การเกษตรเพื่อการส่งออกของเวียดนาม: โอกาสและอุปสรรค

POST ON 30 กันยายน 2020

การเกษตรเพื่อการส่งออกของเวียดนาม: โอกาสและอุปสรรค

ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของเวียดนาม ประกอบไปด้วย 4 อุตสาหกรรมย่อย ได้แก่ การเพาะปลูก การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปศุสัตว์ และการแปรรูปไม้ โดยมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) คิดเป็นร้อยละ 14 ในปี 2562 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยเน้นอุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉลี่ยภาคการเกษตรของเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตตั้งแต่ปี 2548 – 2552 เฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี จากรายวิเคราะห์ผลกระทบจากการข้อตกลงเสรีการค้าระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป (EVFTA), การตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) คาดว่าจะทำให้ภาคการเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรขยายตัวขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

รูปที่ 1 แสดงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของเวียดนาม (GDP), มูลค่าของภาคการเกษตร และอัตราการเติบโตของภาคการเกษตร ตั้งแต่ปี 2558 – 2562

ที่มา: สำนักงานสถิติเวียดนาม (2563)

เวียดนามตั้งเป้าเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเกษตร

นายกรัฐมนตรีเวียดนามมีคำสั่งพิเศษโดยตั้งเป้าหมายเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านการเกษตร ขณะเดียวกันเวียดนามก็ตั้งเป้าเป็น 1 ใน 10 ประเทศชั้นนำในด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร และเป็นศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงลึกและหนึ่งในศูนย์กลางโลจิสติกส์ด้านการเกษตรภายในปี 2573 (คำสั่งหมายเลข 25/2020/CT-TTg) โดยการเร่งปฏิรูปการเกษตรโดยเปลี่ยนเป็นการผลิตขนาดใหญ่ ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีการเพาะปลูกจนถึงการแปรรูปสินค้าเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยในสินค้าหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ผัก ผลไม้, อาหารทะเล และสินค้าประเภทไม้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีนโยบายด้านการเกษตรอีกหลายฉบับในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการบรรลุข้อตกลงเสรีทางการค้า ได้แก่  

  1. Decree No. 98/2018/ND-CP วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เกี่ยวกับการสนับสนุนให้เชื่อมโยงการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรด้วยกันและให้สามารถทดลองรูปแบบการผลิตใหม่
  2. Decree No. 57/2018/ND-CP วันที่ 17 เมษายน 2561 เกี่ยวกับกลไก และนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลงทุนในภาคการเกษตรและชนบท
  3. Decision No.319/QD-TTg วันที่ 15 มีนาคม 2561 เกี่ยวกับกลยุทธ์ในการพัฒนาเครื่องจักรกลของเวียดนามถึงปี 2568 วิสัยทัศน์ปี 2578 โดยเน้นที่การพัฒนาเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร แปรรูป ถนอมอาหารในช่วงปี 2560 – 2568
  4. Decree No.55/2015/ND-CP วันที่ 9 มีนาคม 2558 ร่วมกับนโยบายแก้ไขเพื่อให้สินเชื่อในด้านการเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร
  5. Decree No. 109/2018/ND-CP เกี่ยวกับส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์
  6. Decree No. 83/2018/ND-CP เกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตร
  7. Decision No. 22/2019/QD-TTg เกี่ยวกับประกันการเกษตร

นอกจากนี้การบังคับใช้นโยบายด้านการเกษตรยังเกี่ยวข้องกับ “นโยบายชนบทใหม่” (Chuong Trinh Nong thon moi) (759/QĐ-TTg) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเวียดนามในเขตพื้นที่ชนบทซึ่งมีมากถึงร้อยละ 62 จากประชากรทั้งหมด 96.4 ล้านคน โดยนโยบายนี้มุ่งเน้นที่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างรอบด้าน ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การสร้างอาชีพ การเพิ่มรายได้จากสินค้าเกษตร หรือ โครงการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OCOP: One Commune One Product) (01/QD-BCDTW) เป็นต้น ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 หรือหลังจากการประชุมครั้งที่ 7 ของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (CPVCC) สมัยที่ 10 จากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2563 เวียดนามมีตำบลที่ได้รับรองมาตรฐานชนบทใหม่แล้ว 5,177 ตำบล (ร้อยละ 58.2 ของจำนวนตำบลทั้งหมด) และมีสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 1,730 ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม การที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาดและส่งออกในระดับโลกนั้นยังต้องการพัฒนาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน ความสามารถในการการสร้างภาพลักษณ์และตราผลิตภัณฑ์ให้แก่สินค้า

