ฤดูการเก็บเกี่ยวและส่งออกผลไม้ของไทยกำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สอท. ณ กรุงฮานอย (ThaiBiz Vietnam) จึงขอแนะนำโอกาสและศักยภาพในการขนส่งผลไม้ผ่านด่านชายแดนนานาชาติในจังหวัดหลั่งเซินบนเส้นทาง R12 ไปจีน
หลั่งเซิน: ประตูเชื่อมไทย เวียดนาม และอาเซียนสู่จีน
จังหวัดหลั่งเซินตั้งอยู่บนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม มีพรมแดนติดกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีนยาว 231.74 กิโลเมตร โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ R12 ซึ่งเริ่มต้นที่จังหวัดนครพนม ผ่าน สปป. ลาว เข้าสู่เวียดนาม และสิ้นสุดที่นครหนานหนิง (จีน) รวมทั้งตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจนครหนานหนิง (จีน) – จ. หลั่งเซิน – กรุงฮานอย – นครไฮฟอง ส่งผลให้จังหวัดฯ ถือเป็นประตูในการเชื่อมโยงเวียดนามและอาเซียนสู่จีน
ที่มา: meeymap.com ( 2566)
จังหวัดหลั่งเซินมีด่านชายแดนนานาชาติ จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านสากลหูหงิและด่านรถไฟด่งดังด่านชายแดนโดยด่านสากลหูหงิเชื่อมกับด่านโหย่วอี้กว่านของจีน เป็นด่านได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการไทยในการขนส่งผลไม้ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สะดวกและระยะทางที่สั้นหากใช้เส้นทาง R12 โดยข้อมูลจากจังหวัดหลั่งเซินระบุว่า ปกติมีรถขนส่งสินค้าการดำเนินพิธีการทางศุลกากรผ่านด่านดังกล่าวประมาณ 1,200 คันต่อวัน แบ่งเป็นรถส่งออกสินค้าจำนวน 450 คัน และในช่วงฤดูผลไม้ที่ด่านจะมีความหนาแน่นเป็นพิเศษจะมีรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกด่านดังกล่าวถึงประมาณ 1,500 คัน ซึ่งมีรถส่งออกสินค้า 550 คัน
ที่มา: Vietnam News Agency (2566)
ในขณะที่ด่านรถไฟด่งดังจะเชื่อมต่อไปยังด่านรถไฟผิงเสียงของจีน ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 171 กิโลเมตร และห่างจากด่านสากลหูหงิ ประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินรถจากด่านรถไฟด่งดังไปยังด่านรถไฟผิงเสียงประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมีรถไฟขนส่งสินค้าจำนวน 6 เที่ยวไปยังฝั่งจีน เปิดดำเนินการทุกวันระหว่างเวลา 05.00 – 23.00 น.
ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมของจังหวัดหลั่งเซิน เมื่อต้นปี 2567 รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มพัฒนาโครงการทางด่วนกาวบั่ง– หลั่งเซิน จากด่าน Tan Thanh (จังหวัดหลั่งเซิน) ไปยังแยกทางหลวงหมายเลข 3 (จังหวัดกาวบั่ง) คาดว่าจะมีความยาว 93.35 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนรวม 576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำหนดให้เปิดดำเนินการภายใน 3 ปี เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น โครงการนี้ จะเป็นเส้นทางสำคัญสายใหม่ที่เชื่อมต่อการค้าสินค้าจากท่าเรือระหว่างประเทศ จากนครไฮฟอง (เวียดนาม)– นครฉงชิ่ง (จีน)- นครอุรุมชี (จีน)- Khorgos (คาซัคสถาน) ไปยังภูมิภาคเอเชียกลางและยุโรป นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการก่อสร้างทางด่วน Huu Nghi- Chi Lang ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับชาติทางด่วนเหนือ-ใต้ (North-South Expressway) อย่างเป็นทางการ ด้วยมูลค่าการลงทุน 433 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดหลั่งเซิน โดยมีระยะทาง 60 กิโลเมตร เชื่อมต่อจุดสำคัญต่างๆ รวมถึงด่านสากลหูหงิ และเขตอื่นๆ ของจังหวัดฯโดยมีกำหนดให้เปิดดำเนินการภายในปี 2569
การเตรียมพร้อมสำหรับฤดูผลไม้ไทย
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ด่านสากลหูหงิเป็นด่านที่ผู้ประกอบการไทยนิยมใช้ขนส่งผลไม้ผ่านแดนไปจีนโดยในปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยผ่านด่านสากลหูหงิอยู่ที่ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรถขนส่งสินค้าจากไทยรวมทั้งหมด 18,516 คัน ในสถานการณ์ปกติ จะมีรถบรรทุกผลไม้จากไทยผ่านด่านสากลหูหงิ ประมาณ 200-300 คันต่อวัน อย่างไรก็ดี เมื่อฤดูผลไม้ของไทยกำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งคาดว่า จะมีรถขนส่งผลไม้ไทยผ่านด่านดังกล่าวถึง 900 คันต่อวัน ฝ่ายไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสงค์การขนส่งสินค้าผ่านด่านดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปยังจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง และรักษามาตรฐานคุณภาพของผลไม้ส่งออกของไทย
