ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว: อนาคตพลังงานของเวียดนาม

POST ON 20 เมษายน 2021

ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว: อนาคตพลังงานของเวียดนาม

“ชี้ช่อง” กับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

          ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 โดยเมื่อปี 2563 GDP เวียดนามมีมูลค่ารวมกว่า 343,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เวียดนามต้องพัฒนาสาขาพลังงานในประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไปด้วย

          ผลผลิตไฟฟ้าของเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี โดยเมื่อปี 2553 ผลผลิตไฟฟ้า 85,400 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นในปี 2563 เป็น 225,400 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า คาดการณ์ว่า ในปี 2568 เวียดนามจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าให้สูงถึง 96,500 เมกะวัตต์ ในปี 2573 เพิ่มเป็น 138,000 เมกะวัตต์ และในปี 2578 เพิ่มเป็น 302,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

          ในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามได้พยายามเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ารายงานว่า เวียดนามมีโครงการไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ 330 โครงการ กำลังการผลิตรวม 26,000 เมกะวัตต์ โครงการไฟฟ้าพลังงานลมมีกำลังการผลิตรวม 18,200 เมกะวัตต์ สำหรับไฟฟ้าพลังน้ำ เวียดนามได้พัฒนามาโครงการเป็นระยะเวลานานและคาดว่าจะมีขีดความสามารถที่จะผลิตได้ในเร็ววันนี้ ดังนั้น พลังงานที่เวียดนามจะสามารถนำมาใช้ทดแทนไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินได้ คือ ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งในช่วงปี 2568 – 2573 เวียดนามจะมีกำลังการผลิต LNG รวม 15,000 – 20,000 เมกะวัตต์

          ปัจจุบัน เวียดนามได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาโครงการพลังงานจากก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ภายใต้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ญี่ปุ่น – สหรัฐฯ ซึ่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศพัฒนาใหม่ในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยในระยะแรก เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ และต่อมา เวียดนามได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อผลิตก๊าซ LNG ในประเทศ ปัจจุบัน มีโครงการสำรวจและพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้

          1. โครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งจังหวัดกว๋างหงาย 80 กิโลเมตร กำลังการผลิตประมาณ 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Exon Mobil กับหุ้นส่วนเวียดนาม

          2. โครงการ ENI Vietnam BV สำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติเกนเบิ่ว บริเวณนอกช่ายฝั่งจังหวัดกว่างจิ65 กิโลเมตร กำลังการผลิตประมาณ 200,000 – 225,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของเวียดนาม อิตาลี และอินเดีย

          3. การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในแหล่งก๊าซซาวหว่าง – ด่ายเหงวียต บริเวณนอกช่ายฝั่งจังหวัดหวุงเต่า 300 กิโลเมตร กำลังการผลิตประมาณ 180,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Idemitsu Kosan, Teikoko Oil (ญี่ปุ่น) และกลุ่มบริษัทน้ำมันและก๊าซเวียดนาม (PetroVietnam)

          4. จังหวัดบากเลียว (ภาคใต้) รองรับการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ เช่น Delta Offshore Energy, Bechtel General Electric และ McDermott มูลค่าการลงทุนรวม 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 3,200 เมกะวัตต์

          5. จังหวัดล็องอาน (ภาคใต้) รองรับการลงทุนจากบริษัท General Electric (สหรัฐฯ) กับ Vinacapital (เวียดนาม) มูลค่าเครื่องจักรของบริษัท General Electric กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กำลังการผลิต 3,000 เมกะวัตต์

          6. จังหวัดบ่าเหรียะ – หวุงเต่า (ภาคใต้) รองรับการลงทุนจากบริษัท General Electric กับ Genco (สหรัฐฯ) มูลค่าการลงทุนรวม 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจาก Mitsubishi (ญี่ปุ่น) กับ PECC2 (เวียดนาม) กำลังการผลิต 3,600 – 4,500 เมกะวัตต์

          7. จังหวัดบิ่งถ่วน (ภาคใต้) รองรับการลงทุนจากบริษัท AES (สหรัฐฯ) กับ PetroVietnam Gas มูลค่าการลงทุนรวม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์

          8. จังหวัดเถื่อเทียน – เว้ (ภาคกลาง) มีโครงการ LNG Chan May ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม มูลค่าการลงทุนรวม 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์

          9. จังหวัดกว่างจิ (ภาคกลาง) รองรับการลงทุนจาก T&T Group (เวียดนาม) มูลค่าการลงทุนรวม 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 3,000 เมกะวัตต์

          10. จังหวัดห่าติ๋งห์ (ภาคกลาง) รองรับการลงทุนจาก T&T Group (เวียดนาม) มูลค่าการลงทุนรวม 3,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          10. นครไฮฟอง (ภาคเหนือ) รองรับการลงทุนจาก Exon Mobil (สหรัฐฯ) กับ JERA (ญี่ปุ่น) มูลค่าการลงทุนรวม 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 4,500 เมกะวัตต์.

          เวียดนามมุ่งมั่นที่จะผลิตพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ตลดจนส่งออกพลังงานบางส่วน ตามข้อมติคณะกรรมการกรมการเมืองเวียดนาม ที่ 55/NQ-TW ที่กำหนดเป้าหมายสำหรับสาขาน้ำมันและก๊าซโดยมุ่งการแสวงหาแหล่งพลังงานแหละขุดเจาะเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและผลผลิตบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และมุ่งการส่งออก

*   *   *   *   *

ภาพ: nangluongvietnam.vn

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

184637

เข้าชมทั้งหมด