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าทิศทางการปรับเปลี่ยนในปัจจุบันและอนาคตของเวียดนาม ได้แก่ การลงทุนทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการผลผลิตและต้นทุน การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการเพาะปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ตลอดจนกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยว และแปรรูป การทำเกษตรกรรมอินทรีย์ การยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในสินค้าเกษตร การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน การเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างผู้ผลิต ผู้แปรรูป และตลาด  ทั้งนี้ เวียดนามได้จัดทำรายการสินค้าเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อการบริโภคและส่งออก 13 รายการตามข้อกฎกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท (Ministry of Agricuture and rural Development) ของเวียดนามเลขที่ 37/2018/TT-BNNPTNT ได้แก่ ข้าว กาแฟ ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย ชา ผักผลไม้ มันสำปะหลังและสินค้าจากมันสำปะหลัง เนื้อหมู เนื้อและไข่จากสัตว์ปีก ปลาสวาย กุ้ง และไม้แปรรูป อย่างไรก็ตามเนื้อหมูและไก่ มีมูลค่าการส่งออกน้อย เป็นการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหลัก 11 รายการ ปี 2558 – 2563 (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

รายการสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพสูงของเวียดนาม/ปี2,5572,5582,5592,5602,5612,562
มันสำปะหลังและสินค้าจากมันสำปะหลัง1,1391,3201,0021,037961967
ผักผลไม้1,4891,8392,4613,5083,8153,747
พริกไทย1,2021,2601,4291,118759714
กาแฟ3,5572,6713,3373,5013,5362,855
ยางพารา1,7811,5321,6702,2502,0912,302
ข้าว2,9352,7962,1592,6343,0602,805
เม็ดมะม่วงหิมพานต์1,9942,3982,8423,5153,3683,289
แป้งจากธัญพืช454658533602659723
ชา228217228233227236
น้ำมันพืช258281166181185191
ไม้และสินค้าจากไม้6,1456,7986,9657,7028,90810,648
กุ้ง2,5541,8061,9192,4502,1552,107
ปลาน้ำจืด (ปลาสวาย)2,6622,5432,7422,9453,5403,286
มูลค่าการส่งออกทั้งหมด150,217162,017176,581215,119243,697264,189
สินค้าเกษตรหลัก 11  ชนิด26,39726,11827,45231,67533,26533,870
อัตราส่วนระหว่างสินค้าเกษตรหลัก และมูลค่าการส่งออก18%16%16%15%14%13%
อัตราการเติบโตสินค้าเกษตรหลัก -1%5%15%5%2%
อัตราการเติบโตสินค้าส่งออกทั้งหมด 8%9%22%13%8%

ที่มา: สำนักงานสถิติเวียดนาม (2563)

ในปี 2562 สินค้าเกษตร 11 รายการของเวียดนามมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 33,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของมูลค่าการส่งออกของเวียดนามทั้งหมด โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 เท่ากับร้อยละ 6.2 ส่วนในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจนถึงปี 2562 มีโครงการลงทุนด้านการเกษตรโดยตรงจากต่างประเทศ 497 โครงการ เป็นมูลค่าเงินลงทุน 3,508.45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 1 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด) นับเป็นอุตสาหกรรมอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 19 อุตสาหกรรมที่มีการส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตามข้อมูลจากกรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศของเวียดนามพบว่า การลงทุนในภาคการเกษตรด้านการเพาะปลูกกระจุกตัวอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และด้านการประมงกระจุกตัวอยู่บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิประเทศ และภูมิอากาศของเวียดนามที่มีความแตกต่างกันส่งผลถึงผลผลิตทางการเกษตร แสดงดังตารางต่อไป

ตารางที่ 2 รายชื่อสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของเวียดนาม, ผลผลิตปี 2562
และจังหวัด/นครที่มีผลผลิตมากที่สุด

