“รู้กฎก่อนรุก” กับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
เมื่อไม่นานมานี้ สื่อเวียดนามได้รายงานว่า กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (MOIT) จะเสนอร่างแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนาม ฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII – PDP8) ฉบับปรับปรุงเดือนพฤศจิกายน 2564 ต่อนายกรัฐมนตรีภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 โดยแผนดังกล่าวผ่านการแก้ไขมาแล้วหลายครั้งและกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในขณะนี้ การแก้ไขล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมว่า เวียดนามจะมุ่งสู่ Net-Zero Target ในปี ค.ศ. 2050 (2593) ส่งผลให้เวียดนามต้องปรับแผนโครงสร้างแหล่งที่มาของพลังงาน โดยชูพลังงานทดแทนและลดการผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน แม้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีร่างฉบับเต็มของ PDP8 ปรากฏต่อสาธารณะ แต่สื่อท้องถิ่นเวียดนามได้รายงานข่าวทิศทางของ PDP8 ที่กำลังจะคลอดนี้อยู่เป็นระยะ บทความนี้ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนามจะพาทุกท่านร่วมกันศึกษาข้อมูลของ PDP8 ที่เวียดนามได้เผยออกมาบางส่วน เพื่อให้นักลงทุนไทยนำไปใช้วิเคราะห์และประเมินแผนการลงทุนสาขาพลังงานที่เวียดนามในอนาคต
แผนแม่บทของ PDP8
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2563 คณะกรรมการกรมการเมืองเวียดนามได้ออกข้อมติที่ 55-NQ/TW ว่าด้วยแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนเวียดนาม (ข้อมติ 55) ปรับใช้ถึงปี ค.ศ. 2030 วิสัยทัศน์ถึงปี ค.ศ. 2045 ด้วยระดับของกฎหมายที่เป็นข้อมติของคณะกรรมการส่วนกลาง รัฐบาลเวียดนามจึงต้องปฏิบัติตามและยึดเป็นแผนแม่บทประกอบการทำแผนพัฒนา PDP8 ด้วย
ข้อมติ 55 วางเป้าหมายให้พลังงานทดแทนมีสัดส่วนในพลังงานปฐมภูมิทั้งหมดร้อยละ 15 – 20 ในปี ค.ศ. 2030 และคิดเป็นร้อยละ 25 – 30 ในปี ค.ศ. 2045 โดยจัดทำกลไกและนโยบายเพื่อกระตุ้นและผลักดันการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อนำมาใช้แทนแหล่งพลังงานฟอสซิล ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าโดยใช้ขยะ ชีวมวล และขยะมูลฝอย ซึ่งแน่นอนว่า PDP8 จะต้องมีทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายข้างต้นนี้
โครงสร้างแหล่งที่มาของไฟฟ้าใน PDP8 เปลี่ยนไป
จากข้อมูลที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT) เปิดเผยล่าสุด ในปี ค.ศ. 2030 กำลังการผลิตติดตั้งของแหล่งไฟฟ้าเวียดนามจะสูงถึง 155 กิกะวัตต์ และคาดว่า ในปี ค.ศ. 2045 อาจอยู่ที่ระหว่าง 261,951 – 329,610 เมกะวัตต์ โดยมีโครงสร้างไฟฟ้าแต่ละระยะ ดังนี้
แหล่งที่มาของไฟฟ้า | ปี ค.ศ. 2030 (%) | ปี ค.ศ. 2045 (%) |
พลังงานความร้อนจากถ่าน | 28.3 – 31.2 | 15.4 – 19.4 |
พลังงานความร้อนจากก๊าซ (รวม LNG) | 21.1 – 22.3 | 20.6 – 21.2 |
พลังน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแบบสูบเพื่อกักเก็บ | 17.73 – 19.5 | 9.1 – 11.1 |
พลังงานทดแทน (พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล)* | 24.3 – 25.7 | 26.5 – 28.4 |
การนำเข้า | 3 – 4 | 3.1 |
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ เวียดนามมุ่งลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากถ่านหิน และมุ่งสู่การผลิตโดยใช้แหล่งพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้ที่ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินอยู่ก่อนแล้วก็ยังจะได้รับอนุญาตให้ผลิตต่อไปได้
ไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากถ่านหินอาจไม่ใช่ “Trend” ของเวียดนามในอนาคต
ร่าง PDP8 ที่เตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเวียดนามอยู่ในขณะนี้จะจำกัดจำนวนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินโครงการใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยโครงการที่จะได้รับอนุญาตให้พัฒนาต่อไป คือ โครงการที่ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามในแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (แก้ไข) และได้รับการประเมินความสามารถในการพัฒนาโครงการจาก MOIT แล้ว ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2030 (2573) การผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินจะมีกำลังการผลิตรวม 40,700 กิกะวัตต์ ลดลงจากแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ประมาณ 15,000 กิกะวัตต์ แม้กำลังการผลิตดูเหมือนจะลดลงสูงมาก แต่สาเหตุสำคัญไม่ใช่เพียงการ “ลดโครงการใหม่” แต่มาจากการสิ้นสุดอายุการลงทุนของโครงการเก่าด้วย
