อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม

POST ON 30 กันยายน 2020

อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม

เวียดนามเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 8 – 9.5 ต่อปี ปัจจุบัน มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 42,000 – 43,000 เมกะวัตต์ต่อปี และคาดการณ์ว่าปี 2568 และปี 2573 จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 63,500 เมกะวัตต์ และ 90,700 เมกะวัตต์ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ยังคงพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน น้ำมัน และเขื่อนผลิตไฟฟ้าซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ มีผลต่อความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในอนาคต กอปรกับรัฐบาลเวียดนามได้เริ่มมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2550 จนเมื่อปี 2561 รัฐบาลได้เริ่มนำนโยบายมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมและให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่ดี กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงระดับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการลงทุนลดลงและส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฟฟ้าพลังงานลม

โครงการพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่บริเวณภาคกลางจนถึงภาคใต้ของประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีพื้นที่ติดทะเล มีลมแรง และมีแสงแดดมากตลอดทั้งปี โดยจังหวัดที่มีโครงการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนิญถ่วน มูลค่าลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ รวมจนถึงปี 2563 ประมาณ 3.82 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนพลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง ได้แก่ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์เซลล์ซึ่งเจ้าของอาคารพาณิชย์หรือครัวเรือนสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามได้โดยตรง โดยหลายเมืองใหญ่ เช่น กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ เกิ่นเทอ และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีแสงอาทิตย์มากก็เริ่มเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (เดือนกันยายน ปี 2563) มีครัวเรือนและอาคารพาณิชย์ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วประมาณ 50,000 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์

1. กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของเวียดนาม

กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าถึงปี 2073 วิสัยทัศน์ถึงปี 2093 (Decision No.2068/QD-TTg) มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการที่เพิ่มอย่างรวดเร็วและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ อื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • Decision No.2068/2015/QD-TTg เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
  • Decision No. 428/2016/QĐ-TTg เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานปี 2559 – 2563 วิสัยทัศน์ปี 2030
  • Decision No.11/2017/QD-TTg เกี่ยวกับกลไกส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าด้วยราคา 0.0935 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ จากโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 มิถุนายน 2562 หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีอนุมัติให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Decision No.13/2020/QD-TTg) จากโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดินในราคา 0.079 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ โครงการที่ติดตั้งบนผืนน้ำ/ลอยน้ำ 0.0769 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลวัตต์ และโครงการที่ติดตั้งบนหลังคา 0.0838 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลวัตต์ โดยต้องเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าออกไปเป็นกรณีพิเศษสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลงทุนในจังหวัดนิญถ่วน ในราคา 0.0935 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเวลา 20 ปี โดยต้องมีกำลังการผลิตรวมแล้วไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ และต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564
  • Decision No. 39/2018/QD-TTg เกี่ยวกับกลไกส่งเสริมอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานลม โดยทางการไฟฟ้าเวียดนามจะรับซื้อไฟฟ้าในราคา 0.084 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลวัตต์สำหรับโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมบนชายฝั่ง และรับซื้อราคา 0.096 เหรียญสหรัฐฯต่อกิโลวัตต์สำหรับโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพ (Decision 24/2014/QD-TTg) และจากโรงงานขยะ (Decision No. 31/2014/QD-TTg) ซึ่งข้อกำหนดมุ่งเน้นที่การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าเมื่อจ่ายเข้าระบบ ทั้งนี้แต่ละจังหวัด/นคร สามารถออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเพิ่มเติมในด้านการให้สิทธิประโยชน์เฉพาะท้องถิ่นอีกด้วย

2. ศักยภาพในการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

            ปี 2562 – 2563 นับเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเวียดนามมีแสงอาทิตย์และลมแรงในหลายส่วนของพื้นที่ซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมูลค่าสูงโดยในช่วงปี 2562 – เดือนสิงหาคมปี 2563 มีการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานจากต่างชาติมูลค่า 4,762.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะลงทุนพัฒนาโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 เพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในราคาพิเศษตามข้อกำหนดใหม่ของรัฐบาลเวียดนามที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน ปี 2563

            อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าของเวียดนามในปี 2563  โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) พบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินถึงร้อยละ 33 พลังงานไฟฟ้าจากน้ำ (เขื่อนไฟฟ้า) ร้อยละ 30 แก๊สธรรมชาติร้อยละ 10 พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ร้อยละ 11 พลังงานไฟฟ้าจากลมร้อยละ 1.7 และพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่น ๆ อีกร้อยละ 14.3 ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าของเวียดนามจะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในอนาคต ดังนี้

ตารางที่ 1 ตารางแสดงการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้า และโครงสร้างแหล่งที่มาของไฟฟ้าเวียดนามปี 2563, 2568 และ 2573

ตารางที่ 1 ตารางแสดงการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้า และโครงสร้างแหล่งที่มาของไฟฟ้าเวียดนามปี 2563, 2568 และ 2573

แหล่งที่มาของพลังงาน

สถานการณ์ใช้ไฟฟ้าปกติ

สถานการณ์ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก

2563

2568

2573

2563

2568

2573

ความต้องการไฟฟ้า (MW)

42,080

63,471

90,651

44,224

68,367

100,215

กำลังการผลิตไฟฟ้า (MW)

59,090

104,824

145,568

60,090

116,699

169,498

โครงสร้างแหล่งที่มาของไฟฟ้า (ร้อยละ)

พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน

33.2

37.1

33.6

32.7

33.3

31.2

พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่

30.1

18.2

13.2

29.6

16.4

11.3

พลังงานไฟฟ้าจากแก๊สธรรมชาติ (จากในประเทศและจากมาเลเซีย)

12.1

10.0

7.4

11.9

8.7

5.9

พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

11.3

13.8

13.8

12.8

17.4

14.9

พลังงานไฟฟ้าจากลม

1.7

5.8

6.9

1.7

10.0

10.8

พลังงานไฟฟ้าอื่น ๆ

11.6

15.1

25.1

11.3

14.2

25.9

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์เวียดนาม (หนังสือเลขที่ 1931/BCT-DL) (2563)

2.1ศักยภาพในการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์       

จากการสำรวจความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ ปี 2563 พบว่าในภาคกลางและภาคใต้มีแสงอาทิตย์สูงถึง 2,000 – 2,600 ชั่วโมงต่อปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 5.9 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตร ภาคเหนือ 1,500 – 1,700 ชั่วโมงต่อปี ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 3.69 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตร

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ตามพื้นที่ของประเทศเวียดนาม

ที่มา: Nangluongsach.vn
ตารางที่ 1 แสดงความเข้มข้นของแสงแดดจำแนกตามภูมิภาค

ภูมิภาคชั่วโมงแสงแดดต่อปี (ชั่วโมง/ปี)ความเข้มข้นแสงอาทิตย์ (กิโลวัตต์/ตารางเมตร/วัน)ศักยภาพในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าแสงอาทิตย์
ตะวันออกเฉียงเหนือ1,600 – 1,7503.3 – 4.1ปานกลาง
ตะวันตกเฉียงเหนือ1,750 – 1,8004.1 – 4.9ปานกลาง
ภาคกลางตอนบน1,700 – 2,0004.6 – 5.2ดี
ที่ราบสูงตะวันตกและภาคกลางตอนล่าง2,000 – 2,6004.9 – 5.7ดีมาก
ภาคใต้2,200 – 2,5004.3 – 4.9ดีมาก
ทั้งประเทศ1,700 – 2,5004.6ดี

ที่มา: Nangluongsach.vn(2563)

จากข้อมูลถึงกรกฎาคม 2563 เวียดนามมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางตอนใต้ ภาคใต้ และที่ราบสูงภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดนิญถ่วน บิ่ญถ่วน ล็องอาน บะเสี่ยะ – หวุงเต่า เต็ยนิญ และจังหวัดอานยาง