ลำดับรายชื่อสินค้าประเทศที่ส่งออกผลผลิตปี 2562(ล้านตัน)จังหวัด/นครที่มีผลผลิตมากที่สุด
1ข้าวจีน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศในทวีปแอฟริกา43.4เกียนซาง  อานซาง  ด่งท้าบล็องอาน  ซ็อกจาง(บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง)
2กาแฟเยอรมัน สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รัสเซีย1.67ดั๊กลั๊ก เลิมด่ง ดั๊กนง ซาลายกอนตูม(ที่ราบสูงตะวันตก)
3ยางพาราจีน อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เยอรมัน สเปน1.16ด่งนาย บิ่ญเยือง บิ่ญเฟื้อก ดั๊กลั๊ก ดั๊กนง(ที่ราบสูงตะวันตก, ตะวันออกเฉียงใต้)
4เม็ดมะม่วงหิมพานต์สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน0.34บิ่ญเฟื้อก ด่งนาย ดั๊กลั๊กบิ่ญถ่วน บิ่ญดิ่ญ(ที่ราบสูงตะวันตก และที่ราบชายฝั่งตะวันออก)
5พริกไทย120 ประเทศทั่วโลกจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย เอเชียกลาง0.26ดั๊กลั๊ก ดั๊กนง ด่งนาย บิ่ญเฟื้อกบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า(ที่ราบสูงตะวันตก, ตะวันออกเฉียงใต้)
6ชาปากีสถาน ไต้หวัน จีน รัสเซีย1.01จังหวัดบริเวณที่ราบสูงตะวันตก และจังหวัดในที่ราบสูงภาคเหนือ
7ผัก/ผลไม้จีน ประเทศในกลุ่มอาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่นผัก 17.6มะม่วง 0.82ส้ม 0.92ส้มโอ 0.73กล้วย 2.2แก้วมังกร 1.2พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง   
8มันสำปะหลังและสินค้าจากมันสำปะหลังจีน เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น10.1เต็ยนิญ  ซาลาย ดั๊กลั๊ก  ฟู้เอียน  กอนตูม(ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และที่ราบสูงตะวันตก)   
9เนื้อหมูส่งออกน้อยมาก19.6 ล้านตัวด่งนาย กรุงฮานอย เหงะอานบั๊กซาง ดั๊กลั๊ก(ทั้งประเทศ)
10เนื้อและไข่จากสัตว์ปีกส่งออกน้อยมาก481 ล้านตัวกรุงฮานอย เหงะอาน ด่งนายทันฮว้า บั๊กซาง(ทั้งประเทศ)
11ปลาสวายสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลี ประเทศในกลุ่มอาเซียน3.1ด่งท้าบ  อานซาง  นครเกิ่นเทอ  เบ๊นแจ หวิญล็อง(บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง)
12กุ้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลี0.89ก่าเมา  ซ็อกจัง บากเลียว เกียนยาง เบ๊นแจ จ่าวิญ(บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง)
13ไม้แปรรูปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลี16.3(ล้าน ลบม.)กว๋างหงาย บิ่ญดิ่ญ กว๋างนามเหงะอาน กว๋างจิ(บริเวณที่ราบชายฝั่งภาคกลาง)

ที่มา: รวมรวมข้อมูลจากสำนักงานสถิติเวียดนาม, รายงานการค้าระหว่างประเทศเวียดนาม (2563)

โอกาสและอุปสรรคในการลงทุนด้านการเกษตรของเวียดนาม

            ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศไทยและเวียดนามในปี 2562 มีมูลค่าทั้งการนำเข้าและส่งออกรวม 17.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าเกษตรคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น โดยสินค้าส่งออกของไทยไปเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ หนัง และยางพารา ส่วนสินค้าส่งออกของเวียดนามมาไทย ได้แก่ อาหารทะเล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย ชาและกาแฟ (สายพันธ์โรบัสต้า)

ตารางที่ 4 มูลค่าการลงทุนของธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 – 2562 (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ปีเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมงการผลิตอาหารการผลิตเครื่องดื่มมูลค่ารวม
255267.671,564.620.0015,666.15
25539.28538.870.008,362.50
25540.001,693.170.0056,400.13
255539.23108.560.0051,504.91
255620.8796.580.0067,200.93
25570.00987.570.0050,790.16
25580.005,554.620.0066,703.28
25590.00657.0216.01107,748.18
25600.00671.0518.77100,822.87
25610.00527.3716.0692,048.61
25620.00404.2836.7389,922.54
มูลค่ารวม137.0512,803.7187.57707,170.26
สัดส่วนการลงทุนต่อมูลค่าลงทุนทั้งหมด (%)0.02%1.81%0.01% 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย (2553)

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยลงทุนโดยตรงในด้านการเกษตรไม่มาก จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 – 2562 ธุรกิจไทยมีการลงทุนในภาคเกษตรเพียงเล็กน้อยคิดเป็นมูลค่า 137.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 0.02 ของมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งหมด) และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 12,890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 2 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด เนื่องจากอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง รวมถึงเวียดนามยังเป็นแหล่งปัจจัยนำเข้าที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านสินค้าเกษตรและแรงงานโดยสามารถสรุปโอกาสและอุปสรรค ได้ดังนี้  

ตารางที่ 4 โอกาสและอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรของเวียดนาม

