EVFTA และ UKVFTA: โอกาสขยายการส่งออกไปยังตลาดกำลังซื้อสูง

POST ON 26 มกราคม 2021

EVFTA และ UKVFTA: โอกาสขยายการส่งออกไปยังตลาดกำลังซื้อสูง

“ชี้ช่อง กับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

EVFTA และ UKVFTA: โอกาสขยายการส่งออกไปยังตลาดกำลังซื้อสูง

EVFTA ความหวังการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของเวียดนาม

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EU – Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ได้รับการลงนามและเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เวียดนามยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปร้อยละ 48.5 คิดเป็นร้อยละ 64.5 ของมูลค่าการนำเข้าจากสหภาพยุโรป และภายใน 10 ปีถัดไปจะยกเว้นภาษีเป็นร้อยละ 99 นอกจากนี้ เวียดนามจะยกเว้นภาษีส่งออกไปยังยุโรปภายใน 15 ปี ยกเว้นสินค้าที่อยู่ในรายการเรียกเก็บภาษีส่งออกบางรายการ เช่น น้ำมันดิบ และถ่านหิน

สำหรับฝ่ายสหภาพยุโรป ยกเว้นภาษีร้อยละ 85.6 ของจำนวนภาษีทั้งหมดที่สหภาพยุโรปปรับใช้กับสินค้าเวียดนามทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ และในช่วง 7 ปีต่อไป จะยกเว้นภาษีร้อยละ 99.2 ครอบคลุมสินค้าที่เวียดนามมีการค้ากับสหภาพยุโรปร้อยละ 99.7 ส่วนอีกร้อยละ 0.3 เป็นสินค้าที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษกับเวียดนามผ่านระบบการให้โควต้าภาษี

โอกาสที่เวียดนามจะมีเหนือคู่ค้ารายอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ คือ สินค้าส่งออกที่เวียดนามมีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าเกษตรจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่ปีแรก โดยร้อยละ 50 ของรายการภาษีที่ปรับใช้กับอาหารทะเลน้ำเข้าจากเวียดนามจะได้รับการยกเว้นภาษีทันที นอกจากนี้ ผักและผลไม้สดและแปรรูป น้ำผลไม้ กาแฟ พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และน้ำผึ้งธรรมชาติ ก็จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีทันทีเช่นกัน

ความตกลง EVFTA เป็นหนึ่งในความตกลงการค้าเสรีรุ่นใหม่ (new generation free trade agreement) ที่เวียดนามตั้งความหวังที่จะขยายการค้าการลงทุน และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้สูงมาก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม คาดว่า ความตกลงจะเพิ่มการส่งออกจากเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปในปี 2563 ได้ร้อยละ 20 ในปี 2568 ร้อยละ 42.7 และในปี 2573 ร้อยละ 44.37 นอกจากนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตของ GDP ในช่วงปี 2563–2566 ร้อยละ 2.18 – 3.25 ในช่วงปี 2567–2571 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.57 – 5.30 และในช่วงปี 2572–2576 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.07 -7.72 และเชื่อมั่นว่า ความตกลงจะช่วยส่งเสริมการลงทุนคุณภาพสูงจากสหภาพยุโรปในเวียดนาม อีกทั้งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเวียดนามสามารถนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากสหภาพยุโรปได้ในราคาที่สมเหตุสมผล

ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรปไม่เป็นไปตามที่คาด โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 49,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกของเวียดนาม 34,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่
อันดับที่ 5 ของเวียดนาม แต่มูลค่ารวมข้างต้นลดลงจากปี 2562 ประมาณร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม 
หากพิจารณาจากสถิติเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ พบว่า มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 4.2 โดยมีสินค้าเวียดนามบางรายการที่เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโต เช่น อาหารทะเล เติบโตร้อยละ 10
โดยเฉพาะกุ้ง เติบโตร้อยละ 15.7 ข้าวมีราคาสูงขึ้นเป็น 80–200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะเดียวกัน สินค้าเกษตรใหม่ ๆ ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดนี้ได้ เช่น เสาวรส ซึ่งเวียดนามได้ส่งออกล๊อตแรกไปแล้ว 100 ตัน มะพร้าว 20,000 ลูก และแก้วมังกร 3 ตัน เป็นต้น

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามรายงานว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เห็นโอกาสและเริ่มใช้ประโยชน์จากความตกลงแล้ว โดยกระทรวงฯ ได้ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้า (certificate of origin) กว่า 15,000 รายการ เพื่อส่งออกไปยัง 28 ประเทศในสหภาพยุโรป คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  สินค้าส่วนใหญ่ที่ได้รับใบรับรองอยู่ในกลุ่มรองเท้า อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์พลาสติก กาแฟ
สิ่งทอ กระเป๋า กระเป๋าเดินทาง ผัก สินค้าจากไม้ไผ่ สินค้าเกษตร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ในด้านการลงทุน ปัจจุบัน 27 ประเทศจากสหภาพยุโรปมีโครงการลงทุนในเวียดนามเกือบทุกสาขา คิดเป็นมูลค่ารวม 23,791 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นนักลงทุนอันดับที่ 6 ของเวียดนาม ผู้ลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์