2.2 ศักยภาพในการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม      

            เวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและนอกชายฝั่ง โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดจากการประเมินขององค์การธนาคารโลกและจากการไฟฟ้าเวียดนามคือบริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนใต้เรียบชายฝั่งทะเล เช่น จังหวัดนิญถ่วน จังหวัดบิ่ญถ่วน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ เป็นต้น โดยจากการประเมินพบว่าเวียดนามมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 1,785 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ หากโรงไฟฟ้าพลังงานลมสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทางการไฟฟ้าเวียดนามจะรับซื้อในราคา 0.084 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์สำหรับโรงงานไฟฟ้าชายฝั่ง และรับซื้อราคา 0.096 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์สำหรับโรงงานไฟฟ้านอกชายฝั่ง (Decision No.39/2018/QD-TTg เกี่ยวกับการปรับปรุงกลไกส่งเสริมอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานลม) ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2563 นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มอีก 91 โครงการ คาดว่าจะทำให้เวียดนามมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมโดยรวมเพิ่มขึ้นอีก 7,000 เมกะวัตต์

ภาพที่ 2 การประเมินศักยภาพแรงลมที่ความสูง 50 เมตรโดย Wind Minds

ที่มา: Netherlands Enterprise Agency (2018)

ตารางที่ 2 การประเมินศักยภาพแรงลมที่ความสูง 65 เมตรเหนือพื้นดิน

ที่

บริเวณที่วัดแรงลม

ระดับความแรงลมเฉลี่ยเมื่อวัดที่ความสูง 65 เมตรเหนือพื้นดิน (เมตร/วินาที)

EVN

Worldbank

ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม (กำลังการผลิตจากการประเมิน 50 เมกะวัตต์)

1

เมืองม้องก๊าย จังหวัดกว๋างนิญ

(Mong Cai City, Quang Ninh Province)

5.8

7.35

2

อำเภอวานลี้ จังหวัดนามดิ่ญ

(Nam Ly District, Nam Dinh Province)

6.88

6.39

3

เมืองเซิ่มเซิน จังหวัดทัญฮว้า

(Sam Son City, Thanh Hoa Province)

5.82

6.61

4

อำเภอกี่อัน จังหวัดห่าติ๋ญ

(Ky Anh District, Ha Tinh Province)

6.48

7.02

ภาคกลางของเวียดนาม (กำลังการผลิตจากการประเมิน 880 เมกะวัตต์)

5

อำเภอกว๋างนิญ จังหวัดกว๋างบิ่ญ

(Quang Ninh District, Quang Binh Province)

6.73

7.03

6

อำเภอซอลิญ จังหวัดกว๋างจิ

(Gio Linh District, Quang Tri Province)

6.53

6.52

7

อำเภอเฟืองมาย จังหวัดบิ่ญดิ่ญ

(Phuong Mai District, Binh Dinh Province)

7.30

6.56

8

อำเภอตูบอง จังหวัดคั้ญฮว่า

(Tu Bong District, Khanh Hoa Province)

5.14

6.81

ภาคใต้ของเวียดนาม (กำลังการผลิตจากการประเมิน 855 เมกะวัตต์)

9

อำเภอเฟื้อกมิญ จังหวัดนิญถ่วน

(Phuoc Minh District, Ninh Thuan Province)

7.22

8.03

10

เมืองดาลัด จังหวัดเลิมด่ง

(Da Lat City, Lam Dong Province)

6.88

7.57

11

อำเภอตุยฟอง จังหวัดบิ่ญถ่วน

(Tuy Phong District, Binh Thuan Province)

6.89

7.79

12

อำเภอเซวียนหาย จังหวัดจ่าวิญ

(Duyen Hai District, Tra Vinh Province)

6.47

7.24

3. การลงทุนของภาคเอกชนไทยในเวียดนาม

ภาคเอกชนไทยมีการลงทุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในโครงการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้าจากลม โดยเครือบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัทในเครือบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นต้น บริษัทต่าง ๆ มีรูปแบบการลงทุนตั้งลงทุนโดยตรง ร่วมทุน และควบรวมกิจการ (M&A)

ภาพที่ 3 แผนที่แสดงโครงการลงทุนของธุรกิจในโครงการพลังงานหมุนเวียน

ที่มา: เรียงเรียงจากรายงานประจำปีของบริษัทต่าง ๆ และจากข่าวออนไลน์
(สถานะเมื่อเดือนกันยายน ปี 2563)

อ้างอิง:

Báo Đầu tư (2563), Hơn 88.000 tỷ đồng đầu tư vào năng lượng tái tạo ở Ninh Thuận, retrieved from https://tinnhanhchungkhoan.vn/hon-88-000-ty-dong-dau-tu-vao-nang-luong-tai-tao-o-ninh-thuan-post244554.html

Báo Đầu tư (2563), Cuộc đua về đích ở các dự án điện mặt trời dang dở, retrieved from https://baodautu.vn/cuoc-dua-ve-dich-o-cac-du-an-dien-mat-troi-dang-do-d119804.html

Báo Đầu tư (2563), Hàng chục nhà máy điện gió, điện mặt trời phát điện sai công suất công bố, retrieved from https://baodautu.vn/hang-chuc-nha-may-dien-gio-dien-mat-troi-phat-dien-sai-cong-suat-cong-bo-d125881.html

Forbes Vietnam (2563), 91 nhà máy điện gió được bổ sung vào quy hoạch điện VII điều chỉnh, retrieved from https://forbesvietnam.com.vn/tin-cap-nhat/91-nha-may-dien-gio-duoc-bo-sung-quy-hoach-dien-vii-dieu-chinh-11518.html

GIZ (2554), Thông tin về năng lượng gió tại Việt Nam, retrieved from http://gizenergy.org.vn/media/app/media/Bao%20cao%20nghien%20cuu/Information_on_wind_energy_in_vietnam_VIE__revised_final__19072011.pdf

Năng lượng Việt Nam (2563), Cập nhật số liệu khảo sát cường độ bức xạ mặt trời ở Việt Nam, retrieved from http://nangluongvietnam.vn/news/vn/dien-hat-nhan-nang-luong-tai-tao/cap-nhat-so-lieu-khao-sat-cuong-do-buc-xa-mat-troi-o-viet-nam.html

Năng lượng Việt Nam (2563 EVNSPC: Sản lượng điện nhận từ các nhà máy điện mặt trời trong tháng 7/2020 là 317,93 triệu kWh, retrieved from http://nangluongsachvietnam.vn/d6/vi-VN/news/EVNSPC-San-luong-dien-nhan-tu-cac-nha-may-dien-mat-troi-trong-thang-72020-la-31793-trieu-kWh-6-165-7562

Netherlands Enterprise Agency (2561), Wind Energy Potential Vietnam, retrieved from https://www.rvo.nl/sites/default/files/2019/02/Wind-Energy-Potential-Vietnam.pdf

Vriens, M. & Brown, M. (2561), Chương Trình Biểu Giá Mua Bán Điện Mặt Trời Hòa Lưới Của Việt Nam Đang Mang Lại Thành Quả Theo dõi tiến bộ về Lưới điện và Điện gió, retrieved from https://ieefa.org/wp-content/uploads/2019/09/IEEFA-Report_Vietnam-Solar-FiT-Program-Delivers_Sept-2019_VN.pdf

Thủ Tướng Chính phủ (2558), Quyết định 2068/QĐ-TTg về việc Phê duyệt Chiến lược phát triển năng lượng tái tạo của Việt Nam đến năm 2030, tầm nhìn đến năm 2050

DEVI Renewable Energies (2563), Toàn cảnh chính sách Điện mặt trời tại Việt Nam tháng 12/2019, retrieved from https://devi-renewable.com/news/toan-canh-chinh-sach-dien-mat-troi-tai-viet-nam-thang-12-2019/

Vusta (2562), Tiềm năng để phát triển năng lượng tái tạo, retrieved from http://vusta.vn/chitiet/hop-tac-doi-tac/tiem-nang-de-phat-trien-nang-luong-tai-tao

Trung Nam Group (2563), NINH THUAN SOLAR POWER RECEIVED THE PREFERENTIAL PRICE OF 9.35 CENT / KWH, retrieved from https://www.trungnamgroup.com.vn/en-US/ninh-thuan-solar-power-received-the-preferential-price-of-935-cent–kwh

Báo Chính phủ Việt Nam (2563), Ra mắt EVNSOLAR để thúc đẩy điện mặt trời mái nhà , retrieved from http://baochinhphu.vn/Doanh-nghiep/Ra-mat-EVNSOLAR-de-thuc-day-dien-mat-troi-mai-nha/407218.vgp

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

198623

เข้าชมทั้งหมด