โอกาสอุปสรรค
1. เวียดนามมีทรัพยากรที่ดิน และน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรสูง อย่างไรก็ดี ยังนิยมการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมและประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทางการเกษตรน้อย จึงเป็นโอกาสสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรจากประเทศไทยซึ่งมีราคาและลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับพื้นที่มากกว่าเครื่องจักรกลการเกษตรจากประเทศตะวันตก 2. เวียดนามได้บรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีที่จะทำให้ภาคการเกษตรเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ EVFTA และ CPTPP ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว และทำให้เวียดนามมีโอกาสในการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจำพวกอาหารทะเล ผัก และผลไม้ประเภทต่าง ๆ 3. เวียดนามตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภาคที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าจากระบบคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้น และนอกจากนี้ยังมีท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนส่งสินค้าหลายแห่ง กอปรกับมีชายแดนติดกับจีนทำให้เป็นทางผ่านในการส่งสินค้าทางบกไปจีนได้ เช่น ด่านโหย่วอี้กวน ด่านรถไฟผิงเซียง ด่านตงซิง (ภายใต้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ตามเส้นทาง R3A เส้นทาง R9 เป็นต้น 4. ประชากรของเวียดนามอยู่ในวัยแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค รวมถึงมีกำลังการบริโภคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 5. ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มีสิทธิประโยชน์หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงดเว้นภาษีที่ดินจนถึงปี 2568 (เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด Covid – 19)1. การเกษตรของเวียดนามยังมีการดำเนินงานแบบครัวเรือน เป็นลักษณะการเกษตรแปลงเล็กด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรองและมีแรงจูงใจต่ำในการเปลี่ยนผ่านไปใช้เทคโนโลยีการเกษตร เนื่องจากอาจไม่คุ้มทุน 2. ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้ามีราคาแพง รวมถึงกระบวนการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรยังขาดประสิทธิภาพ  3. การลงทุนวิจัยพัฒนา และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว และกระบวนการหลังเก็บเกี่ยวค่อนข้างจำกัด (post harvest loss) ทำให้ได้ผลผลิตการเกษตรไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด และมีประสิทธิภาพไม่มากเท่าที่ควร 4. การประสานงานระหว่างภาครัฐ เอกชน สมาคม และองค์กรไม่แสวงกำไรที่เกี่ยวข้องเป็นการทำงานร่วมกันในลักษณะบนลงล่าง ทำให้ขาดความรวดเร็วและประสิทธิภาพ 5. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการคาดการณ์ผลผลิตยังมีอย่างจำกัด 6. ประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดทั้งในพืชและสัตว์ยังค่อนข้างจำกัด 

จากตารางที่ 2 เห็นได้ว่าการเกษตรของเวียดนามมีลักษณะกระจายตัวตามภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่อุตสาหกรรมการเกษตรมีการพัฒนามากในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ราบสูงตะวันตก และบางส่วนของที่ราบชายฝั่งด้านตะวันออก เนื่องจากมีทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตที่ดี อีกทั้งอยู่ใกล้กับระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ  ดังนั้นในการลงทุนควรคำนึงถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งโดยรวมโครงการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันมุ่งเน้นที่การใช้เทคโนโลยีในการผลิต พัฒนาเครื่องจักรการเกษตร  ขยายขนาดการเกษตร การเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ร่วมกับการเกษตรกรรม (ecotourism)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (2563), เงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Outflow) จำแนกตามประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และประเภทธุรกิจของผู้ลงทุนไทย, สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=845&language=TH

สำนักงานสถิติเวียดนาม (2563), ข้อมูลผลผลิตการเกษตรจำแนกตามจังหวัด/นคร ปี 2562

สำนักงานสถิติเวียดนาม (2563), ข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรหลักของเวียดนาม ปี 2562

Trademap (2563), Import – Export between Thailand – Vietnan 2014 – 2019, retreived from https://www.trademap.org/

Bộ Công Thương (2563), Báo cáo Xuất – Nhập khẩu Việt Nam năm 2019

Fitch Solutions Macro Research (2563), SWOT – Vietnam Agribusiness SWOT Analysis

Tạp chí Tài Chính (2561), Thất thoát nông sản sau thu hoạch: Điểm nghẽn lớn của nông nghiệp, retreived from http://tapchitaichinh.vn/nghien-cuu-trao-doi/that-thoat-nong-san-sau-thu-hoach-diem-nghen-lon-cua-nong-nghiep-144670.html

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

1

กำลังเข้าชมขณะนี้

201074

เข้าชมทั้งหมด