หมากของเวียดนามในการเตรียมประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

POST ON 25 กุมภาพันธ์ 2021

หมากของเวียดนามในการเตรียมประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

“ทันโลก” กับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

หมากของเวียดนามในการเตรียมประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

บทความนี้ (บทความที่ ๑ จากทั้งหมด ๓ ตอน เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนาม) สะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลเวียดนามที่เป็นการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ และสอดแทรกการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในสาขาต่าง ๆ ของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ การพัฒนา start-up เพื่อให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การท่องเที่ยว พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แล้วประเทศที่มียุทธศาสตร์ในทิศทางเดียวกัน ควรจะปรับตัวอย่างไร ???

รัฐบาลเวียดนามกำลังให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และ
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายในประเทศให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามได้ออกนโยบายและข้อกำหนดหลายรายการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ข้อมติคณะกรรมการกรมการเมือง ที่ 52 ปี 2563 (52/NQ-TW) ว่าด้วยนโยบาย
การเข้าร่วมอุตสาหกรรม 4.0 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 01 ปี 2563 (01/CT-TTg) ว่าด้วยการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในเวียดนาม นอกจากนี้ ยังได้จัดงานการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระดับชาติหลายครั้ง

เวียดนามตั้งเป้าหมายให้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Top 3 ของอาเซียนในดัชนี Global Innovation Index (GII) และผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของ GDP หนึ่งในนโยบายที่เวียดนามพยายามชู คือ “Make in Vietnam” กล่าวคือ คนเวียดนามต้องเป็นผู้ประดิษฐ์และคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมและผลิตจนเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายในประเทศ ซึ่งต่างจากสินค้า “Made in Vietnam” ที่อาจเป็นการใช้พื้นที่เวียดนามสำหรับใช้ประกอบและผลิตสินค้าเท่านั้น

ในการประชุมระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีแห่งเวียดนาม “National Forum on Developing Vietnam Technology Companies 2020” นาย Nguyen Manh Hung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเวียดนาม กล่าวว่า หากไม่มี “Make in Vietnam” ประเทศจะไม่แข็งแกร่งและรุ่งเรืองได้

หลังจากการปรับใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 01 ปี 2563 เป็นระยะเวลา 1 ปี เวียดนามมีบริษัท
ด้านเทคโนโลยีใหม่ 13,000 ราย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28 ส่งผลให้ทั้งประเทศมีผู้ประกอบการสาขาดังกล่าว
รวม 58,000 ราย ตามสถิติข้างต้นอาจคาดการณ์ได้ว่า เวียดนามอาจบรรลุเป้าหมายการสร้างธุรกิจสาขาดิจิทัล 100,000 ราย ภายในปี 2573 ได้เร็วขึ้นเป็นปี 2568

Start-up ร่วมขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลในเวียดนาม

          จนถึงปี 2562 เวียดนามมีธุรกิจ start-up มากกว่า 3,000 ราย สามารถดึงดูดเงินทุนได้มากถึง
1,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รายงาน e-Conomy SEA ที่จัดทำโดย Google ระบุว่า เวียดนาม
มี start-up ระดับ unicorn 2 ราย ได้แก่ Vinagame (VNG) และ VNPay นอกจากนี้ ที่ประชุม Vietnam Start-up Forum ระบุว่า เวียดนามมีธุรกิจ start-up ที่มีมูลค่าการลงทุน 10 – 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีการเงิน (fintech) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การบริการขนส่ง และบริการอื่น ๆ

          ในปี 2562 รายงาน StartupBlink ประเมินให้เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 59 จาก 100 ประเทศ
ในด้านระบบนิเวศสำหรับธุรกิจ start-up  (start-up  ecosystems) สำหรับการจัดลำดับระดับเมือง
กรุงฮานอยอยู่ในอันดับที่ 196 ขยับขึ้น 33 อันดับ และนครโฮจิมินห์อยู่ในอันดับที่ 225

          เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 Grab Vietnam ได้ประกาศผล start-up  เวียดนาม 5 ราย ที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ “Grab Venture Ignite” เพื่อส่งเสริมเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามที่จะสร้าง start-up  unicorn 10 ราย ภายในปี 2573 ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Grab ดำเนินโครงการดังกล่าว start-up  ที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่

– bePOS แอปพลิเคชั่นสำหรับจัดการการขายสินค้า
– Stringee ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์และส่งข้อความ (คล้าย Skype)
– GoDee บริการขนส่ง
– Papaya ซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการสวัสดิการพนักงานสำหรับภาคธุรกิจ
– Vbee เสียงพูดภาษาเวียดนามสำหรับ AI

Grab Vietnam ระบุว่า start-up ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 5 ราย ถือเป็นตัวอย่างของ start-up  
ที่มีศักยภาพของเวียดนาม ซึ่งสร้างเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้จริงในสาขาที่เวียดนามมีศักยภาพ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีการเงิน เทคนิคการแพทย์ (medtech) และเทคโนโลยีประกันภัย (insurtech)

ข้อมูลจาก Vietnam Venture Summit ระบุว่า มีกองทุน 33 รายการจะลงทุนให้กับธุรกิจ start-up  ด้านนวัตกรรมในเวียดนาม ในช่วงปี 2564 – 2567 คิดเป็นมูลค่ารวม 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ ในปี 2562 ธุรกิจ start-up  เวียดนามดึงดูดการลงทุนได้รวม 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่าครึ่งหนึ่งได้เบิกจ่ายการลงทุนแล้ว

