เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 รัฐบาลเวียดนามได้เสนอแผนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระยะปี ค.ศ. 2021 – 2025 ต่อสภาแห่งชาติเวียดนาม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ผลการดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ระยะปี ค.ศ. 2016 – 2020
รัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะปี ค.ศ. 2016 – 2020 โดยบรรลุเป้าหมาย 17 รายการ จาก 22 รายการ และได้ดำเนินการตามภารกิจ 5 กลุ่มหลัก ซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 5.79 สูงกว่าช่วง 5 ปีก่อนหน้าซึ่งมีอัตราเฉลี่ย ร้อยละ 4.27 อีกทั้งผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) มีส่วนต่ออัตราการเติบโตเฉลี่ยคิดเป็น ร้อยละ 45.42 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ร้อยละ 30 – 35
ผลสำเร็จจากการดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะนี้ แบ่งเป็น 5 ประการ ดังนี้
1) ให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การจัดทำกฎหมายการลงทุนสาธารณะ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของรัฐกับผู้แทนเจ้าของกิจการรัฐวิสาหกิจ การจัดการหนี้เสีย และธนาคารทั่วไปปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สัดส่วนกำกับดูแลกองทุนตามมาตรฐาน Basel II
2) การปรับโครงสร้างงบประมาณภาครัฐและงบประมาณสาธารณะมีผลสำเร็จ การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงจากระยะ 5 ปีก่อนหน้า
3) ภาคธุรกิจเอกชนภายในประเทศได้รับการผลักดันการพัฒนา การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมีทิศทางบวกและพัฒนาตามแนวทางการเลือกสรรการลงทุน โดยให้ความสำคัญต่อการลงทุนที่ปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มสูง มีการสร้างระบบนิเวศการเริ่มต้นธุรกิจและพัฒนานวัตกรรม
4) ดำเนินการปรับโครงสร้างสาขาทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป การผลิตสาขาเกษตรมุ่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย สาขาบริการบางรายการได้พัฒนาให้ทันสมัย
5) จัดตั้งและพัฒนาตลาดหลากหลายรูปแบบ ปรับปรุงตลาดเงินให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จัดทำแนวทางพัฒนาสิทธิการใช้ที่ดินเสร็จสมบูรณ์ ตลาดแรงงานเติบโตสูงกว่าการคาดการณ์ และตลาดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความตื่นตัวกว่าระยะก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวมีเป้าหมายบางรายการที่ไม่สามารถบรรลุได้ อาทิ การลงทุนสาธารณะยังมีผลสำเร็จไม่สูงมาก โดยเฉพาะความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังล่าช้า ผลดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจบางรายต่ำ การจัดการองค์การทางการเงินที่มีเสถียรภาพต่ำยังคงจำกัด การจัดเก็บงบประมาณสู่รัฐยังไม่ยั่งยืน การจัดการใช้ที่ดินและทรัพย์สินสาธารณะมีอุปสรรค หนี้สาธารณะมีสัญญาณความเสี่ยง ภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและเล็กมากมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ เป็นต้น
2. แผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนาม ระยะปี ค.ศ. 2021 – 2025
แผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนาม ระยะปี ค.ศ. 2021 – 2025 กำหนดจุดยืนทางเศรษฐกิจ
5 ประการ ได้แก่
1) ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขข้อจำกัดและดำเนินการปรับโครงสร้างสาขาที่สำคัญ 3 สาขาของแผนระยะปี ค.ศ. 2016 – 2020 เพิ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ และแก้ปัญหาทางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
2) การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจต้องดำเนินการอย่างมีคุณภาพ มีผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาค มีความยืดหยุ่น และมีนโยบายทางการคลัง การเงิน และนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคอื่น ๆ ที่มีประสิทธิผล ควบคู่กับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลัก 3 ประการ และภารกิจสำคัญ 6 รายการ
ตามข้อมติการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ครั้งที่ 8
3) นำการปรับปรุงโครงสร้าง การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นเสาหลัก รวมทั้ง
นำการปรับโครงสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ผลักดันความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และ
ความเชื่อมโยงระหว่างเขตเมืองกับชนบท และบทบาทการปรับรูปแบบการเติบโตของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและเมืองใหญ่เป็นภารกิจสำคัญ
4) ระดม จัดสรร และใช้ทรัพยากรทุกชนิดเพื่อการพัฒนา ดำเนินการบูรณาการประเทศสู่สากลอย่างมีประสิทธิผลและมีส่วนเพิ่มความสามารถในการปกป้องเศรษฐกิจบนพื้นฐานการเพิ่มความหลากหลายของตลาด พัฒนาบทบาทของประเทศในห่วงโซ่มูลค่าโลก เพิ่มขีดความสามารถของสาขาเศรษฐกิจหลักบางสาขา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเวียดนาม
5) เชื่อมโยงการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาทางวัฒนธรรม สังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ประกันความปลอดภัยของประเทศ
เป้าหมายของแผนดังกล่าว เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในรูปแบบการเติบโตตามแนวทางการเพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ ความสามารถในการแข่งขัน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล มีเสรีและความสามารถในการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจ มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป รับประกันการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สอดคล้องกับปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และ
ความมั่นคงของประเทศ รักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาตลาดรูปแบบต่าง ๆ ผลักดันการระดม จัดสรร และใช้ทรัพยากรทางสังคม สร้างกลไกพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม พัฒนาเศรษฐกิจเมือง
เพิ่มศักยภาพห่วงโซ่มูลค่าของสาขาต่าง ๆ เพิ่มขีดความสามารถภายในระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการเวียดนาม
เวียดนามกำหนดภารกิจหลัก 5 ประการในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ระยะปี ค.ศ. 2021 – 2025 ดังนี้
1) ปรับโครงสร้างระบบสถาบันทางการเงิน การลงทุนสาธารณะ งบประมาณภาครัฐ และหน่วยงานบริการสาธารณะด้านอาชีพ ให้เสร็จสมบูรณ์
2) พัฒนาตลาดรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งระดม จัดสรร และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล
3) พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถภายในและการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจ
4) ปรับโครงสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจเมือง เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และความเชื่อมโยงระหว่างเขตเมืองกับชนบท และส่งเสริมบทบาทของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและเมืองใหญ่ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
5) ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของแต่ละสาขาโดยพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจที่ครอบคลุมรอบด้าน เพิ่มความสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมคน คุณค่าทางวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ การพึ่งพาตนเอง และความสามัคคีของประชาชน
* * * * *
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
2 พฤศจิกายน 2564
ที่มา chinhphu.vn