รัฐบาลเวียดนามรับมืออย่างไรกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันทั่วประเทศ

POST ON 10 พฤศจิกายน 2022

รัฐบาลเวียดนามรับมืออย่างไรกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันทั่วประเทศ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันกำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ประเทศเวียดนาม ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจำนวนมากปิดชั่วคราวเนื่องจากขาดน้ำมันสำหรับขาย โดยสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2565 สถานีบริการน้ำมันหลายแห่งในภาคใต้ รวมทั้งนครโฮจิมินห์ ติดป้าย “น้ำมันหมดชั่วคราว” และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 สำนักข่าวท้องถิ่นในเวียดนามรายงานว่า สถานีบริการน้ำมัน 54 แห่งในนครโฮจิมินห์ประกาศปิดบริการชั่วคราวเนื่องจากน้ำมันหมด ในขณะเดียวกัน แม้ยังมีสถานีบริการน้ำมันอื่น ๆ ดำเนินกิจการอยู่ แต่จำกัดการเติมน้ำมันอยู่ที่ 30,000 ถึง 50,000 ดอง/เท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 หน่วยซื้อขายน้ำมัน  65 หน่วย จากทั้งหมด 550 หน่วยในนครโฮจิมินห์ได้รายงานไปยังฝ่ายบริหารตลาดว่ามีปริมาณสำรองน้ำมันในเกณฑ์ที่ต่ำ

ไม่เพียงแต่ในภาคใต้ สถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันนี้ได้กระจายไปยังจังหวัดและเมืองต่าง ๆ แถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่น จังหวัดเตี่ยนซาง จังหวัดซ้อกจัง จังหวัดเกียนซาง และจังหวัดอานซาง และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ภาคเหนือของเวียดนามรวมถึงกรุงฮานอยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน สื่อท้องถิ่นของเวียดนามระบุว่า ผู้ที่เข้ามาเติมน้ำมันในสถานีบริการน้ำมันต้องรอแถวเป็นเวลานานเนื่องจากการปรับลดจำนวนพนักงานในสถานีเพื่อลดต้นทุน อีกทั้งยังไม่สามารถเติมน้ำมันได้เต็มถังอีกด้วย นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศมักผันผวนบ่อยครั้ง เนื่องจากผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก การใช้นโยบายของรัฐด้านกฎระเบียบและการรักษาเสถียรภาพราคา เป็นต้น

ความผันผวนของราคาน้ำมัน

สาเหตุหลักของสถานการณ์ข้างต้น คือ การหยุดชะงักของอุปทานอันส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศประสบปัญหาอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจค้าปลีกในประเทศ กล่าวคือ ผู้จำหน่ายน้ำมันหลายรายจำกัดการนำเข้าเนื่องจากต้นทุนสูง อัตราแลกเปลี่ยน USD/VND เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และราคาซื้อสูงกว่าราคาขายในตลาดภายในประเทศทำให้ ผู้จำหน่ายน้ำมันหมุนเวียนเงินทุนได้ยาก จึงเลือกที่จะนำเข้าในปริมาณที่พอเหมาะเนื่องจากเกรงว่า “ยิ่งขายยิ่งขาดทุน” เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Ho Duc Phoc รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กล่าวในรายงานของสภาแห่งชาติเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันในเวียดนามว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 การนำเข้าน้ำมันลดลงร้อยละ 35 ถึง 40 ในขณะที่การผลิตน้ำมันในประเทศยังไม่บรรลุผลตามแผน เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยทำให้กำลังการผลิตลดลง และการขนส่งน้ำมันจากโรงงานในภาคกลางเวียดนามได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังยังยืนยันว่าเวียดนามไม่เคยขาดแคลนน้ำมัน โดยอ้างข้อมูลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ว่า ปริมาณน้ำมันสำรองทางการค้าอยู่ที่ 25,000 ล้านลิตร (2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร) ยังมีกำลังการผลิตของโรงงาน 2 แห่งที่บินห์เซิน (Binh Son) และหงีเซิน (Nghi Son) สามารถตอบสนองความต้องการในประเทศได้ถึงร้อยละ 80 อยู่ที่ 13,000 ล้านลิตร (1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร) ต่อเดือน จากสถิติของกรมศุลกากร เมื่อเดือนกันยายน 2565 เวียดนามนำเข้าน้ำมันทุกชนิดรวมประมาณ 6.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