เวียดนามชูการท่องเที่ยวดิจิทัลในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

          การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคบริการหลายสาขาได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสาขา
การท่องเที่ยวซึ่งต้องหยุดชะงักจากนโยบายการปิดพรมแดนและข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างเมือง
สาขาการท่องเที่ยวของเวียดนามก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยคาดว่า มูลค่าความสูญเสียสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 40 – 60 ของแรงงานในสาขาการท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างหรือลดเวลาการจ้าง และ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 76.6

          ผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้สาขาการท่องเที่ยวเวียดนามตระหนักถึงความสำคัญของการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น นาย Nguyen Van Hung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และ
การท่องเที่ยวแห่งเวียดนาม กล่าวว่า การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเสริมสร้าง “smart tourism” และ
เพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยว ปัจุบัน รูปแบบการท่องเที่ยวเสมือนจริง (virtual tourism model)
ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ถูกปรับใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว

          กระทรวงวัฒนธรรรม กีฬา และการท่องเที่ยวแห่งเวียดนาม เสนอว่า สาขาการท่องเที่ยวเวียดนามจำเป็นต้องส่งเสริมการทำแอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งทำให้การท่องเที่ยว
แบบออนไลน์ (online tourism) เป็นช่องทางหลักในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแก่นักท่องเที่ยว
ขยายขอบเขตการท่องเที่ยว สร้างช่องทางการกระจายผลิตภัณฑ์และเชื่อมโยงผู้ให้บริการเพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่า นอกจากนี้ ระบบและฐานข้อมูลทางการท่องเที่ยวจะต้องได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

Go Online สร้างความท้าทายต่อการจัดเก็บภาษีของเวียดนาม

          เศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 25–30 ต่อปี และในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.7 เท่า จากปี 2561 การเติบโตนี้ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามประสบ
ความยากลำบากในการจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าและผู้ให้บริการออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ต่างชาติได้เนื่องจากไม่มีกลไกกฎหมายรองรับ สภาแห่งชาติเวียดนามจึงได้ปรับปรุงกฎหมายการบริหารจัดการภาษีที่ 38/2019/QH14 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โดยกำหนดให้ผู้ค้าต่างชาติ
ต้องจดทะเบียน ยื่นแบบชำระ และชำระภาษีต่อหน่วยงานภาษีของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถาม
หลายประการต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

มูลค่ารายได้และอัตราการเติบโตของ e-commerce ในเวียดนาม

          ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามจะปรับแก้กฤษฎีกา 52/2013/ND-CP ว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (กฎหมาย e-commerce) ซึ่งจะสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ค้าต่างชาติที่ดำเนินการผ่านช่องทาง e-commerce มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในบางประเทศกำหนดให้ผู้ค้าออนไลน์ต่างชาติยื่นชำระภาษีโดยตรงกับหน่วยงานภาษีท้องถิ่น ขณะที่ในบางประเทศกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการค้าสินค้าออนไลน์เป็นผู้ดำเนินการยื่นและชำระภาษีแทนผู้ค้าต่างชาติ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าของข้อมูลดังกล่าว ดังนั้น จึงมีคำถามว่า หากผู้ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้ชำระภาษีเพราะไม่มีข้อมูลแหล่งที่มาของรายได้ที่เพียงพอ จะได้รับการยกเว้นโทษฐานหนีภาษีหรือไม่

          ในส่วนการป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เวียดนามกำลังพิจารณาแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจแบบถาวร (permanent establishment: PE) ในบริบทของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสร้างฐานคงที่ (fixed base) ผ่านธุรกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital transaction) ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าต่างชาติอาจไม่สามารถขอยกเว้นภาษีจากการที่ไม่ได้จัดตั้งธุรกิจถาวรในเวียดนามได้ ซึ่งหากเวียดนามพิจารณาแล้วว่า มีสิทธิ์ทางภาษีจากรายได้ของผู้ค้าต่างชาติ และคำนวณภาษีโดยใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีที่จะเรียกเก็บอาจอยู่ที่ร้อยละ 10 ซึ่งตามรูปแบบการค้าแบบ B2C (Business-to-Customer) อัตราข้างต้นไม่ได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น ไทย ร้อยละ 7 สิงคโปร์ ร้อยละ 7 ไต้หวัน ร้อยละ 5 มาเลเซีย ร้อยละ 6 ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ร้อยละ 10 เป็นต้น

โปรดติดตามบทความตอนที่ ๒  (จากทั้งหมด ๓ ตอน เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล) ของ BIC ที่จะมาแบ่งปันข้อมูลว่า เวียดนามเตรียมภาคเอกชนให้มีความพร้อมอย่างไรเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศและการปรับเปลี่ยนภาคการผลิตให้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก


ที่มา:

1. Sai Gon Times ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563

2. Vietnam Business Forum ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 25 มกราคม 2564

3. Vietnam Economic Times ฉบับเดือนมกราคม 2564

          *   *   *   *   *

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูบทความทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

7

กำลังเข้าชมขณะนี้

283573

เข้าชมทั้งหมด