ในโอกาสย่อมมีความท้าทายที่เวียดนามจะต้องยอมรับ โดยนอกจากปัจจัยทางเทคนิคตามพันธสัญญา
ของความตกลง เช่น ใบรับรองถิ่นกำเนิด การใช้แรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์เป็นสาขาที่เวียดนามอาจเสียเปรียบ เวียดนามมีพันธสัญญาในความตกลง EVFTA ในเรื่องการเปิดตลาด การประกันการแข่งขัน และความโปร่งใสในความร่วมมือทางธุรกิจ ปัจจุบัน สาขาโลจิสติกส์ยังได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาล ดังนั้น เมื่อความตกลง EVFTA มีผลใช้บังคับจะสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจโลจิสติกส์
ของเวียดนามอย่างมาก

ปัจจุบัน ค่าบริการโลจิสติกส์ในเวียดนามสูงมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 20-25 ของ GDP เนื่องจากผู้ใช้บริการนิยมเช่าเรือสินค้าต่างประเทศในการขนส่งสินค้าแทนการใช้เรือเวียดนาม หากจำแนกรายสาขา ค่าบริการโลจิสติกส์ คิดเป็นร้อยละ 12 ของราคาอาหารทะเล ร้อยละ 23 ของผลิตภัณฑ์จากไม้ ร้อยละ 29 ของผักและผลไม้ ซึ่งสูงกว่าไทยร้อยละ 6 มาเลเซียร้อยละ 12 และสิงคโปร์ร้อยละ 300 ค่าบริการข้างต้นอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเวียดนามเสียเปรียบคู่ค้ารายอื่น ๆ ขณะเดียวกัน การเปิดตลาดและมีคู่แข่งต่างชาติมากขึ้น จะทำให้สาขาธุรกิจบริการโลจิสติกส์เวียดนามต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงด้วย

เพื่อให้การดำเนินความตกลงเกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลเวียดนามจะเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้ความเข้าใจความตกลง EVFTA ต่อสาธารณะ โดยปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้จัดทำเว็บไซต์ http://evfta.moit.gov.vn/ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ (เว็บไซต์มีข้อมูลภาษาเวียดนามเท่านั้น)รวมทั้งจะแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายธุรกิจประกันภัย และเข้าร่วม
ความตกลง UNECE 1958 (ความตกลงว่าด้วยการรับรองแบบตามข้อก่าหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนควบที่ติดตั้ง และ/หรือใช้ในยานยนต์ และเงื่อนไขสำหรับการยอมรับร่วมกันของการรับรองแบบปี ค.ศ. 1958) จัดทำแผนและนโยบายด้านสหภาพและองค์การแรงงานในภาคธุรกิจเกี่ยวกับสวัสดิภาพทางสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

UKVFTA กับบทบาทการเชื่อมเวียดนามกับสหราชอาณาจักรหลัง BREXIT

หลังจากที่สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือกรณี “BREXIT” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ความตกลง EVFTA ไม่ครอบคลุมการค้าระหว่างเวียดนามกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายจึงได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกันภายใต้ UK – Vietnam Free Trade Agreement (UKVFTA) ซึ่งนอกจากจะสร้างเขตการค้าเสรีแล้ว ยังเป็นความตกลงที่ครอบคลุมปัจจัยอื่นด้วย เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในช่วงปี 2554–2562 การค้าระหว่างเวียดนามกับสหราชอาณาจักรเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12.1 ต่อปี สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ระหว่างเวียดนามกับประเทศยุโรป และเมื่อปี 2563 การค้ามีมูลค่ารวม 5,642.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม มูลค่าข้างต้นต่ำกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของสหราชอาณาจักร

หลังจากความตกลง UKVFTA มีผลใช้บังคับ สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามหลายรายการจะได้เปรียบคู่แข่งอื่น ๆ จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ก่อนหน้านี้เวียดนามเคยเสียเปรียบคู่แข่งรายอื่นที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในรูปแบบต่างกัน เช่น บังกลาเทศ กัมพูชา และปากีสถาน แต่ภายหลังการลงนามความตกลงฯ เวียดนามจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และจะสามารถเพิ่มการจำหน่ายในตลาดสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น

สำหรับรองเท้า เมื่อปี 2562 เวียดนามเคยเป็นผู้ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรที่ถูกปรับใช้อัตราภาษี
ที่ร้อยละ 6.7 สูงเป็นอันดับ 2 จากบรรดาประเทศส่งออกรองเท้าทั้งหมด ซึ่งภายใต้ความตกลงฯ เวียดนามจะกลับมาได้เปรียบเหนือหรือเทียบเท่าคู่แข่งรายอื่น เช่น จีน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยียม เยอรมนี

เมื่อปี 2562 การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังสหราชอาณาจักรเติบโตร้อยละ 376 แม้ถูกเก็บภาษี
ในอัตราสูงและแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นได้ยาก ดังนั้น ความตกลงจะสร้างโอกาสให้เวียดนามสามารถขายข้าวให้กับสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น

ปัจจุบัน เวียดนามเป็นผู้ส่งออกสินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ไปสหราชอาณาจักรสูงเป็นอันดับที่ 6
มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.6 และมีคู่ค้าหลายรายที่สั่งผลิตสินค้าในเวียดนาม เช่น IKEA ดังนั้น ความตกลงฯ
จะช่วยสร้างโอกาสให้กับสินค้าสาขาไม้ของเวียดนามในอนาคตด้วย  

*   *   *   *   *

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
 21 มกราคม 2564

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจาก Vietnam Economic News และ VCCI news

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

201070

เข้าชมทั้งหมด