ศักยภาพและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของฟินเทคสตาร์ทอัพ (FinTech Start Up) ในประเทศเวียดนามกับโอกาสของประเทศไทย

POST ON 30 กันยายน 2020

ศักยภาพและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของฟินเทคสตาร์ทอัพ (FinTech Start Up) ในประเทศเวียดนามกับโอกาสของประเทศไทย

รูปแบบการดำเนินธุรกรรมทางการเงินด้วยนวัตกรรมใหม่หรือที่รู้จักกันในชื่อของ FinTech (Financial Technology) กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยที่บริการรูปแบบดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านการใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม

ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นอีกกลุ่มประเทศที่กำลังได้รับการจับตาเนื่องจากศักยภาพการเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอยู่สูง โดยแต่ละประเทศมีทิศทางและแนวโน้มการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าว ต่างยกให้ “เวียดนาม” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพด้านดิจิทัล โดยเฉพาะด้านฟินเทคสตาร์ทอัพทั้งนี้ ในเมืองหลักสำคัญของเวียดนามอย่างนครโฮจิมินห์มีจำนวนฟินเทคสตาร์ทอัพกว่า 60 บริษัท จากสตาร์ทอัพทั้งหมดที่มีมากกว่า 600 แห่งทั่วมหานคร

สถานการณ์ FinTech ในประเทศเวียดนาม

ด้วยการขยายตัวของประชากรกลุ่มชนชั้นกลาง การเพิ่มขึ้นของการใช้งานอินเตอร์เน็ต และจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 65 เป็นประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาที่ดี มีทักษะและความเข้าใจด้านดิจิทัลตลอดจนมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการก้าวขึ้นเป็นตลาดฟินเทคสำคัญของภูมิภาค

ข้อมูลของ Department of Payments ธนาคารแห่งชาติเวียดนามระบุว่า อุตสาหกรรมการชำระเงินที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนามนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของรูปแบบการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Payment) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2562 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2561 โดยเฉพาะในส่วนของการทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือและกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งขยายตัวกว่าร้อยละ 126 และร้อยละ 161 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายงานของ Allied Market Research เมื่อปี 2561 ยังได้คาดการณ์ด้วยว่าตลาดการชำระเงินผ่านมือถือของชาวเวียดนามจะมีมูลค่าสูงถึง 70,937 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2561 – 2568 อยู่ที่ร้อยละ 18.2

จากการที่ฟินเทคเข้ามามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างคึกคักระหว่างสตาร์ทอัพที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการเงิน และส่งผลให้ระบบนิเวศของฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน มีบริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพเกิดขึ้นกว่า 120 แห่ง ครอบคลุมบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่การชำระเงินดิจิทัล การเงินทางเลือก ไปจนถึงการบริหารความมั่งคั่งและบล็อกเชน

ท่ามกลางรูปแบบสตาร์ทอัพและแพลตฟอร์มจำนวนมากที่เกิดขึ้นนี้การชำระเงิน (Payment) นับเป็นภาคธุรกิจฟินเทคที่เป็นที่นิยมมากที่สุด บริษัทที่น่าจับตามองในแพลตฟอร์มนี้ ได้แก่ VNPay แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันได้จับมือกับธนาคารพาณิชย์มากกว่า 40 แห่ง อาทิ UnionPay, Vietcombank, Agribank ตลอดจนบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอีกมากกว่า 1,000 แห่ง และมีจุดชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดประมาณ 50,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของการชำระเงินผ่าน VNPay มากกว่ากว่าร้อยละ 30 ต่อปี Payoo แอพพลิเคชั่นการเงินที่พัฒนาโดย VietUnion มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในการชำระเงินค่าบริการต่าง ๆ โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับ Citi Treasury และ Trade Solutions เพื่อพัฒนาการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลและนิติบุคคลให้มีความคล่องตัวมากขึ้น M_Service ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่นชำระเงินบนมือถือ MoMo และเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพฟินเทคที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนสูงสุดในเวียดนาม Moca แอพพลิเคชั่นชำระเงินบนมือถือสำหรับผู้บริโภคชาวเวียดนาม GrabPay กระเป๋าเงินมือถือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอพพลิเคชั่นชื่อดัง Grab และ ZION เจ้าของแอพพลิเคชั่น Zalo Pay ที่มีทั้งบริการชำระเงินและแพลตฟอร์มสำหรับการสนทนาออนไลน์ยอดนิยมในเวียดนาม โดยบริการดังกล่าวจะเชื่อมกับบัตรชำระเงินของผู้ใช้บริการเพื่อชำระค่าบริการหรือสินค้าออนไลน์เติมเงินมือถือ จ่ายค่าสาธารณูปโภค และอื่น ๆ ผ่านการโอนจ่ายเงินระหว่างบุคคล การจ่ายผ่าน NFC และ/หรือ QR Code

