ประเด็นที่น่าจับตาในแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 ของเวียดนาม

POST ON 11 พฤศจิกายน 2021

ประเด็นที่น่าจับตาในแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 ของเวียดนาม

          กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้ยื่นข้อเสนอแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ระยะปี ค.ศ. 2021 – 2030 และวิสัยทัศน์ถึงปี ค.ศ. 2045 โดยมีประเด็นที่น่าจับตามอง ดังนี้

1. โครงสร้างแหล่งที่มาของไฟฟ้า

          แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ประเมินว่า จนถึงปี ค.ศ. 2030 กำลังการผลิตติดตั้งของแหล่งไฟฟ้าเวียดนามจะสูงถึง 130,371 – 143,839 เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2045 อาจอยู่ที่ระหว่าง 261,951 – 329,610 เมกะวัตต์ โดยมีโครงสร้างไฟฟ้าแต่ละระยะ ดังนี้

แหล่งที่มาของไฟฟ้าปี ค.ศ. 2030 (%)ปี ค.ศ. 2045 (%)
พลังงานความร้อนจากถ่านหิน28.3 – 31.215.4 – 19.4
พลังงานความร้อนจากก๊าซ (รวม LNG)21.1 – 22.320.6 – 21.2
พลังน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแบบสูบเพื่อกักเก็บ17.73 – 19.59.1 – 11.1
พลังงานทดแทน (พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล)*24.3 – 25.726.5 – 28.4
การนำเข้า3 – 43.1

* ปี ค.ศ. 2045 เพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กในกลุ่มพลังงานทดแทนด้วย

2. ไฟฟ้าพลังงานความร้อน

          ความแตกต่างที่ชัดเจนของแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 กับฉบับที่ 7 และฉบับที่ 7 (ปรับปรุง) คือ สัดส่วนไฟฟ้าพลังงานความร้อนลดลงสูงมากจากร้อยละ 29 ในปี ค.ศ. 2020 เหลือร้อยละ 15 – 19 ในปี ค.ศ. 2045 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการหยุดดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นิงห์ถ่วน (Ninh Thuan) พร้อมกับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิย์และพลังงานลมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนประสบปัญหาหลายประการ ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลา รวมทั้งแหล่งพลังงานพื้นฐานขาดแคลน สร้างความกดดันต่อแหล่งอุปทานไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงที่ประเมินว่า ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

3. ไฟฟ้าพลังน้ำ

          สัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานน้ำในโครงสร้างไฟฟ้าปี ค.ศ. 2030 และ ค.ศ. 2045 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ของประเทศได้ดำเนินการผลิตแล้ว ศักยภาพในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเตรียมก่อสร้าง หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง รายงานการสำรวจความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ระยะปี ค.ศ. 2020 – 2025 พบว่า อาจมีปริมาณไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มเติม 1,840 เมกะวัตต์ (รวมโครงการที่ขยายระดับการผลิต) และจนถึงปี ค.ศ. 2030 ไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็กมีศักยภาพที่จะพัฒนาเพิ่มประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2045 ไฟฟ้าพลังน้ำจึงมีสัดส่วนในโครงสร้างไฟฟ้าเพียง ร้อยละ 9

4. ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

          แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 มุ่งพัฒนาแหล่งวัตถุดิบดั้งเดิมโดยเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 12,550 – 17,100 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2030 คิดเป็น ร้อยละ 10 – 12 ของโครงสร้างแหล่งไฟฟ้าทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็น 43,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2045 คิดเป็น ร้อยละ 15 – 17 จาก ร้อยละ 0 ในปี ค.ศ. 2020

          อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแหล่งอุปทานก๊าซ LNG ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า และอาจเผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกับกรณีไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น แนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG ต้องคำนวณบนพื้นฐานการนำเข้าและสอดคล้องกับการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุปทานก๊าซ LNG เช่น คลังสินค้า ระบบเก็บรักษา การนำกลับมาใช้ใหม่ และระบบท่อนำส่ง

          ความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การพัฒนาแหล่งไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ราคาวัตถุดิบ LNG นำเข้าที่ผันผวน ส่งผลต่อกลไกราคาและรูปแบบการลงทุน

5. พลังงานทดแทน

          แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 กำหนดสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2030 คิดเป็น ร้อยละ 24.3 – 25.7 และจนถึงปี ค.ศ. 2045 คิดเป็น ร้อยละ 26.5 – 28.4 โดยจำเป็นต้องพิจารณาสัดส่วนกำลังการผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทนให้สมดุลกับขีดความสามารถในการรองรับ อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินโครงการพลังงานทดแทน ต้องวางแนวทางการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับพื้นที่และระยะเวลาดำเนินโครงการ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาในพื้นที่ที่โครงข่ายไฟฟ้าสามารถรองรับการปล่อยกระแสไฟ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ (ระยะปี ค.ศ. 2021 – 2030)

          ลดระดับการลงทุนพลังงานทดแทนระยะปี ค.ศ. 2021 – 2030 และเปลี่ยนไปปรับใช้ในช่วงปี ค.ศ. 2026 – 2030 เพื่อประกันความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการและให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการจากแหล่งพลังงานที่สามารถปรับกำลังการผลิตได้อย่างยืดหยุ่น เช่น การขยายโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบเพื่อกักเก็บ

6. งบประมาณเพื่อการลงทุนด้านไฟฟ้า

          แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ประเมินว่า ในระยะปี ค.ศ. 2021 – 2030 เวียดนามจะต้องใช้เงินลงทุนในสาขาไฟฟ้าประมาณ 99,320 – 115,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งไฟฟ้าประมาณ 85,700 – 101,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับระยะปี ค.ศ. 2031 – 2045 จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 180,100 – 227,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

7. ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

          แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 กำหนดข้อเสนอเพื่อพิจารณาบางประการ อาทิ

– การแก้ไขกฎหมายไฟฟ้า โดยปรับปรุงให้ข้อกำหนดด้านการลงทุนโครงการไฟฟ้ายืดหยุ่นมากขึ้น

– เสนอกลไกการจัดทำแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

– เสนอกลไกการประมูลคัดเลือกนักลงทุนโครงการไฟฟ้า

– เสนอกลไกการมีส่วนร่วมของสังคมในการลงทุนระบบนำส่งไฟฟ้า

*   *   *   *   *

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
28 ตุลาคม 2564

ที่มา chinhphu.vn
http://baodientu.chinhphu.vn/Kinh-te/Nhung-diem-nhan-trong-Quy-hoach-dien-VIII/451010.vgp

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

201058

เข้าชมทั้งหมด