เวียดนามเดินหน้าเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

POST ON 21 พฤษภาคม 2024

เวียดนามเดินหน้าเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลีไต้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมทั้งจีน ในบริบทของสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการหันเหห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จากจีน ปัจจุบัน ซัพพลายเออร์ของบริษัท Apple กว่า 35 ราย ได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนและตั้งโรงงานในเวียดนามสำหรับการผลิตสินค้าของ Apple ไม่ว่าจะเป็น AirPods, iPad and Apple Watch ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีซัพพลายเออร์ของ Apple มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามด้วยไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์)

นอกจากนี้ ในการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 เวียดนามและสหรัฐฯ ได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน”(Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสูงสุดที่เวียดนามจะสถาปนากับประเทศต่าง ๆ โดยในวาระดังกล่าว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศ “Semiconductor Partnership” กับเวียดนาม ซึ่งเป็นการตอกย้ำการสนับสนุนให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคแทนที่จีน

สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ในการประชุมของหน่วยงานภาครัฐ นาย Huynh Thanh Dat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม (MOST) ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 620,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2567 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามจะอยู่ที่ร้อยละ 11.62 ต่อปี ในช่วงปี 2566-2570

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามได้ขยายไปทั่วประเทศ โดยกระจายเป็นกลุ่มจากเหนือจรดใต้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงของนักลงทุนต่างชาติ เช่น ในภาคเหนือ กรุงฮานอยและจังหวัดบั๊กนิญเป็นที่ตั้งของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ เนื่องจากอยู่ในทำเลที่ดี ห่างจากเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เพียง 12 ชั่วโมง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับ “กลยุทธ์ China+1” ในส่วนของภาคใต้ นครโฮจิมินห์เป็นที่ตั้งของด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง สมาคมเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มวิศวกรที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เช่น Synopsys, Marvell, FPT และ CMC

แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยรัฐบาลเวียดนาม

เพื่อดึงดูดผู้ผลิตและนักออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก รัฐบาลเวียดนามได้สร้างกลยุทธ์และแผนการพัฒนาทรัพยากร พร้อมด้วยกฎระเบียบ นโยบาย และกลไกที่เหมาะสม ดังนี้

  • ยกระดับการฝึกอบรมทรัพยากรคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยรัฐบาลเวียดนามมีโครงการพัฒนาทรัพยากรคุณภาพสูงภายในปี 2573 ด้วยเป้าหมายในการฝึกอบรมบุคลากร จำนวน 50,000 คน สำหรับองค์กรเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศและส่งออกไปยังตลาดที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งข้อมูลจากสมาคม Vietnam Microchip ระบุว่า ในปี 2566 เวียดนามมีวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ 5,000-6,000 คน น้อยกว่าร้อยละ 20 ของความต้องการของตลาดปัจจุบัน และในความเป็นจริง จำนวนวิศวกรเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 500 คนต่อปีเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่กำลังทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ

ที่มา: สมาคม Vietnam Microchip (ปี 2566)

  • สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ระดับชาติ โดยลงทุนในการสร้างศูนย์ R&D ผ่านการมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ รวมถึงรัฐบาล ภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และสถาบันการเงินโดยศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Center – NIC) ภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Cadence Group และ Arizona State University (ASU) เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรม Hoa Lac ที่กรุงฮานอย
  • พัฒนากลไกและนโยบายเฉพาะเพื่อดึงดูดและใช้ประโยชน์จากการลงทุนจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลได้ออกมติที่ 94/2020/ND-CP ว่าด้วยกลไกและนโยบายสิทธิพิเศษสำหรับธุรกิจในระบบนิเวศนวัตกรรมของ NIC รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่จะลงทุนในตลาดเวียดนาม เช่น ได้รับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 10 ในเวลา 30 ปีนับจากปีแรกที่มีรายได้ หรือ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ วัสดุ และส่วนประกอบที่นำเข้าเพื่อการผลิตภายใน 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มการผลิต หรือ ได้รับ
    การยกเว้นค่าเช่าที่ดินตลอดระยะเวลาการเช่าสำหรับโครงการลงทุนในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังมีเอกสารกำกับดูแลอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น มติที่ 38/QD-TTg ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ระบุไมโครชิปเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่ได้จัดลำดับความสำคัญ มติที่ 127/QD-TTg ลงวันที่ 26 มกราคม 2564 เกี่ยวกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และไมโครคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

การลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ที่มา: สมาคม Vietnam Microchip (เมษายน 2567)

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ลงทุนและผู้ผลิตรายใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ครองตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามในสัดส่วนร้อยละ 90 ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำระดับโลก ได้แก่ บริษัท Intel, Samsung Electronics Vietnam, Hanmi Semiconductor, Infineon Technologies AG, CoAsia, Qualcomm, Texas Instruments, NXP Semiconductors, SK Hynix…

บริษัท Samsung Electronics Vietnam ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลกและเป็นนักลงทุน FDI รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ได้ลงทุนในโรงงานทั้งหมด 6 แห่งและศูนย์วิจัยและพัฒนา 1 แห่งในกรุงฮานอยซึ่งมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมในท้องถิ่นอย่างมาก ในขณะที่บริษัท Intel ของสหรัฐฯ ได้ตั้งโรงงานมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park นครโฮจิมินห์ ซึ่งช่วยสร้างงานกว่า 6,500 ตำแหน่ง อีกทั้ง Infineon Technologies บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ของเยอรมนี ได้ขยายการดำเนินงานในเวียดนาม และก่อตั้งทีมพัฒนาชิปในกรุงฮานอย โดยเน้นไปที่โซลูชั่นเซมิคอนดักเตอร์สำหรับระบบพลังงานและระบบเทคโนโลยี IoT ล่าสุด Amkor Technology บริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติเกาหลีไต้ ได้ลงทุนในโรงงานในจังหวัดบั๊กนิญ (ภาคเหนือ) มูลค่าการลงทุน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ Amkor โดยจะผลิต ประกอบ และทดสอบวัสดุและอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์

