง และเวลา 47 ปี 2 เดือนสำหรับการเปิดให้บริการ
การก่อสร้างท่าอากาศยานกว๋างจิจะดำเนินการบนพื้นฐานหลักการ 4C ได้แก่ Comfort, Conveniences, Cleanliness และ Customer Service โดยจะสามารถรองรับเครื่องบินรหัส E และปรับให้เป็นท่าอากาศยานทหารระดับ 2 (Level II Military Airport) ได้ โดยคาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถให้บริการผู้โดยสารได้กว่า 5 ล้านคนต่อปี และรองรับการขนส่งสินค้าได้ 25,500 ตันต่อปี
นาย Vo Van Hung ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดกว๋างจิ กล่าวว่า จังหวัดกว๋างจิ เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพเนื่องจากเป็นสถานที่มีความเชื่อมโยงกับอนุสัญญาเจนีวาฉบับปี 2497 และสนธิสัญญาสันติภาพปารีสปี 2516 โดยการดำเนินโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งการบรรเทาภัยพิบัติ และความมั่นคงในพื้นที่ภาคกลางเวียดนาม รวมทั้งจังหวัดกว๋างจิ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ Thaibiz Vietnam เห็นว่า จังหวัดกว๋างจิถือเป็น “ประตู” เชื่อมต่อเวียดนามกับ สปป. ลาว และไทย ผ่านแขวงสะหวันนะเขต (สปป. ลาว) และจังหวัดมุกดาหาร (ไทย) ดังนั้น จังหวัดกว๋างจิ จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดำเนินยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน (หรือ Three Connects) เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและเวียดนามในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ดังนั้น ท่าอากาศยานประจำจังหวัดฯ พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ทางหลวงหมายเลข 15D เส้นทางรถไฟสาย My Thuy – Dong Ha – Lao Bao ทางด่วนเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึก My Thuy เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การค้าทวิภาคีไทย-เวียดนามสามารถบรรลุเป้าหมาย 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในปี 2568 ก่อนหน้านี้ ในห้วงงาน Meet Thailand ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดกว๋างจิ ในปี 2566 หอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) และสำนักงานต่างประเทศ จังหวัดกว๋างจิ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ThaiCham และจังหวัดฯ ในการอำนวยความสะดวกและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้แก่นักลงทุนไทยอีกด้วย
(ประมวลข้อมูลโดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย)
ที่มา: สำนักข่าวท้องถิ่น วันที่ 18 กรกฎาคม 2567
https://vir.com.vn/quang-tri-airport-officially-starts-construction-112456.html