ในบริบทนี้ รัฐบาลได้ใช้มาตรการที่ยืดหยุ่นทั้งในแง่ของผลผลิตและราคา เพื่อเอาชนะสถานการณ์ข้างต้น และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนามให้เหลือน้อยที่สุด อย่างเช่น

(1) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) เข้าแทรกแซงโดยตรงและขอให้ผู้จำหน่ายน้ำมันเร่งนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะตรวจสอบสถานการณ์น้ำมันที่ถูกกันเอาไว้เพื่อจำหน่ายเมื่อราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบางทฤษฎีระบุว่า การขาดแคลนน้ำมันอาจเป็นเพียงสัญญาณเตือนภัยที่ผิดพลาด และสถานการณ์จะกลับสู่ปกติเมื่อราคาน้ำมันขึ้นตามราคาน้ำมันโลก

(2) เวียดนามยังคงรักษาปริมาณน้ำมันสำรองแห่งชาติ ซึ่งสามารถตอบสนองการบริโภคภายใน 6 วัน และทุนสำรองทางการค้าจากผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถตอบสนองการบริโภคภายใน 20 วัน เทียบเท่าน้ำมัน 25,000 ล้านลิตร (2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร)

(3) ควบคุมราคาน้ำมันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด โดยเพิ่มการใช้กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (BOG) เพื่อจำกัดผลกระทบจากความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันโลกที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้นหรือลงเร็วเกินไป โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 70.57 ถึง 110.62 แต่ราคาขายปลีกน้ำมันในเวียดนามเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 47.12 ถึง 80 เมื่อเทียบกับปี 2564 ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 รัฐบาลจึงเสนอให้ยังคงไว้ซึ่งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้นักวิชาการจะออกมาเรียกร้องให้ยุบกองทุนราคาน้ำมันดังกล่าว

(4) คงไว้ซึ่งการใช้ราคาน้ำมันพื้นฐานที่กำหนดโดยกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ให้ปรับทุก 10 วัน แทน 15 วันเช่นเดิม เพื่อปรับปรุงราคาให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

(5) ส่งเสริมการใช้เครื่องมือทางภาษี โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เวียดนามลดอัตราภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมลงร้อยละ 50 สำหรับน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น (ยกเว้นเอทานอล) อีกทั้งยังลดอัตราภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำหรับน้ำมันก๊าดร้อยละ 70 ทำให้ ณ ปัจจุบันการลดภาษีทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 28,000 พันล้านดอง นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ลดภาษีนำเข้าน้ำมันเบนซินจากร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 10 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ยื่นเสนอต่อรัฐบาลว่า หากราคาน้ำมันยังขึ้นสูงจะเสนอให้ลดภาษีการบริโภคพิเศษลงร้อยละ 50 และลดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 50 ต่อไป

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย ณ กรุงฮานอย เห็นว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากสถานการณ์น้ำมันปัจจุบัน เนื่องจากน้ำมันเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อกิจกรรมการผลิตและการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งโลจิสติกส์ การผลิตและการบริโภค ข้อมูลของสำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า ต้นทุนน้ำมันคิดเป็นประมาณร้อยละ 3.52 ของต้นทุนการผลิตรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการเพิ่มของต้นทุนและราคาสินค้าโดยปริยาย ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทุก ๆร้อยละ 10 จะทำให้ CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 (คำนวณชั่วคราวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565) ดังนั้น สถานการณ์การขาดแคลนและผันผวนของราคาน้ำมันในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนจากต่างชาติในเวียดนาม

*   *   *   *   *

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
พฤศจิกายน ๒๕๖๕

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

196189

เข้าชมทั้งหมด