รัฐบาลเวียดนามเพิ่งประสบความสำเร็จในการอนุมัติแผนการพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 สำหรับปี ค.ศ. 2021-2030 (หรือที่รู้จักในชื่อ PDP8) แผนยุทธศาสตร์นี้แสดงถึงก้าวสำคัญของเวียดนามสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ประกาศมติที่ 500/QĐ-TTg อนุมัติการประกาศใช้แผน PDP8 ซึ่งแนะนำแนวทางการพัฒนาของแหล่งพลังงานของประเทศ และเครือข่ายการจ่ายไฟฟ้า (transmission grid) ระหว่างปี ค.ศ.2021 – 2030 ด้วยวิสัยทัศน์ที่ขยายไปถึงปี ค.ศ. 2050 หลังจากการแก้ไขหลายครั้งในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
การพัฒนาแผน PDP8 เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านกระแสการบริโภคพลังงานไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน โดยกระแสดังกล่าวสร้างความท้าทายให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงเวียดนามเองก็เกี่ยวข้องด้วยในแง่ของการสกัดและการใช้พลังงาน ยิ่งไปกว่านั้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังต้องทำให้มีความจำเป็นสำหรับการทบทวนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพลังงานและไฟฟ้าอีกด้วย
แผน PDP8 มีบทบาทสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ชาติของเวียดนาม และยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงาน โดยเป้าประสงค์สำคัญในการรับประกันการวางโครงสร้างที่ดีในการกระจายแหล่งพลังงานไฟฟ้าตามที่ระบุไว้ในเอกสารกฤษฎีกาที่ 55-NQ/TW ซึ่งแผน PDP8 นี้ประกอบด้วยเป้าหมายสำคัญหลายประการ เช่น การจัดหาพลังงานที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อเติมเต็มยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตสีเขียว และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เวียดนามได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 รวมทั้งการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับชาติ และรับประกันอัตราไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับประชาชน
ในแผนดังกล่าว เวียดนามมุ่งความสำคัญไปที่แหล่งพลังงานหมุนเวียน ประกอบด้วย พลังงานลม แสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล (biomass) เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า สร้างความแข็งแกร่งให้ความมั่นคงของประเทศ และเป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยสามารถกล่าวได้ว่า แผน PDP8 ฉบับนี้ได้ขยายขยายขนาดของแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มีการคาดการณ์ไว้ว่า เวียดนามจะเปลี่ยนผ่านจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินภายหลังปี ค.ศ. 2030 แทนที่ด้วยพลังงานชีวมวล แอมโมเนีย และการพัฒนาพลังงานแก๊สอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงกระบวนการเผาไหม้สมบูรณ์ของไฮโดรเจนและแอมโมเนียในระยะยาว โดยไม่มีการวางแผนถึงแหล่งพลังงาน LNG ใหม่ หลังปี ค.ศ. 2035
แหล่งพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบด้วย ไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล จะมีการเติบโตอย่างมาก โดยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 44 GW ในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งตามแผนแล้ว ความจุทั้งหมดของแหล่งพลังงานหมุนเวียนในโครงสร้างพลังงานถูกวางไว้ที่ประมาณ ร้อยละ 50.3 ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 36 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
เมื่อมองไปถึงปี ค.ศ. 2050 โครงการพลังงานถ่านหินจะไม่ถูกพัฒนาขึ้นอีก กำลังการผลิตของ LNG จะมีแค่ร้อยละ 7 จากสัดส่วนโครงสร้างพลังงานทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มแหล่งพลังงานหมุนเวียนสูงถึงเกือบ 400 GW ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69.8 ของความกำลังการผลิตทั้งหมด
เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างแหล่งพลังงานต่าง ๆ การลดการจ่ายไฟฟ้าระยะไกล และเพิ่มขนาดของพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล แผน PDP8 จึงประกอบไปด้วยตัวเลือกในการรองรับพลังงานไฟฟ้า และแผนการพัฒนาแหล่งที่หลากหลาย รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาในการวางแผนที่ซับซ้อน
การอนุมัติแผน PDP8 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ลดความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน โดยได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นจากนักลงทุนเวียดนามและต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนที่ในสาขาพลังงานหมุนเวียนที่รอคอยการอนุมัติแผนดังกล่าวมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม การนำแผน PDP8 ไปปฏิบัติจริงก็ประสบกับความท้าทายหลายประการ