รองลงมาคือ ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ (Peer-to-peer (P2P) Lending) ซึ่งนับเป็นกลุ่มธุรกิจฟินเทคที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนาม ด้วยจำนวนสตาร์ทอัพกว่า 20 บริษัท อาทิ Tima ตลาดทางการเงินของผู้บริโภคและแพลตฟอร์มตลาดสินเชื่อออนไลน์ Growth Wealth แพลตฟอร์มตลาดสินเชื่อออนไลน์สำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม

อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจฟินเทคที่กำลังมาแรงและเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ บล็อกเชน(Blockchain) และคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) นับตั้งแต่การเข้ามาของบิทคอยน์ในเวียดนามและการก่อตั้งบริษัทซื้อขายบิทคอยน์รายแรกของประเทศในปี 2557 ทำให้เกิดบริษัทรายใหม่ลงเล่นในธุรกิจดังกล่าวจำนวนมาก เช่น TomoChain บล็อกเชนสาธารณะที่เสนอบริการทำธุรกรรมทางการเงินที่ถูกกว่าและเร็วกว่า ซึ่งออกแบบเพื่อรองรับแอพพลิเคชั่นแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Applications) Kyber Network โปรโตคอลสภาพคล่องแบบบนลูกโซ่ (On-chain Liquidity Protocol) เทคโนโลยีเล่มบัญชีแบบกระจาย ซึ่งช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนเหรียญได้ทันทีและทำได้อย่างปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม

นอกจากแพลตฟอร์มยอดนิยมข้างต้น เวียดนามยังมีกลุ่มฟินเทคอื่น ๆ จำนวนมาก อาทิ แพลตฟอร์มการวิเคราะห์การเงินเชิงเปรียบเทียบ เช่นTheBank, EbaoHiem เทคโนโลยีกลุ่มธุรกิจประกันหรืออินชัวร์เทค (Insurtech) เช่น Papaya, Inso และ Wicare การบริการระบบขายหน้าร้าน (Point-of-Sale (POS)) เช่น bePOS แพลตฟอร์มการบริหารความมั่งคั่ง เช่น Finsify แพลตฟอร์มดิจิทัลแบงค์กิ้ง (Digital Banking Platforms) เช่น Timo และสตาร์ทอัพพิจารณาสินเชื่อ (Credit Scoring) เช่น Trusting Social เป็นต้น

