
เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนามเปิดเผยว่า ปัจจุบันเวียดนามขาดแคลนผู้ประกอบการด้านการแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะในขั้นตอนการบรรจุหีบห่อและการเก็บรักษา รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยภาคเกษตรกรรมของเวียดนามยังคงจำกัดอยู่ในระดับครัวเรือนรายย่อยและนิยมใช้วิธีทางเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและแปรรูปผลผลิตไม่มากนัก ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าต่ำและเกษตรกรมีรายได้น้อย
จากสถิติของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามพบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามส่งออกผักและผลไม้มูลค่า 513 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยพบว่า ราคาจำหน่ายผักและผลไม้จากเมืองดาลัต จังหวัดเลิมด่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปลูกผักของเวียดนามลดลงอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกในจังหวัดอื่นๆ เริ่มนำวิธีการปลูกลักษณะเดียวกันมาปรับใช้ทำให้เกิดอุปทานการผลิตส่วนเกิน นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าผักและผลไม้ไปยังประเทศจีนและกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยเฉพาะแก้วมังกร ขนุนและทุเรียน ที่ราคาลดลงถึง 5-6 เท่า อย่างไรก็ดี ราคาผลไม้เหล่านี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจีนเริ่มอนุญาตให้ด่านการค้าชายแดนบางแห่งเปิดทำการอีกครั้ง
ทั้งนี้ เวียดนามยังคงพึ่งพาการส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดเดิมๆ อาทิ จีน มากเกินไป ซึ่งเมื่อประเทศคู่ค้าปรับเปลี่ยนระเบียบการนำเข้าก็จะส่งผลต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ รัฐบาลจึงควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างตลาดผักผลไม้ภายในประเทศและกระจายการส่งออกไปยังตลาดประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งกำหนดมาตรฐานการนำเข้าต่ำ รวมถึงเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ได้รับรองมาตรฐานการส่งออกมะม่วงของเวียดนามแล้ว นอกจากนี้ ควรใช้โอกาสจากการบังคับใช้ข้อตกลงทางการค้า อาทิ ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) และความตกลงการป้องการด้านการลงทุน (Investment Protection Agreement: IPA) ในการขยายตลาดไปยังยุโรปรวมถึงเอเชียในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกมากขึ้นด้วย
อนึ่ง เมื่อปี 2562 เวียดนามส่งออกผักและผลไม้ไปไทยมูลค่า 74.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.3 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยความท้าทายอื่นๆ สำหรับอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของเวียดนามคือ ปัญหาด้านคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการในการเก็บเกี่ยวและกำจัดโรคอย่างครอบคลุม ทำให้ยากต่อการควบคุมอุปทานและคุณภาพผลผลิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้น ตลาดในหลายประเทศจึงยังไม่ยอมรับมาตรฐานสินค้าการเกษตรจากเวียดนาม
ที่มา: Viet Nam News วันที่ 21 มีนาคม 2563