เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ลงนามในความตกลง Just Energy Transition Partnership (JETP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเวียดนามและ International Partners Group (IPG) ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อิตาลี แคนาดา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และเดนมาร์ก โดยจะมีการระดมเงินทุนจำนวนอย่างน้อย 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนเวียดนามให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)
เวียดนามเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับนักลงทุนไทยในสาขาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน ในโอกาสนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอยขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความตกลง JETP ดังนี้
เงินทุนทั้งหมด 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากไหน?
สมาชิกของ IPG จะระดมทุนจำนวนทั้งหมด 7,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการจัดหาเงินทุนของภาครัฐ ในขณะที่อีก สมาชิกของ Glasgow Financial Alliance for Net Zero Working Group (GFANZ) จะระดมทุนอีก 7,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการจัดหาเงินทุนภาคเอกชน เพื่อใช้สนับสนุนเวียดนามในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยข้อริเริ่มนี้จะขึ้นอยู่กับการรับรองแผนการระดมทรัพยากร JETP (JETP Resource Mobilisations Plan (JETP-RMP)
ซึ่งเวียดนามจะต้องจัดทำและผ่านการรับรองโดย IPG ก่อนการแผยแพร่สู่สาธารณชน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ JETP จะมีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ (JETP Secretariat) ภายในเดือนเมษายน 2566 เพื่อช่วยในการยกร่าง JETP-RMP และให้การสนับสนุนด้านการบริหารและทางเทคนิคแก่เวียดนามตลอดระยะเวลาของความร่วมมือ
เป้าหมายของแผน JETP-RMP ประกอบด้วย
• การพัฒนากรอบกฎหมายการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงข่ายไฟฟ้า
• การเร่งการลดคาร์บอนจาก 240 ตัน เหลือ 170 ตัน จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035)
• การลดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของเวียดนามจาก 37 GW เหลือ 30.2 GW
• การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและไฟฟ้าพลังน้ำจากตามแผนอยู่ที่ร้อยละ 36 เป็นอย่างน้อยร้อยละ 47
• การพัฒนาและการดำเนินโครงการด้านการศึกษา การฝึกอาชีพ และการฝึกทักษะใหม่สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสีเขียว
การยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน – ความท้าทายสำคัญของเวียดนาม
หนึ่งในประเด็นหลักของความร่วมมือ JETP คือ การลดจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในขณะนี้เวียดนามยังไม่มีแผนหรือกฎระเบียบเรื่องการยุติการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยหากเวียดนามยังไม่มีการจัดทำแผนหรือออกกฎระเบียบเพื่อรองรับประเด็นดังกล่าว ก็จะไม่มีกลไกที่เกี่ยวกับการชดเชยนักลงทุนสำหรับการยุติการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่เนิ่น หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรื้อถอนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
นอกจากนี้ แผนพัฒนาไฟฟ้าฉบับที่ 8 หรือที่นักลงทุนรู้จักอย่างแพร่หลายในนาม PDP8 ก็คงจะต้องปรับแก้ไขอีกครั้ง (หลังจากแก้ไขหลายครั้งตั้งแต่ปี 2564) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของแผน JETP-RMP
ข้อควรรู้สำหรับนักลงทุน
• JETP มีเป้าหมายในการเร่งรัดและช่วยเหลือเวียดนามในการบรรลุ Net Zero ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ผ่านการระดมทุนจำนวน 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการจัดทำแผน JETP-RMP ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยภายใต้ความร่วมมือ JETP เวียดนามจะได้รับการสนับสนุนในด้านการพัฒนาด้านกฎระเบียบในเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงข่ายไฟฟ้าและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสีเขียว
• การยุติการใช้พลังงานถ่านหินจะเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญสำหรับ JETP ในบริบทปัจจุบันที่เวียดนามยังมีการพึ่งพาพลังงานถ่านหินอย่างมาก
• ธุรกิจบางประเภทอาจจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนทางการเงินภายใต้ JETP โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาและอบรมทักษะสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก JETP เช่น แรงงานในโรงไฟฟ้าถ่านกิน
• อุปทานต่อการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพลังงานหมุนเวียนอาจจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่ JETP ก็มุ่งให้เงินสนับสนุนโครงการพลังงานสีเขียวเช่นกัน
• นอกจากแผน JETP-RMP แล้ว แผน PDP8 จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการบรรลุความร่วมมือ JETP ในเวียดนาม
• JETP เป็นความตกลงที่ไม่มีข้อผูกมัด โดยจะขึ้นอยู่กับการจัดทำแผน JETP-RMP รวมทั้งแผนปฏัติการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศประเมินว่า เวียดนามจะต้องใช้เงินถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ในการประชุม COP 26 ซึ่ง เงินสนับสนุนจำนวน 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ JETP เป็นส่วนหนึ่งที่จะปูทางให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ในขณะที่เวียดนามจะต้องเร่งจัดทำแผน PDP8 ให้แล้วเสร็จในเร็ววัน เพื่อสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุนด้านพลังงาน
อนึ่ง เวียดนามเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้ข้อตกลง JETP หลังจากที่ JETP ได้ประกาศสนับสนุนแอฟริกาใต้ในช่วงการประชุม COP26 ด้วยมูลค่า 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินโดนีเซีย ในห้วงการประชุม G20 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ด้วยมูลค่าเงินสนับสนุน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัดแปลงจากบทความ $15.5 billion in financing for green energy from Just Energy Transition Partnership / Vietnam Investment Review (VIR) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 https://vir.com.vn/155-billion-in-financing-for-green-energy-from-just-energy-transition-partnership-99573.html
* * * * *
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