ประการแรก การดำเนินการตามแผน PDP8 ที่มีหลายเป้าหมาย ทำให้เกิดความท้าทายหลายรูปแบบ กล่าวคือ การวางแผนเพื่อพัฒนาพลังงานเป็นกระบวนการที่มีพลวัตและมีความครอบคลุมในสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม เป้าหมายบางประการในหลายช่วงเวลาอาจจะไม่สอดคล้องกัน เช่นในเรื่องของอัตราไฟฟ้าและการลงทุน
หนึ่งในเป้าหมายหลักของแผน PDP8 คือเพื่อสร้างตลาดไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งนำไปสู่สร้างกลไกที่เน้นตลาดมากขึ้น ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้า และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากที่รัฐเป็นใหญ่ในตลาดเป็นการแข่งขันที่เน้นในการดึงดูดการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และลอัตราไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กระบวนการในการจ่ายไฟฟ้ามีความก้าวหน้า และมีการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้าอยู่บ้าง แต่ความขัดแย้งของผลประโยชน์ก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าปลีกไฟฟ้าอย่างมุ่งมั่นเพื่อสร้างตลาดไฟฟ้าที่แข่งขันได้ในราคาที่เหมาะสม โดยการเปลี่ยนไปสู่ตลาดดังกล่าวต้องอาศัยกรอบทางด้านกฎระเบียบแข็งแกร่งและศักยภาพของสถาบันที่เข้มแข็ง
ประการที่สอง การอนุมัติแผน PDP8 จะต้องอาศัยการปรับทัศนคติ โดยเฉพาะต่อกระบวนการในการนำไปปฏิบัติ โดยอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นต่อการใช้ไฟฟ้า กอปรกับเป้าหมายการผลิตสำหรับปีถัด ๆ ไปนั้นสูงยิ่งกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของกลไกการดำเนินการที่ต้องการความแม่นยำ เฉพาะเจาะจง และมีสิทธิประภาพ โดยวิธีการดำเนินงานแบบเดิม ๆ ที่ใช้มาอย่างยาวนานนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ประการที่สาม การเปลี่ยนผ่านไปยังพลังงานหมุนเวียนเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องอาศัยเงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเวียดนามไม่สามารถดำเนินการตามลำพังได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ กล่าวคือ แผน PDP8 ต้องใช้เงินสูงถึง 134.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการลงทุนเพื่อพัฒนาโรงงานไฟฟ้าใหม่และเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างปี ค.ศ. 2021 และ ค.ศ. 2030 และเม็ดเงินจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 399.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 523.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งตัวเลขการลงทุนเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้กับบริษัทพลังงานให้เข้ามามีการลงทุนในภาคพลังงานที่ขยายตัวในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แผน PDP8 ได้พิจารณาถึงข้อริเริ่ม Just Energy Transition Partnership (JETP) ที่มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนภายในแผนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลง JETP อย่างครบถ้วนมีความสำคัญ เนื่องจากหากไม่ปฏิบัติตามทั้งหมดก็อาจจะส่งผลต่อผลลัพธ์ของแผน PDP8 ได้
ประการที่สี่ ในขณะที่การระดมทุนเป็นหนึ่งในความท้าทาย การจัดสรรและการใช้จ่ายเงินดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก จึงมีความสำคัญมากที่จะสร้างความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสามารถประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยขอความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ด้วย
อนึ่ง แผน PDP8 ถูกจัดทำขึ้นภายใต้บริบทของความท้าทายและความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น วิวัฒนาการเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ โดยเพื่อที่จะก้าวผ่านความซับซ้อนเหล่านี้ เวียดนามจะต้องมั่นใจในการบรรลุเป้าหมายหลากหลายประการที่ไม่สามารถดำเนินการแยกกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่จากระบบการเมืองทั้งหมด การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวและการนำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นไปปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน กลไกการบังคับใช้แผนที่มีประสิทธิภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ตามแผน PDP8 ได้อย่างสำเร็จ
บทความแปลจาก Viet Nam News เรื่อง Implementing Power Development Plan VIII needs mindset change โดย Võ Trí Thành, Senior Economist at the Central Institute for Economic Management (CIEM) https://vietnamnews.vn/economy/1548267/implementing-power-development-plan-viii-needs-mindset-change.html
* * * * *
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
มิถุนายน ๒๕๖๖