ผังธุรกิจ FinTech Startup ของเวียดนาม ปี 2562

ปัจจัยหนุน FinTech Startup ในเวียดนาม

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่กระตุ้นการขยายตัวของตลาดฟินเทคในเวียดนามมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยอมรับสิ่งใหม่ กล่าวคือการเปลี่ยนรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยจากเงินสดมาเป็นการชำระเงินออนไลน์ที่รวดเร็ว ประหยัด และสะดวกสบายมากกว่า รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมการเงินแบบเร่งด่วน การขยายตัวของการใช้งานอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของประเทศตลอดจนความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นแรงกระเพื่อมที่กระตุ้นให้รัฐบาลเวียดนามหันมาให้ความสำคัญและเร่งออกมาตรการและนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากนโยบายที่รัฐบาลลงนามไปเมื่อเดือนมกราคม 2560 ซึ่งระบุเป้าหมายในการลดสัดส่วนการทำธุรกรรมเงินสดให้เหลือเพียงร้อยละ 10 และลดจำนวนการถือสมุดบัญชีธนาคารของประชาชนให้เหลือร้อยละ 70 ภายในปี 2563 ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรด้านการสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพ หรือ Business Startup Support Center (BSSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ภายใต้สหพันธ์เยาวชนแห่งชาติ มีหน้าที่สนับสนุนด้านความรู้ ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือเงินทุนในการขยายธุรกิจสตาร์อัพให้เติบโตและมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในเวียดนามและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในปี 2561 BSSC มีเครือข่ายในประเทศเวียดนามแล้วมากกว่า 1,000 องค์กร ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานลงทุน โดยในทุกปี BSSC จะจัดงาน Vietnam Startup Wheel งานประกวดสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการและธุรกิจสตาร์ทอัพราว 4,000 บริษัท และประชาชนกว่า 90,000 คน ให้ความสนใจและเข้าร่วม ทั้งนี้ งานดังกล่าวสร้างมูลค่าสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟินเทคเพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ของฟินเทคในประเทศ โดยภาพรวมพบว่า รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนระบบนิเวศน์ของฟินเทคสตาร์ทอัพในแบบ Top Down ผ่านการออกนโยบายและโครงการสนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งเน้นการดำเนินงานในลักษณะ Micro Long Term การปรับมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบุคลากรสายเทคโนโลยีดิจิตอล (Tech Talent) ชาวเวียดนามที่อยู่ในต่างประเทศให้หันมาเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศมากขึ้น การสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในระดับเมือง อาทิ โครงการ Saigon Silicon Valley ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามมีตลาดที่ชัดเจน เฟื่องฟูและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ลูกค้าชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ Momo E-Wallet ที่ร้านสะดวกซื้อ

ความท้าทายของธุรกิจ FinTech ในเวียดนาม

จากข้อมูลและแนวโน้มต่าง ๆ ชี้ชัดว่าฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามกำลังเติบโตและขยายตัวอย่างมาก ตลอดจนมีศักยภาพที่จะสามารถขยายสู่ระดับภูมิภาคได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจดังกล่าวยังมีความท้าทาย โดยสรุปได้ดังนี้

(1) ภาวะขาดแคลนการระดมทุน ทำให้สตาร์ทอัพขนาดกลางและเล็กบางรายไม่สามารถดำเนินกิจการหรือพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปได้

(2) ความปลอดภัยในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของธุรกิจ

(3) กระบวนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจด้านฟินเทคยังคงมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน

(4) รัฐบาลยังขาดหน่วยงานสนับสนุนกลุ่มธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรที่มีความเข้าใจในระบบนิเวศน์ของธุรกิจดังกล่าว

(5) กรอบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของเวียดนามในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมการพัฒนาและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยในประเด็นนี้ มีนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้เสนอให้มีการจัดตั้งกรอบ Regulatory Sandbox เพื่อให้บริษัทและสตาร์ทอัพด้านฟินเทคได้ใช้ทดสอบและพัฒนานวัตกรรม ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรอบดังกล่าวยังจะช่วยให้รัฐบาลสามารถติดตามและกำกับดูแลเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสามารถพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลของภาครัฐในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อีกด้วย 

(6) ความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคธนาคาร หลายภาคส่วนยังคงแสดงความกังวลต่อการเติบโตของบริษัทฟินเทค โดยให้ความเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคธนาคาร อย่างไรก็ดี จากการสำรวจล่าสุดของ Vietnam Report เปิดเผยว่าทั้งธนาคารท้องถิ่นและบริษัทฟินเทคแสดงความพร้อมและยินดีที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมตลาดการชำระเงินแบบไร้เงินสดของเวียดนาม เนื่องจาก สถิติการทำธุรกรรมการเงินภายในประเทศผ่านบัตรธนาคารในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ในขณะที่การชำระเงินออนไลน์โตขึ้นกว่าร้อยละ 66 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินบนมือถือซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.7 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 232 ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับตัว หากแต่ต้องจับมือกับผู้ประกอบธุรกิจฟินเทคในการพัฒนาและส่งเสริมสังคมไร้เงินสดอย่างจริงจัง 