ทั้งนี้ ศักยภาพของอุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้รับการเน้นย้ำทั้งในเชิงการทูต โดยในระหว่างการเยือนเวียดนามของนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2566 ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านเซมิคอนดักเตอร์ในฐานะ Semiconductor Partnership ตามที่กล่าวไปข้างต้น และจะร่วมพัฒนาทรัพยากรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนกองทุนมูลค่าเริ่มต้น 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนชั้นนำของเวียดนามก็มีความตื่นตัวในการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ กล่าวคือ กลุ่ม FPT บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีของเวียดนาม ได้ก่อตั้งบริษัท FPT Semiconductor และประกาศว่า ได้รับคำสั่งซื้อชิป จำนวน 25,000,000 ชิ้น ในปี 2567-2568 โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 กลุ่ม FPT ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ NVIDIA ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับโลกของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและให้บริการ AI โดยทั้งสองฝ่ายวางแผนที่จะสร้างโรงงานปัญญาประดิษฐ์ (AI Factory) มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งโรงไฟฟ้า AI ในเวียดนาม ในขณะเดียวกัน Viettel ซึ่งเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมชั้นนำ อยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการผลิตชิปของตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ Vingroup ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ VinFast ก็สนใจอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน โดยบริษัทฯ ได้เชิญผู้ผลิตชิปให้เปิดโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม Vung Ang จังหวัดห่าติ๋ญ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ VinFast

โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม

ในบริบทที่ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มขยายตัวไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามถือว่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ ระบบการเมืองที่มั่นคง แรงงานฝีมือค่าแรงต่ำ แหล่งวัตถุดิบอันอุดมสมบูรณ์รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และความพร้อมของรัฐบาลในสนับสนุนการพัฒนาและอำนวยความสะดวกธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงสร้างโอกาสต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่

  • โอกาสการจ้างงาน: การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้เปิดตลาดใหม่สำหรับเวียดนาม ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่และตำแหน่งงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการ “พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ถึงปี 2573 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2588” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลหลัก ตามมติที่ 124/NQ-CP ของรัฐบาล ลงนามเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566
  • โอกาสด้านการค้า: การลงทุนโดยบริษัทสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอื่นๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และ FTA ที่เวียดนามเป็นภาคี จะผลักดันให้การส่งออกชิปของเวียดนามเติบโตยิ่งขึ้นโดยข้อมูลจากสำนักงานสำรวจของสหรัฐฯ ระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มูลค่าการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ชิปของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 562.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้น เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียไปยังสหรัฐฯ รองจากมาเลเซียและไต้หวัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 10 ของการนำเข้าชิปของสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2566
  • โอกาสในการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง: เวียดนามตั้งเป้าหมายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ภายในปี 2573 และประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง ภายในปี 2588 ซึ่งหากเวียดนามสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทรัพยากรมนุษย์ ได้ตามเป้าหมายข้างต้น ก็จะสามารถผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายใน 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางสู่การเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก เวียดนามยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายสำหรับทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ ดังนี้ (1) ต้นทุนการลงทุนที่สูง ซึ่งต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานพิเศษและสายการผลิตที่ซับซ้อน (2) ระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น บริษัทออกแบบชิป ศูนย์ทดสอบ และสถาบันวิจัย (3) การแข่งขันที่เข้มข้นกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งมีเทคโนโลยีขั้นสูง ตลาดที่ใหญ่กว่า และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง (4) ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ โดยเวียดนามต้องรับมือกับการขาดแคลนชิปและวัตถุดิบทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึงเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง (5) ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงและการปรับปรุงขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพและระบบการศึกษา การฝึกอบรมที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้

ร่วมมือกับไทยเพื่อคว้าโอกาสทอง

รายงานของสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า เวียดนามและไทยเป็น 2 ใน 4 ประเทศในเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตชิปโดยทั่วไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ซึ่งเมื่อต้นปี 2567 สหรัฐฯ ได้ประกาศว่า จะพิจารณาส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศต่างๆ รวมถึงเวียดนามและไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) อย่างไรก็ตาม ด้วยเป้าหมายร่วมในการคว้า“โอกาสทอง” ในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เวียดนามและไทยสามารถร่วมมือกันสร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจ สถาบันวิจัยและการศึกษา จนถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ใหม่ที่มีมูลค่าที่สูงขึ้น สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก แม้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยจะค่อนข้างคล้ายกับของเวียดนาม ซึ่งเน้นไปที่ขั้นตอนสุดท้าย (back-end) ของกระบวนการผลิต แต่ทั้งคู่สามารถเกื้อหนุนกันเพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับลูกค้า ร่วมผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย “กลยุทธ์ China+2” แทน China+1  นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศควรให้การสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผ่านโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมบุคลากร เป็นต้น

**********

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สอท. ณ กรุงฮานอย
พฤษภาคม 2567

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

302

กำลังเข้าชมขณะนี้

317101

เข้าชมทั้งหมด