นอกจากนี้ เวียดนามจะไม่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินในนครไฮฟอง จังหวัดกว๋างนิญ จังหวัดลองอาน จังหวัดบักเลียว และอำเภอ Tan Phuoc จังหวัดเตียนซาง และจะเปลี่ยนไปพัฒนาไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แทน
ถึงเวลาของ “LNG” แหล่งพลังงานใหม่ของเวียดนาม
PDP8 จะมุ่งพัฒนาแหล่งวัตถุดิบดั้งเดิมโดยเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 12,550 – 17,100 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็น 43,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2045 อย่างไรก็ตาม แหล่งอุปทานก๊าซ LNG ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า และอาจเผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกับกรณีไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG ต้องประเมินการนำเข้าและต้องสอดคล้องกับการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุปทานก๊าซ LNG เช่น คลังสินค้า ระบบเก็บรักษา การนำกลับมาใช้ใหม่ และระบบท่อนำส่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า MOIT ได้เล็งเห็นถึงความท้าทายจากการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจาก LNG จึงได้ปรับลดประมาณการกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ LNG ลงครึ่งหนึ่ง
พลังงานทดแทนยังเป็น “พระเอก” แต่อาจต้องรอเวลาที่เหมาะสม
ร่าง PDP8 จะเพิ่มพลังงานทดแทน (พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์) 31,600 เมกะวัตต์ (จากเดิม 17,000 เมกะวัตต์) ลงในแผน คิดเป็นร้อยละ 24.3 ของโครงสร้างแหล่งที่มาไฟฟ้าทั้งหมด โดยปรับเพิ่มกำลังการผลิตของไฟฟ้าพลังงานลมขึ้นเล็กน้อย
ในปี ค.ศ. 2030 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีกำลังการผลิตรวม 18,390 – 21,390 เมกะวัตต์ มุ่งการพัฒนาแบบกระจายตัวโดยผลิตเพื่อใช้เองเป็นหลักและยังไม่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ ขณะเดียวกัน ไฟฟ้าจากพลังงานลมมีกำลังการผลิตรวม 11,800 – 12,500 เมกะวัตต์ เน้นส่งเสริมการผลิตนอกชายฝั่งให้มีกำลังการผลิตสูงถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็น 40,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2045 นอกจากนี้ เวียดนามจะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ชีวมวล ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดี เวียดนามอาจลดระดับการลงทุนพลังงานทดแทนในช่วงปี ค.ศ. 2021 – 2025 และกลับมาเพิ่มระดับการลงทุนอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ. 2026 – 2030 เพื่อประกันความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการและให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการจากแหล่งที่สามารถปรับกำลังการผลิตได้อย่างยืดหยุ่น เช่น การขยายโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบเพื่อกักเก็บ
ข้อควรระวังสำหรับนักลงทุน
ประเด็นที่ผู้ลงทุนสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นนโยบายราคารับซื้อไฟฟ้าที่จะปรับใช้แทนราคา FIT (feed-in-tariff) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีเพียงข้อมูลเบื้องต้นว่าจะใช้กลไกการประมูลเพื่อคัดเลือกนักลงทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ โดยราคารับซื้อไฟฟ้าจะเป็นไปตามการเจรจาระหว่างผู้ลงทุนกับ EVN แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่านั้น
นอกจากนี้ PDP8 อาจไม่มีนโยบายส่งเสริมระบบเก็บสำรองพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงและความสูญเสียต่อผู้ลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากปัจจุบันมีผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่ไม่สามารถป้อนเข้าสู่สายส่งไฟฟ้าได้ และผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับลดกำลังการผลิตลง ส่งผลให้ต้องขาดทุนตามมา
ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส จากปัญหาระบบโครงข่ายไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าของเวียดนามที่พัฒนาได้ไม่ทันปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมากแต่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าต่ำ เวียดนามตระหนักถึงปัญหาในจุดนี้อย่างดี ล่าสุด สภาแห่งชาติเวียดนามจึงเตรียมอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถร่วมลงทุนระบบสายส่งไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า 500 กิโลโวลต์ได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าร่วมการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในเวียดนาม
* * * * *
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
21 มกราคม 2565