โอกาสและแนวทางสำหรับการดำเนินธุรกิจ FinTech ในเวียดนาม

จากศักยภาพด้านธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนและขยายธุรกิจมายังเวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจการชำระเงินดิจิทัล การซื้อของออนไลน์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและนิติบุคคล ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งยังมีความเป็นไปได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น (1) โอกาสสำหรับVenture Capital (VC) จากไทยในการเข้ามาร่วมลงทุนในตลาดฟินเทคสตาร์ทอัพเวียดนาม (2) โอกาสสำหรับฟินเทคสตาร์ทอัพไทยในการขยายตลาดเข้ามาในเวียดนาม (3) โอกาสของฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยในการมาหา Venture Capital (VC) ที่ประเทศเวียดนามซึ่งมีจำนวนและเงินทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการขยายตัว (4) โอกาสของบริษัทเอกชนไทยทั้งขนาดกลางและใหญ่ในการจ้างแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน IT ของเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบัน เวียดนามมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างบุคลากรกลุ่มอาชีพดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ตลาดแรงงานด้าน IT ของประเทศขยายตัวและเติบโตมากขึ้น และ (5) โอกาสของแรงงานไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในสาขาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเวียดนามมีอัตราตำแหน่งงานว่างในสาขาดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจ

นอกจากโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจแล้ว ยังนับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมไปถึงการส่งเสริมฟินเทคสตาร์ทอัพของทั้งสองประเทศให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน โดยใช้จุดเด่นของแต่ละประเทศเพื่อมุ่งสู่การขยายตลาดไปยังระดับภูมิภาคต่อไป ตัวอย่างเช่น โครงการ KVision x Visa Hackathon 2019 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2562 ของบริษัท KVision ภายใต้ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับบริษัท VISA และบริษัท Up ของเวียดนาม โดยมีกิจกรรมจัดเสวนาเกี่ยวกับฟินเทคและการเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon ของสตาร์ทอัพเวียดนาม โครงการดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างกลยุทธ์ของภาคธุรกิจไทยในการสร้างพันธมิตรและค้นหานวัตกรรมฟินเทครูปแบบใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และตอบโจทย์การดำเนินธุรกรรมการเงินของผู้บริโภคในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จะเข้าตลาดฟินเทคสตาร์ทอัพเวียดนามจำเป็นต้อง (1) ศึกษาบริบทของประเทศ เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรม สังคม และระบบการปกครอง เพื่อให้การทำงานกับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น (2) ทำความเข้าใจกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อห้ามและการสนับสนุนต่าง ๆ ที่มีโอกาสได้รับระหว่างดำเนินกิจการ (3) ทำความเข้าใจการบริหารแรงงานชาวเวียดนาม ซึ่งมีทัศนคติ พฤติกรรม และรูปแบบการทำงานที่อาจแตกต่างจากแรงงานไทยและ (4) เข้าใจรูปแบบการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม กล่าวคือ ในการเข้าถึงทรัพยากรใด ๆ ในประเทศนั้น จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลเวียดนามซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพยากรทั้งหมดของประเทศเสมอ

ผู้เขียน นางสาวศิริพร กำแพงแก้ว นักบริหารเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://en.thesaigontimes.vn/tinbaichitiet/69359/

https://globthailand.com/vietnam-10072019/

https://globthailand.com/vietnam_0102/

https://brandinside.asia/kvision-sign-mou-with-bssc-vietnam-to-make-growth-startup-th-vn/

https://techsauce.co/tech-and-biz/kbank-kvision-bssc-vision-in-vietnam/

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

2

กำลังเข้าชมขณะนี้

196065

เข้าชมทั้งหมด