ในการนี้ เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2567 นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ได้นำคณะของนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนจังหวัดหลั่งเซิน พบกับนาย Ho Tien Thieu ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดหลั่งเซิน และผู้บริหารจากเขตบริหารเศรษฐกิจพิเศษด่งดัง-หลั่งเซิน และสำรวจด่านสากลหูหงิ และด่านรถไฟด่งดัง เพื่อหารือถึงแนวทางในการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผลไม้ของไทยผ่านเวียดนามไปยังจีนในช่วงฤดูกาลผลไม้ โดยผู้บริหารจังหวัดหลั่งเซินให้คำมั่นในการอำนวยความสะดวกการผ่านแดนของผลไม้ไทยอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะขยายระยะเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรจาก 8 ชั่วโมง เป็น 10 ชั่วโมง เป็นเวลาทุกวันโดยไม่มีวันหยุด เพื่อเร่งให้ผลไม้ไทยสามารถส่งออกไปยังจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกัน คณะทำงานของจังหวัดหลั่งเซินก็พร้อมที่จะประสานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตฯ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงฮานอย เพื่ออำนวยความสะดวก จัดทำข้อมูลและรายงานความคืบหน้าสถานการณ์การขนส่งสินค้าจากไทยผ่านเวียดนามไปยังจีน
ที่มา: Langsontv.vn (2567)
ทางเลือกและโอกาสการขนส่งผลไม้สำหรับผู้ประกอบการไทย
ด่านรถไฟด่งดัง ซึ่งเชื่อมต่อกับด่านรถไฟผิงเสียงของจีน เป็นหนึ่งในด่านที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม โดยต้นทางจะเริ่มจากรถบรรทุกลำเลียงผลไม้ออกทางถนน R8 (บึงกาฬ) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านสถานีรถไฟ Yen Vien กรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมงเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียง จากนั้นสามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีน ลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญ เช่น นครเซี่ยงไฮ้ (ใช้เวลา 45 ชั่วโมง) กรุงปักกิ่ง (ใช้เวลา 70 ชั่วโมง) หรือไปยังเอเชียกลางและยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) (ใช้เวลา 7-10 วัน ในขณะที่ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน) ซึ่งการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านด่านรถไฟด่งดัง จะสามารถเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งผลไม้ไปจีนได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการขนส่งผลไม้ผ่านด่านรถไฟด่งดังยังมีข้อจำกัด เนื่องจากมีตู้เก็บความเย็นในขบวนที่จะสามารถบรรจุผลไม้ได้เพียง 8 ตู้จาก 24 ตู้เท่านั้น โดยหากด่านรถไฟด่งดังสามารถปรับปรุงระบบการจ่ายไฟให้แก่ตู้เก็บความเย็นอย่างครอบคลุม ผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟด่งดังในการขนส่งผลไม้ได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ที่ทำให้เกิดการแออัดของรถบรรทุก ณ บริเวณด่านสากลหูหงิ
ที่มา: Vietnam Railways(2567)
นอกจากด่านสากลหูหงิและด่านรถไฟด่งดังแล้ว จังหวัดหลั่งเซินมีแผนเพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้าไปจีน โดยเมื่อเดือนกันยายน 2566 จังหวัดฯ ได้ประกาศแผนการขยายการขนสินค้าผ่านด่านสากลหูหงิ ไปยังด่าน Tan Thanh – Po Chai และด่าน Lung Nghiu (เวียดนาม) ซึ่งเดิมเป็นด่านทวิภาคีเวียดนาม-จีน อีกทั้งจังหวัดฯ มีแผนการขยายช่องทางเดินรถพิเศษบริเวณด่านสากลหูหงิจากเดิม 4 ช่องทางเป็น 6 ช่องทาง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 พร้อมร่วมกับเขตกว่างซีจ้วงในพัฒนาด่านอัจฉริยะ (Smart Border Gate) อย่างครอบคลุม เพื่อผลักดันให้พิธีการต่าง ๆ ณ ด่านสากลหูหงิ-โหยวอี้กวานสามารถดำเนินไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นโดยหากจังหวัดหลั่งเซินได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้างต้นเสร็จสิ้น รวมทั้งเจรจากับฝ่ายจีนเกี่ยวกับ การใช้ด่าน Tan Thanh – Po Chai สำหรับส่งออกผลไม้ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกและมีทางเลือกในการขนส่งผลไม้ไปจีนเพิ่มเติม รวมทั้งลดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูผลไม้ด้วย
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สอท. ณ กรุงฮานอย
เมษายน 2567