เวียดนามมุ่งดึงดูดการลงทุนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงปี 2564 – 2568

POST ON 12 เมษายน 2021

เวียดนามมุ่งดึงดูดการลงทุนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงปี 2564 – 2568

“ทันโลก” กับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

          กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนามรายงานว่า เมื่อปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามมีมูลค่ารวมประมาณ 28,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงต้นปี 2564 เวียดนามรองรับการลงทุนโครงการใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลายโครงการ ในทุกภาคของประเทศ เช่น ในภาคเหนือ Foxconn ได้รับใบอนุญาตการลงทุนโรงงาน Fukang Technology ในจังหวัดบั๊กซาง มูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการขยายการลงทุนมายังเวียดนาม 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภาคกลาง จังหวัดเหงะอานได้อนุญาตการลงทุนของบริษัท Everwin Precision ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีจากเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาคใต้ มีการลงทุนไหลสู่จังหวัดด่งนายแล้วกว่า 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          นาย Nguyen Dinh Cung สมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่า เวียดนามจะแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ และธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมุ่งพัฒนาฐานข้อมูลระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยายการเชื่อมต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานเข้ากับระบบปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องและกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำท้องถิ่น รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายบริการกลางกับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ จะจัดทำกรอบกฎหมายเพื่อทดลองใช้กลไกและนโยบายพิเศษในการสร้างความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ ธุรกิจ start-up และบริการสาธารณะ

          ในด้านการดึงดูดการลงทุนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนังสือเวียนกระทรวงการคลังเวียดนาม ที่ 03/2021/TT-BTC กำหนดให้ผู้ประกอบการสาขาดังกล่าวได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้รับสิทธิ์ลดภาษีร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 9 ปี โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ต้องมีใบรับรองการทำธุรกิจสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากหน่วยงานที่มีอำนาจ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564

          เวียดนามจะดำเนินการปรับปรุงปัจจัยด้านการลงทุนที่เป็นข้อห่วงกังวลของนักลงทุนต่างชาติ  เช่น การพัฒนานโยบายการบริหารจัดการที่ดินให้เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนยิ่งขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และลดข้อจำกัดให้น้อยลง ปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นการจดทะเบียนการถือครองและการใช้ทรัพย์สิน สินทรัพย์ที่จำนองในธนาคาร และการล้มละลาย รวมทั้งให้ความสำคัญต่อสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่า การปรับปรุงปัจจัยดังกล่าวนี้จะช่วยให้เวียดนามได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม Top 30 ของดัชนีสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของโลกได้

          ในอนาคต ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ จะช่วยขยายโอกาสการลงทุนในเวียดนาม สำหรับธุรกิจที่ได้เข้ามาลงทุนอยู่ก่อนแล้ว รัฐบาลเวียดนามก็ส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเร่งพัฒนาระบบดิจิทัลในประเทศ

*   *   *   *   *

ที่มา

(1) Vietnam Investment Review ฉบับที่ 1530 – 1531 วันที่ 8 – 21 กุมภาพันธ์ 2564
(2) Sai Gon Times วันที่ 30 มกราคม 2564

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

184814

เข้าชมทั้งหมด